ดังที่เคยกล่าวไปในบทความที่แล้วว่าจะเล่าเรื่องการซ้อมใช้อาวุธด้วยเครื่องบินฝึก/โจมตีเบาL39 เรื่องราวต่อไปก็จะเป็นรายละเอียดจากประสบการณ์ตรงที่ได้พบมา ด้วยความอนุเคราะห์ของกองทัพอากาศให้ผมได้นั่งที่นั่งหลังของเครื่องบินรบรุ่นนี้อีกครั้ง หลังจากเคยได้รับประสบการณ์คล้ายคลึงกันมาแล้วจากเครื่องบินF16เมื่อห้าปีก่อน เพียงแต่ครั้งนี้ไม่ได้บินแค่สองลำเหมือนเมื่อครั้งนั้นแต่เป็นการบินหมู่2หมู่ หมู่ละ4ลำ ขึ้นจากฐานทัพอากาศตาคลีจังหวัดนครสวรรค์ไปเพื่อใช้อาวุธยังสนามฝึกใช้อาวุธที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี แล้วบินกลับด้วยเวลารวมประมาณชั่วโมงกว่าๆ ขอชี้แจงให้ทราบเสียตรงนี้ว่าเป็นการปฏิบัติภารกิจตามปกติของฝูงบิน401ซึ่งผมได้อาศัยไปสังเกตการณ์การปฏิบัติภารกิจเท่านั้น ทางกองทัพอากาศหรือฐานทัพอากาศตาคลีไม่ได้ใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มเติมแต่อย่างใด และเครื่องบินก็เป็นแบบ2ที่นั่งซึ่งว่างอยู่หลายลำ สิ่งที่ผมต้องทำคือนั่งนิ่งๆอย่าโยกคันบังคับเล่นให้เครื่องตกเท่านั้น
ดังวลีคลาสสิกที่ถูกยกมาเอ่ยอ้างกันบ่อยๆคือ"แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ" กองทัพอากาศของเราจึงต้องให้นักบินฝึกบินกันเป็นประจำจนถึงระดับหนึ่งที่สามารถรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในสถานภาพของนักบินพร้อมรบ เนื่องจากเครื่องบินรบแต่ละลำเป็นยุทโธปกรณ์ราคาแพงมหาศาล การจะขึ้นไปควบคุมมันจึงต้องใช้บุคลากรที่ผ่านการกลั่นกรองมาเป็นอย่างดี เริ่มต้นตั้งแต่เลือกเหล่าในโรงเรียนเตรียมทหารจนถึงการเป็นศิษย์การบินในโรงเรียนการบินกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ผู้จะก้าวเข้ามาเป็นนักบินรบจะต้องผ่านการฝึกกับเครื่องบินใบพัดสองที่นั่งเคียงกันคือCT4”ชิกเกน"ก่อนเป็นขั้นประถม สอบผ่านแล้วจึงฝึกต่อด้วยเครื่องบินสองที่นั่งเรียงกันหน้าหลัง PC9 ผ่านจากตรงนี้แล้วจึงถูกส่งแยกย้ายไปตามฝูงบินต่างๆ
ฝึกกับเครื่องบินPC9เสร็จแล้วก็ใช่ว่าจะบินกับF5,F16หรือเครื่องบินแบบอื่นๆได้เลย เพราะPC9เป็นเครื่องบินฝึกใบพัด แต่เครื่องบินโจมตีและขับไล่ของกองทัพอากาศทั้งหมดเป็นเครื่องบินเจ็ตความเร็วสูง นักบินที่ผ่านPC9แล้วจึงต้องฝึกกับเครื่องบินอะไรสักแบบที่ใช้เครืื่องยนต์เจ็ตเพื่อความคุ้นเคย มันต้องมีสองที่นั่งเรียงกันหน้าหลัง แต่ความเร็วต่ำกว่าและประหยัดงบประมาณกว่า ตรงนี้เองที่ต้องมีเครื่องบินอีกแบบไว้รองรับ ประเภทของมันตามแบบสากลคือเครื่องบิน"ไฟเตอร์ ลีด-อิน"(Fighter Lead-in) ซึ่งกองทัพอากาศของเรามีเครื่องบินไฟเตอร์ ลีด-อินใช้ฝึกนักบินก่อนเลื่อนขั้นขึ้นไปบินF16อยู่หนึ่งแบบคือL39”อัลบาทรอส" ผลิตโดยบริษัทแอโรโวโดโชดีแห่งสาธารณรัฐเช็ค ใครที่เคยดูภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์007ตอน"ทูมอร์โรว์ เนฟเวอร์ ดาย"คงจะจำได้ถึงตอนที่เพียร์ซ บรอสแนนขับเครื่องบินเจ็ตหนีพวกค้าอาวุธเถื่อน นั่นแหละคือL39
