วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

EOD. “ท่านวาง(ระเบิด) เราตามเก็บ(กู้)”


ถ้าเสื้อเกราะกันกระสุนเกิดขึ้นตั้งแต่มนุษย์รู้จักคิดค้นกระสุนดินดำ แล้วการเก็บกู้วัตถุระเบิดล่ะจะมีขึ้นตั้งแต่เมื่อไร? ตอบได้ง่ายๆว่า”ตั้งแต่มนุษย์รู้จักทำระเบิด”นั่นแหละ ด้วยหลักเหตุผลง่ายๆว่าเมื่อมีแรงกิริยาก็ต้องมีแรงปฏิกิริยาตอบโต้ มีคนต้องการทำลายก็ต้องมีคนคิดป้องกัน ถ้าคนเราคิดจะสังหารศัตรูด้วยระเบิดถ่วงเวลา,กับระเบิด,ทุ่นระเบิดกันมาตั้งแต่4-5,000ปี การเก็บกู้วัตถุระเบิดก็น่าจะมีมาพร้อมๆกัน แต่ที่เริ่มจัดตั้งเป็นองคาพยพหนึ่งในกองทัพชัดๆและใช้ชื่อว่า”หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด”(EOD : Explosive Ordnance Disposal) ก็เมื่อสงครามโลกครั้งที่1นี่เอง หลังจากชาติต่างๆในยุโรปเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตสินค้าและบริการขนานใหญ่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และการควบคุมคุณภาพยังหละหลวมโดยเฉพาะกับวัตถุระเบิด
เมื่อการผลิตกระสุนและวัตถุระเบิดต่างๆด้วยเครื่องจักรยังเพิ่งเริ่มต้น จึงยังขาดการควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบอันละเอียดเชื่อถือได้ ทำให้กระสุนปืนใหญ่ของแต่ละฝ่ายที่ยิงใส่กันนั้น”ด้าน”อยู่บ่อยๆ เมื่อกระทบที่หมายแล้วไม่ระเบิดแต่ก็ไม่มีใครรู้ว่ามันจะระเบิดเอาเมื่อไร ทิ้งไว้เฉยๆจะน่าหวาดหวั่นกว่าทำลายเสียโดยมีผู้กำกับดูแล ประมาณว่ากระสุนปืนใหญ่ของเยอรมันน่าจะด้านมากกว่าของอังกฤษ กองทัพบกอังกฤษจึงต้องสละงบประมาณและบุคลากรขึ้นตั้งเป็นหน่วยงานเฉพาะ มีชื่อแต่แรกว่า”หน่วยตรวจสอบวัตถุระเบิด”(Ordnance Examiner) ด้วยหน้าที่หลักคือตรวจสอบและทำลายกระสุนปืนใหญ่ของเยอรมันที่ยิงมาแล้วด้าน ส่วนฝ่ายเยอรมันและพันธมิตรก็มีหน่วยงานทำนองเดียวกันเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน สังกัดเหล่าทหารช่างที่เรียกในภาษาตนว่า”พีโอนีร์”(Pionier)
ครั้นถึงปี1918ฝ่ายเยอรมันได้พัฒนาระเบิดไปไกลอีกขั้นด้วยชนวนหน่วงเวลา ไม่ทันได้ใช้เพราะแพ้สงครามโลกครั้งที่1เสียก่อน แต่ยังพัฒนาต่อจนถึงกลางทศวรรษที่1930 ในโครงการพัฒนาอาวุธลับเพื่อจะก่อสงครามขึ้นอีกในไม่กี่ปีข้างหน้า โครงการนี้นำไปสู่ระเบิดที่จงใจให้ด้านหรือUXB(Unexploded Bomb)จากการพัฒนาโดยแฮร์แบร์ต รูฮ์เล่อะมันน์แห่งบริษัทไรน์เมทัลล์ หนูทดลองระเบิดด้านของเยอรมันรายแรกคือชาวสเปนในสงครามกลางเมืองระหว่างปี1936-1939 ที่ฝ่ายนาซีเยอรมันส่งกองทัพไปหนุนฝ่ายนิยมฟาสซิสต์ของพลเอกฟรานซิสโก ฟรังโก และบอลเชวิกของรัสเซียหนุนฝ่ายตรงข้าม
