วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

"เรือบรรทุกเครื่องบิน" ป้อมปราการลอยน้ำ


ในโลกปัจจุบันหากจะตั้งคำถามกันว่า"อะไรคือสัญลักษณ์แห่งแสนยานุภาพทางทหารที่ชัดเจนที่สุด" เชื่อว่าคงมีคำตอบได้หลากหลายตั้งแต่เครื่องบินรบไฮ-เทค,จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ไปจนถึงอัตรากำลังของประเทศต่างๆ ที่กล่าวมาอาจจะบอกได้จริงถึงความเข้มแข็งที่คนนอกกองทัพอาจต้องใช้เวลาคิด แต่ที่ชัดจริงๆและสำนึกได้ถึงความเข้มแข็งเบื้องหลังยุทโธปกรณ์ชิ้นนั้นก็คือ"เรือบรรทุกเครื่องบิน" หนึ่งในกำลังทางเรือของชาติมหาอำนาจที่เคลื่อนไหวเมื่อใดก็เป็นข่าวเมื่อนั้น ลำพังหน่วยรบภาคพื้นดินเข้าไปหย่าศึก,รักษาสันติภาพหรือแม้แต่เข้าสู้รบโดยตรงโลกก็ยังไม่หวั่นไหว แต่เมื่อใดที่กองเรือบรรทุกเครื่องบินเต็มอัตราเคลื่อนเข้าไปในน่านน้ำของชาติใดชาติหนึ่ง เมื่อนั้นคือการแสดงให้เห็นว่าสงครามใหญ่พร้อมจะเกิดได้ทุกเมื่อ

คำว่า"เรือบรรทุกเครื่องบิน"หรือ"aircraft carrier”ตรงตัวในภาษาอังกฤษ มีความหมายว่าเป็นเรือรบที่มีภารกิจหลักคือเป็นฐานให้เครื่องบินใช้ปฏิบัติภารกิจกลางทะเล ด้วยจุดมุ่งหมายคือให้กองทัพเรือนำกำลังทางอากาศไปปฏิบัติภารกิจได้ไกลโดยไม่ต้องพึ่งพาการส่งกำลังบำรุงในท้องถิ่นใกล้เคียง

พูดให้ง่ายเข้าก็คือเป็นฐานบินเคลื่อนที่อิสระที่จะขยายระยะบินของเครื่องบินรบเวลาจะทำสงครามใหญ่นั่นเอง เพราะหากจะให้เครื่องบินขึ้นบินจากประเทศแม่ไปยังพื้นที่สู้รบกันโดยตรงแล้วจะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูงกว่า อีกทั้งมีอันตรายต้องเผชิญร้อยแปดระหว่างเดินทาง เรือบรรทุกเครื่องบินปัจจุบันมีต้นกำเนิดมานานเกือบร้อยปีแล้วโดยเริ่มจากบอลลูนยนต์หรือเรือเหาะที่ห้อยเครื่องบินรบปีกสองชั้น(หรือสาม)ไว้แล้วบินเข้าใกล้แนวข้าศึก ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเรือสินค้าดัดแปลงดาดฟ้าเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินในสงครามโลกครั้งที่1 เรือบรรทุกเครื่องบินดาดฟ้าไม้สักในสงครามโลกครั้งที่2 และที่ทันสมัยที่สุดคือเรือบรรทุกเครื่องบินพลังนิวเคลียร์ยุคปัจจุบัน

นับแต่เครื่องบินลำแรกขึ้นบินเมื่อปี1903 สิ่งที่วิศวกรอากาศยานและนักการทหารคิดเท่าที่เทคโนโลยีสมัยนั้นจะอำนวย ก็คือการขยายระยะบินของเครื่องบินรบที่ในช่วงเริ่มแรกยังเป็นแบบเครื่องยนต์เดียวปีกสองชั้น ง่ายที่สุดคือห้อยไปกับบอลลูนหรือเรือเหาะในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่1ต่อมาจึงกลายเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินเครื่องจักรไอน้ำตอนกลางสงคราม หลังจากแก้ปัญหาเรื่องการลงของเครื่องบินบนดาดฟ้าแคบและสั้นได้ด้วยลวดสลิงขวางทางวิ่ง เครื่องดีดส่งด้วยพลังไอน้ำแบบเรือรุ่นปัจจุบันยังไม่จำเป็นเพราะเครื่องบินส่วนใหญ่น้ำหนักเบา สร้างด้วยวัสดุง่ายๆคือไม้และผ้าบุ เพียงแค่หันหัวเรือหากระแสลมพัดเข้าถึงจะจอดกับที่เฉยๆเครื่องบินก็แทบยกตัวขึ้นแล้ว