ประโยชน์ของL39คือมันเป็นเครื่องบินโจมตีเบาที่ขนอาวุธไปได้พอประมาณ มีระบบการทำงานและเครื่องช่วยเดินอากาศง่ายๆไม่ซับซ้อน ใช้โจมตีสนับสนุนการรบภาคพื้นดินในเขตที่มีการต่อต้านเบาบาง ข้าศึกใช้อาวุธขนาดเล็ก แต่ในขณะเดียวกันก็ประหยัดตรงที่ไม่ค่อยซดน้ำมันเหมือนเครื่องบินรบหลักๆอย่างF16 ในขณะที่เหยี่ยวฟอลคอน(F16)ใช้ค่าน้ำมันชั่วโมงละเกือบสองแสน แต่เจ้านกทะเลอัลบาทรอสกลับจ่ายค่าเชื้อเพลิงแค่ชั่วโมงละเจ็ดหมื่นกว่าบาท นอกจากภารกิจโจมตีภาคพื้นดินแล้วL39จึงเหมาะจะใช้ฝึกซึ่งนักบินต้องใช้มันได้บ่อยกว่าเครื่องบินขับไล่หลัก จะใช้โจมตีเบาเป็นเครื่องบินรบจริงๆก็ได้เพราะติดอาวุธได้เหมือนกัน ความเร็วก็ใช้ได้กับตัวเลข300น็อต(555.6ก.ม./ช.ม.)อันเป็นความเร็วปฏิบัติการ
ถึงL39จะเป็นเครื่องบินเจ็ตโจมตีเบาและฝึกจากค่ายยุโรปตะวันออก แต่มันก็ถูกออกแบบมาอย่างค่อนข้างลงตัวด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนกำลังขับสูงแต่ประหยัดน้ำมัน อัลบาทรอสซึ่งเป็นเครื่องบินฝึก/โจมตีเบารุ่นที่2นี้เข้ามาแทนL29”เดลฟิน"(Delfin)รุ่นเก่ากว่า แต่หลังจากรุ่นของมันไปแล้วแอโรโวโดโชดีได้ปรับปรุงให้สูงขึ้นเป็นL59”ซูเปอร์ อัลบาทรอส" ด้วยประสิทธิภาพอันเป็นที่ยอมรับและราคาที่ไม่สูงนักสำหรับเครื่องบินฝึกและโจมตี L39จึงถูกผลิตออกมากว่า2,800ลำ ใช้งานในกองทัพอากาศ30ประเทศทั่วโลกรวมทั้งกองทัพอากาศไทยที่มีL39อยู่สองฝูง อยู่ที่ตาคลี1ฝูงเพื่อเป็นเครื่องบินฝึกขับไล่/โจมตี และที่เชียงใหม่อีก1ฝูงเพื่อใช้ในภารกิจโจมตีภาคพื้นดินอย่างเดียว ประจำการมาตั้งแต่พ.ศ.2537หรือเมื่อ15ปีมานี้เอง หากจะประมาณกันคร่าวๆก็น่าจะเหลือเวลารับใช้ชาติอีก15ปีก่อนปลดประจำการ
อัลบาทรอสในเวลานี้จึงเปรียบเหมือนคนในวัยทำงาน สุขภาพแข็งแรงดีพอใช้เมื่อได้รับประทานอาหารดีๆได้ออกกำลังตามเวลา แต่ในอีก15ปีข้างหน้าถ้ารัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของกำลังทางอากาศ เราอาจต้องตั้งคำถามกันอีกหากเกิดอุบัติเหตุกับนักบิน หากต้องทนใช้เครื่องบินเก่าโดยไม่จัดสรรงบประมาณมาเพื่อหาเครื่องบินใหม่ทดแทนตามอายุ