เป็นการซ้อมรบแบบเอาจริงใช้กระสุนจริงและตายจริงๆ ระหว่างเยอรมันกับรัสเซียก่อนสงครามโลกครั้งที่2โดยชาวสเปนอยู่ตรงกลางถูกใช้ทดลองอาวุธต่างๆเพื่อประเมินผล ด้วยอาวุธหลากหลายทั้งเครื่องบิน รถถัง ยุทธวิธีใหม่ๆรวมทั้งระเบิดทั้งแบบทิ้งจากเครื่องบินและยิงจากปืนใหญ่ แถมด้วยทุ่นระเบิดบกเพื่อสังหารทหารราบและทำลายยานยนต์ คนที่ตายเป็นใบไม้ร่วงไม่ใช่ทหารเยอรมันและรัสเซีย กลับกลายเป็นชาวสเปนทั้งพลเรือนและทหารที่สังเวยชีวิตในสงครามโหดนี้ถึง500,000คน
เยอรมันพบว่าระเบิดด้านแบบจงใจนี้ สร้างความโกลาหลให้ข้าศึกได้ดีกว่าแบบยิงไปแล้วระเบิดเลย เพราะทำให้กองกำลังไม่กล้าเคลื่อนที่ ซ้ำยังต้องแบ่งกำลังพลมาตรวจสอบและทำลายกลายเป็นเครื่องหน่วงเวลาชั้นดีที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกลยุทธ์ฝ่ายตนทั้งรุกและรับ ให้ระเบิดเสียเลยยังง่ายเสียกว่า
พอสงครามโลกครั้งที่2ระเบิดขึ้นในปีที่สงครามกลางเมืองสเปนจบ หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของอังกฤษต้องทำงานหนักเมื่อเยอรมันศัตรูเก่าขนระเบิดไปทิ้งแบบปูพรม เกือบทั่วกรุงลอนดอนและเมืองสำคัญอื่นเช่นโคเวนตรี้ ระเบิดเยอรมันรุ่นนี้ซับซ้อนกว่ารุ่นใช้ในสเปนด้วยอุปกรณ์ต่อต้านการกู้ในตัวระเบิด มีชื่อว่าชนวนแบบZUS40ที่ลุฟต์วัฟเฟ่อะคิดค้นสำเร็จและหอบเอาไปถล่มเกาะอังกฤษช่วงกลางปี1940 ด้วยเจตนาว่าจะให้เครื่องมือนี้ฆ่าเจ้าหน้าที่เก็บกู้กันทีเดียวถ้าระเบิดเกิดด้าน ซึ่งฝ่ายอังกฤษเองก็ต้องเร่งพัฒนาอุปกรณ์และวิธีการเก็บกู้ให้ทัน แต่ทหารอังกฤษแท้ๆเองก็ฉลาดที่ไม่ยอมเก็บกู้ด้วยตัวเอง ให้ทหารของชาติในอาณานิคมคืออินเดียและกูรข่าไปกู้ระเบิด มีทหารอินเดียเข้าไปทำงานเฉพาะด้านเก็บกู้นี้แทบจะเป็นกำลังหลักในอาฟริกาเหนือและอิตาลี และในเมืองหลวงของอังกฤษระหว่างนั้นเยอรมันก็ทิ้งระเบิดลงมาเหมือนห่าฝนชนิดไม่ต้องลืมหูลืมตา จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ปัจจุบันนี้หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของอังกฤษยังต้องเก็บกู้ระเบิดใหญ่น้อยที่ทิ้งจากเครื่องบินเยอรมันอยู่เป็นครั้งคราว ทั้งในกรุงลอนดอนและใกล้เคียง แม้สงครามโลกครั้งที่2จะสงบมา60กว่าปีแล้ว!