ความแตกต่างในการบินครั้งนี้ของผม นอกจากจะไม่ใช่การบินด้วยF16แล้วยังเป็นการบินเกาะหมู่8ลำเพื่อสังเกตการณ์การใช้อาวุธ ด้วยวัตถุประสงค์ของกองทัพอากาศคือต้องการให้เป็นตัวแทนภาคประชาชนเข้าสังเกตการณ์การทำงานของนักบิน เข้าใจในประสิทธิภาพของเครื่องบินตามนโยบายการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์การแข่งขันใช้อาวุธหรือที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า"การแข่งขันปฏิบัติการทางอากาศยุทธวิธี" ที่จัดเป็นประจำและเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมในบริเวณที่จัดไว้ให้อย่างปลอดภัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นความพยายามที่แสดงให้เห็นว่ากองทัพยุคปัจจุบันเปิดกว้างต่อประชาชนทั่วไปมากกว่าแต่ก่อน ยิ่งในยุคสารสนเทศที่แม้แต่เด็กประถมก็ใช้กูเกิลเอิร์ธเป็นนี้ ความลับด้านที่ตั้งทางทหารจึงแทบไม่มี หรือถ้ามีก็ไม่นำส่วนนั้นออกเปิดเผย
สำหรับการแข่งขันใช้อาวุธของนักบินประจำปีนี้ มีขึ้นเพื่อให้นักบินได้แข่งขันกันเพื่อทำคะแนนจากการใช้อาวุธอากาศสู่พื้น เพื่อให้นักบินรบจากหน่วยบินต่างๆได้มาแข่งขันกันทำคะแนนหลังจากฝึกในพื้นที่ของตนเองมาแล้ว นอกจากจะเพื่อชิงรางวัลแล้วการแข่งนี้ยังเป็นการยกระดับฝีมือของนักบินที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วย เพราะการบินด้วยเครื่องบินรบเป็นเรื่องยากนักบินจึงภูมิใจที่ได้บังคับมัน และเขาจะภูมิใจยิ่งขึ้นถ้าได้ประกาศศักดาให้เพื่อนร่วมกองทัพ ทั้งรุ่นเดียวกันและพี่น้องได้ทราบว่าตนเองก็มีฝีมือเป็นหนึ่ง ผู้ทำคะแนนได้ไม่ดีนักในปีนี้จะกลับมาล่าเหรียญและคะแนนอีกพร้อมความหวังว่าจะยกชั้นตัวเองให้เท่าหรือสูงกว่าเพื่อนได้ในปีถัดไป รายการแข่งที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่2ถึง20พฤศจิกายนนี้จึงไม่ใช่แค่การแข่งเพื่อทำคะแนนเท่านั้น เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือการเพิ่มขีดความสามารถของนักบินรบโดยใช้ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิเป็นแรงบันดาลใจ เป็นสิ่งท้าทายที่นักบินทุกคนรอคอยให้มาถึงและจะมีเพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้นก่อนทุกคนจะแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่แล้วกลับมาสางบัญชีแค้นกันใหม่ในปีหน้า
ผมถูกกองทัพอากาศเชิญให้เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกใช้อาวุธในวันที่4กันยายนก็จริง แต่ต้องไปค้างคืนในฐานทัพอากาศตาคลีตั้งแต่เย็นวันที่3 เพื่อลองชุดจีสูท,หมวกนักบินและอุปกรณ์คือหน้ากากออกซิเจนให้พอดีจริงๆ จะได้ไม่มีปัญหาระหว่างบิน โดยเฉพาะหมวกบินนั้นสำคัญมากคือต้องพอดีจริงๆไม่หลวมจนน่ารำคาญเมื่อเคลื่อนไหว ไม่คับจนบีบใบหูและศีรษะจนอึดอัด และอาการจะหนักมากขึ้นจนถึงปวดศีรษะและคลื่นไส้เมื่อถูกเครื่องบินเหวี่ยงไปมา นักบินจึงให้ความสำคัญกับหมวกบินมาก
นักบินหลายนายได้หล่อโฟมรองในให้เข้ากับศีรษะตนเองโดยเฉพาะ และใช้หมวกใบเดียวนี้ไปเรื่อยๆไม่เปลี่ยนจนกว่าจะพัง เพราะผมเป็นคนรูปร่างค่อนข้างใหญ่เจ้าหน้าที่จึงต้องเสียเวลาปรับจีสูทอยู่นานกว่าจะพอดี กว่าจะได้หมวกบินที่พอดีเหมือนกันก็ใช้เวลานานเพราะศีรษะก็ใหญ่ตามตัว รวมเวลาปรับชุดจีสูทและลองหมวกบินหมดไปประมาณชั่วโมงครึ่ง หลังจากนั้นจึงใช้เวลาอีกชั่วโมงไปกับการทำความรู้จักเครื่องบินL39
เครื่องบินรบจากค่ายยุโรปตะวันออกเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ผมค่อนข้างจะไม่คุ้น เคยได้เห็นL39ใกล้ๆเมื่อห้าปีที่แล้วที่ตาคลีตอนมาบินกับF16กับอีกครั้งในวันเด็กเมื่อปีก่อนแล้วก็ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับมันเท่าไร จนกระทั่งได้รับเชิญนี่เองถึงได้มานั่งศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆและดูการบินของมันจากยูทูบด็อทคอม สิ่งทีได้เห็นคือL39เป็นเครื่องบินที่ดูเหมือนไม่มีอะไรแต่บินด้วยท่าทางแปลกๆได้มากมายและความคล่องตัวสูง ถ้าจะเปรียบF16เป็นเล็กซัส เจ้าL39ก็น่าจะอยู่ประมาณโซลูนา วีออส
คุณขับมันไปทำงานได้เหมือนกันแต่เล็กกว่าและจุของได้น้อยกว่า กินน้ำมันก็น้อยกว่า เครื่องยนต์เดี่ยวเทอร์โบแฟนของมันส่งเสียงได้หนวกหูพอๆกับF16เพียงแต่ความเร็วยังไม่ถึงหนึงมัค ไม่มีสันดาบท้ายก็จริงแต่ก็เร็วพอแล้วกับการบินเรี่ยยอดไม้หลบเรดาร์แล้วเชิดหัวขึ้นใกล้ๆเป้า ก่อนจะหย่อนระเบิดลงแล้วบินต่ำแบบยุทธวิธี(Tactical)กลับฐาน ถึงความเร็วจะต่ำแต่ถ้านักบินฝึกมามากชั่วโมงพอและรู้จักใช้เทคนิกคการบินหลบเลี่ยง L39ก็ใช้สนับสนุนการรบภาคพื้นดินได้ดีและปลอดภัยพอๆกับเครื่องบินแบบเอนกประสงค์อื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองนักบินกับเครื่องบินแบบนี้จึงต้องออกฝึกใช้อาวุธด้วยเพื่อจะได้มีความสามารถพออวดใครๆได้ว่าตนไม่เป็นรองใครและเอาตัวรอดได้เมื่อรบ
สภาพภายในห้องนักบินของL39โดยทั่วไปดูเรียบง่าย เหมือนกับมีแผงหน้าปัดกับเครื่องวัดต่างๆไว้พอจำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่ระบบจอภาพดิจิตอลสมบูรณ์แบบ(Glass Cockpit)เหมือนF16รุ่นใหม่ล่าสุด นักบินในที่นั่งหน้าใช้อุปกรณ์และระบบช่วยเดินอากาศแบบพื้นๆ มีจอแสดงผลHUD(Head Up Display)ในกระจกใสตั้งอยู่บนสุดของแผงหน้าปัด แสดงค่าต่างๆเช่นระดับสูง,ทิศทาง,ความเร็วและอื่นๆเท่าที่นักบินต้องทราบระหว่างบิน ไม่มีจอโทรทัศน์แสดงภาพสำหรับนักบินที่หนึ่งแต่มีจอภาพเขียว -ดำดึงภาพจากหน้าเครื่องมาให้นักบินที่นั่งหลังเห็น วางตำแหน่งคันบังคับไว้กลางทั้งที่นั่งหน้าและหลังเหมือนเครื่องบินเล็กปกติ คันเร่งอยู่ซ้ายเหมือนกันทั้งหน้าและหลัง นักบินทั้งคู่สามารถบังคับเครื่องบินได้เหมือนกัน แต่ในการบินตามปกติหน้าที่นักบินจะเป็นของคนอยู่หน้าส่่วนครูการบินจะคอยควบคุมในที่นั่งหลัง ฝาครอบห้องนักบินที่เปิดออกข้างขวาแทนที่จะอ้าขึ้นทางด้านหน้า ทำให้ผมนึกถึงเครื่องบินสมัยสงครามโลกครั้งที่2ของเยอรมันแบบเมสเซอร์ชมิดท์ Me109
นักบินและช่างอธิบายให้ผมทราบถึงระบบการทำงานต่างๆเท่าที่จำเป็น คือหน้าปัดวัดแรงจีเป็นเข็มบอกอยู่ด้านซ้ายสุดของแผงระบบ อุปกรณ์เส้นขอบฟ้าจำลองเป็นวงกลมวางอยู่กลางด้านบน ความแปลกแตกต่างจากF16ชัดๆคือนักบินสามารถดึงห่วงนิรภัยสองห่วงตรงใกล้หว่างขาขึ้นได้เลยเมื่อต้องการสละเครื่อง ไม่ต้องเปิดสวิทช์ให้กลไกพร้อมทำงาน(armed)ก่อน อีกประการคือเมื่อสวมจีสูทแล้วนักบินเดินขึ้นเครื่องได้เลย ไม่ต้องมีเครื่องประกอบร่ม(harness)เพราะมันถูกประกอบพร้อมร่มไว้แล้วในเก้าอี้ นักบินหย่อนตัวลงไปแล้วดึงเข็มขัดสี่จุดขึ้นรัดตัว ปรับให้พอดีกับรูปร่างและการเคลื่อนไหวเสร็จเท่านั้นก็พร้อมบินได้ทุกท่า สละเครื่องได้ปลอดภัยพร้อมร่มชูชีพซึ่งจะกางออกหลังจากที่นั่งหลุดจากตัวนักบิน
เพราะเป็นเครื่องบินเล็กที่ราคาถูกมากเมื่อเทียบกับF16ห้องนักบินของ L39จึงพลอยมีที่ว่างจำกัดไปด้วย มันไม่โอ่โถงเหมือนF16 ไม่มีอะไรที่เป็นอวกาศให้ดูมากมายเท่า มีช่องเครื่องปรับอากาศวางอยู่ขวามือเป็นท่อเล็กๆขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง1นิ้วยื่นออกมาให้ปรับได้เล็กน้อย ลมเย็นสบายพอให้นั่งได้แบบตัวแห้งสนิทตลอดชั่วโมงกว่าๆ เก้าอี้นักบินที่บังคับให้หลังตรงนั้นปรับความสูงได้เหมือนรถยนต์ด้วยสวิทช์ทางซ้ายด้านล่างของที่นั่ง จัดได้ว่าเป็นเครื่องบินรบที่นั่งสบายพอสมควรในเวลาจำกัดแค่ชั่วโมงกว่าๆ แต่จะสบายกว่านั้นอีกถ้าคุณเป็นคนตัวเล็กเพราะจะเหลือที่ว่างให้ขยับแข้งขาได้มาก ถึงจะเป็นเครื่องบินเจ็ตแต่L39ก็ทำความเร็วต่ำกว่าF5และF16แรงจีที่เครื่องเหวี่ยงเป็นปกติจึงอยู่ที่5ในขณะที่เครื่องบินตระกูลFทั้งหลายทำได้7-9จี
บทความตอนนี้เป็นการกล่าวอย่างกว้างๆถึงสมรรถนะของเครื่องบินและจุดประสงค์ของการฝึกซ้อม ตอนต่อไปจะเป็นรายละเอียดของปฏิบัติการตั้งแต่ก่อนออกบินจนถึงรูปแบบการปฏิบัติต่างๆ เช่นBasic Box Pattern การจัดหมู่บินทางยุทธวิธี(Tactical Formation)และอื่นๆ ซึ่งกองทัพอากาศบอกว่ายินดีให้เขียนถึงได้เต็มที่ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น