หมดยุคระเบิดทิ้งจากเครื่องบินก็มาถึงยุคระเบิดแสวงเครื่อง มันแพร่หลายกว่าเพราะทำง่ายวางง่ายวางที่ไหนก็ได้และใช้ใครไปวางก็ได้ตั้งแต่เด็กวัยประถมไปจนถึงผู้ใหญ่หัวหงอก ความเป็นผู้นำก็ตกอยู่กับอังกฤษแบบจำยอมอีกเมื่อเผชิญกับการวางระเบิดแบบพร่ำเพรื่อของกองกำลังสาธารณรัฐไอริช(ไออาร์เอ IRA Irish Republican Army) ต้องเผชิญกับระเบิดแสวงเครื่องหลากชนิดตั้งแต่ระเบิดยัดท่อเหล็กง่ายๆ ไปจนถึงระเบิดที่รอให้เหยื่อมาจุดชนวนเองโดยไม่ตั้งใจ ระเบิดข้างถนนที่เราเห็นเป็นข่าวในอิรักทุกวันนี้พวกไออาร์เอใช้มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ1970แล้ว เพื่อบีบบังคับให้อังกฤษยอมปล่อยชาติตนเป็นอิสระ
จากแค่หน่วยเฉพาะกิจเล็กๆ กองทัพอังกฤษต้องขยายอัตรากำลังพลมาเป็นระดับกรม(ปัจจุบันคือกรมเก็บกู้วัตถุระเบิดที่11)เพื่อจัดการกับระเบิดวางของไออาร์เอโดยเฉพาะ เมื่อระเบิดแสวงเครื่องถูกวางไม่เลือกเป้าทั้งทหารและพลเรือน กรมพิเศษนี้ทำงานหนักมากทั้งที่อยู่ในยามสงบจนได้รับการเชิดชูเกียรติจากกองทัพบก
ด้วยรูปแบบของสงครามที่เปลี่ยนไป จากสงครามเต็มรูปแบบมาเป็นสงครามเครือข่ายและการก่อการร้าย ระเบิดแสวงเครื่องดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดหวั่นต่อเป้าหมายได้คุ้มค่าที่สุด แม้ไม่มีตัวระเบิดจริงๆแค่โทรขู่ว่าจะวางระเบิดก็อาจทำให้สถานที่ราชการต้องหยุดงาน โรงเรียนหยุดสอน ภาคอุตสาหกรรมหยุดการผลิต แม้จะมีระเบิดจริงแต่ไม่ระเบิดก็สร้างผลทางจิตใจได้เท่าเทียมกัน ยิ่งถ้าระเบิดนั้นเกิดเป็นของจริงและคร่าชีวิตผู้คน,ทำลายสิ่งก่อสร้างได้ ยิ่งเกิดผลร้ายซ้ำซ้อนทั้งชีวิตมนุษย์และทรัพย์สิน
ระเบิดแสวงเครื่องเป็นได้ทั้งเครื่องมือก่อการร้ายประสิทธิภาพสูง เพราะความหลากหลายของรูปแบบที่ทำให้ยากต่อการเก็บกู้ และความง่ายในการซ่อนพรางที่ไม่จำกัดขนาด จะยัดหรือฝังไว้ในซอกมุมไหนของภูมิประเทศก็ได้ จะเอามาพันไว้รอบตัวเพื่อเปลี่ยนเป็นระเบิดพลีชีพก็ได้และเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่เก็บกู้ยากที่สุด เมื่อตัวระเบิดเองสามารถทำงานได้ทั้งด้วยผู้ถือระเบิดและจากการสั่งงานระยะไกล
การกู้ระเบิดแสวงเครื่องจึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังสูงสุด ต้องถูกฝึกมาอย่างดีและต้องมีจิตสำนึกในด้านความปลอดภัยสูง เจ้าหน้าที่ทั้งพลเรือนและทหารในประเทศที่เผชิญภัยคุกคามแบบนี้บ่อยๆเช่นสหรัฐฯ จะได้รับการจัดสรรงบประมาณมาให้พอเพียงทั้งด้านการฝึกและอุปกรณ์ มีพร้อมทั้งหุ่นยนต์เก็บกู้กับระเบิดในกรณีที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเข้าใกล้ และชุดเก็บกู้(bomb suit)เมื่อต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปพิสูจน์ทราบและหยุดการทำงานของระเบิด
ก่อนเกิดสงครามอิรักนั้นอังกฤษเชี่ยวชาญเป็นอันดับ1ด้านการเก็บกู้วัตถุระเบิด จากประสบการณ์ต่อต้านการก่อการร้ายของไออาร์เอที่ช่วงหลังๆใช้ระเบิดแสวงเครื่องเป็นอาวุธหลัก แต่หลังจากเกิดสงครามในอิรักและทหารอเมริกันเผชิญภัยจากระเบิดแสวงเครื่องไม่หยุดหย่อนทุกวัน อเมริกาก็พัฒนาความสามารถของตนขึ้นมาได้เท่าเทียมกัน แต่สหรัฐฯก็ยังส่งทหารมาศึกษารายละเอียดในภาคใต้ของไทยบ่อยๆเมื่อพบว่ารูปแบบการวางระเบิดที่เราพบอยู่นั้นสลับซับซ้อนกว่า ดัดแปลงเอาวัสดุในครัวเรือนมาทำระเบิดได้ร้ายแรงกว่า
เมื่อพูดถึงการวางระเบิดในภาคใต้และอีกหลายๆแห่งที่เคยมีมา จากภาพข่าวที่เห็นในโทรทัศน์และที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องถ่ายเก็บไว้ พบว่าการทำงานด้านเก็บกู้วัตถุระเบิดของเรายังคำนึงถึงความปลอดภัยและขั้นตอนที่ถูกต้องน้อยมาก ที่เคยเป็นข่าวดังชิ้นหนึ่งในภาคใต้เมื่อปีก่อนว่ามีการวางระเบิดมอเตอร์ไซค์แล้วเจ้าหน้าที่ผู้เก็บกู้เสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาลนั้น ที่เห็นคือเจ้าหน้าที่ทั้งสองท่านมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนอันถูกต้อง คือไม่ได้กั้นบริเวณให้ไกลพอและเข้าไปตรวจสอบที่วางระเบิดมากกว่าหนึ่งนาย แรกเริ่มคือเดินรอบมอเตอร์ไซค์ระเบิดถึง3-5คนแล้วเหลือเพียง2คนที่ตรวจสอบซึ่งก็ยังผิด ผิดด้วยจำนวนและวิธีการที่หากไม่แน่ใจควรจะโยนเชือกเกี่ยวแล้วลาก หรือตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบริเวณก่อนแล้วเข้าไปตรวจสอบเพียงคนเดียว เรื่องบอมบ์สูทนั้นไม่ว่ากันถ้าอ้างเหตุผลว่าของแพง แต่ขั้นตอนที่หละหลวมจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตนั้นแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์เท่าที่ควร
แนวคิดแบบหนึ่งที่ฟังแล้วน่าตกใจ สลดใจ คือความคิดว่าจะไปซื้อหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดทำไมตัวละเป็นสิบล้าน ทั้งที่งบประมาณเพื่อผลิตเจ้าหน้าที่เก็บกู้ฯถึงสามคนคนยังใช้ถูกกว่าตั้งเยอะ ถ้าความคิดว่าชีวิตคนถูกกว่าเครื่องจักรแบบนี้ยังมีอยู่ เราก็จะเห็นภาพเจ้าหน้าที่บาดเจ็บแขนขาขาดหรือเสียชีวิตอีกหลายรายในอนาคต รัฐบาลของเราหลายยุคหลายสมัยมาแล้วครับที่ถนัดกับการเอาเงินไปหว่านทิ้งเฉยๆโดยไม่เกิดประโยชน์ แต่กับสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงานเพื่อความร่มเย็นและประโยชน์ของคนไทยส่วนใหญ่กลับละเลย!


1 ความคิดเห็น:

  1. ถูกต้องที่สุดครับเรื่องนี้ควรจะนำเข้าครม.เกี่ยวกับความปลอดภัยของเจ้าหน้ที่ EOD ที่ทำหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้นะครับ

    ตอบลบ