แต่เรือบรรทุกเครื่องบินก็ยังไม่มีความสำคัญทางยุทธการมากนักในสงครามโลกครั้งนั้น เมื่อเครื่องบินยังไม่สามารถบรรทุกระเบิดอำนาจการทำลายล้างสูงทีละมากๆมาจอดบนดาดฟ้าแล้วบินขึ้นอย่างปลอดภัยได้ ด้วยสงครามที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในแผ่นดินใหญ่ของยุโรปเรือบรรทุกเครื่องบินจึงยังเป็นแค่ยุทโธปกรณ์"ไฮ-โซ"ที่ยังต้องพัฒนาอีกยาวไกล มีแต่เครื่องบินทะเลส่วนใหญ่ที่ประจำเรือรบชนิดนี้ด้วยวัตถุประสงค์คือแค่ตรวจการณ์หรือถ่ายภาพที่ตั้งทางทหาร

เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในช่วงต่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่1และ2 นักยุทธศาสตร์ก็เห็นความสำคัญของมันมากขึ้น เครื่องบินมีเครื่องยนต์แรงขึ้นประกอบกับโครงสร้างของมันแข็งแกร่งพอจะรับน้ำหนักได้มาก มีเครื่องบินรบหลายแบบที่หุ้มเกราะห้องนักบิน มีเครื่องบินดำดิ่งทิ้งระเบิดเด่นๆเกิดขึ้นทั้งฝ่ายเยอรมันและอเมริกัน เยอรมันมีJU87”ชตูก้า"ที่จดจำรูปแบบมาจากเคอร์ติสSB2C”เฮลไดฟ์เวอร์"ของอเมริกัน แต่เรือบรรทุกเครื่องบิน"กราฟ เซ็ปเปลิน"ของเยอรมันกลับไปไม่ถึงไหน ในขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินฝ่ายอเมริกันถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากภัยคุกคามที่เล็งเห็นว่าอาจจะพบได้จากญี่ปุ่นที่กำลังต้องการวัตถุดิบมาพัฒนาอุตสาหกรรมของตนที่กำลังขยายตัว จนต้องรุกล้ำเข้ายึดดินแดนบางส่วนของจีน การมีเขตอิทธิพลส่วนใหญ่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกของสหรัฐฯและพันธมิตร ตั้งแต่ฟิลิปปินส์ลงมาถึงนิวกินีและอินโดนิเซียและอินโดจีนทั้งหมด ทำให้สหรัฐฯคือชาติแรกๆที่ก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับญี่ปุ่นด้านการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบิน

การขยายอำนาจด้วยกองทัพเรือคือเครื่องบ่งบอกชัดเจนถึงเมฆหมอกแห่งสงคราม โดยเฉพาะในด้านเรือบรรทุกเครื่องบินที่เหมือนจะเกทับกันระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น เมื่ออเมริกาสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินได้ยาวกว่า ญี่ปุ่นก็แก้ทางด้วยการสร้างให้ใหญ่กว่า เทคโนโลยีของญี่ปุ่นก้าวล้ำในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่2ด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นดีมากมาย เช่นเรือโชกากุ,ซุยกากุ,โซริว,ฮิริวฯลฯควบคู่่ไปกับเรือประจันบานระวางขับน้ำพอฟัดพอเหวี่ยงกับฝ่ายอเมริกันคือเรือยามาโตะและมุซาชิ ในขณะที่ฝ่ายอเมริกันก็มีเรือเด่นๆอย่างเรือเอนเทอร์ไพรซ์,ฮอร์เน็ต ไม่เพียงแต่ต้องออกแบบเรือให้บรรทุกเครื่องบินได้มาก ตัวเครื่องบินเองก็ต้องถูกออกแบบใหม่หมด มันต้องมีฐานล้อกว้างเพื่อให้คงสมดุลได้ขณะร่อนลงยามเรือโคลง ปีกและหางต้องพับได้เพื่อให้เก็บได้มากขึ้นด้วยในเนื้อที่จำกัด ทั้งบนและใต้ดาดฟ้าเรือ

เรือบรรทุกเครื่องบินเป็นปัจจัยเชิงรุกอันสำคัญยิ่งของทั้งสองฝ่ายช่วงเปิดสงครามโลกครั้งที่2ด้านแปซิฟิก ญี่ปุ่นจะก่อสงครามกับสหรัฐฯไม่ได้หากไม่มีกองเรือขนเครื่องบินขับไล่และทิ้งระเบิดไปถล่มฐานทัพเรือที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ โฉมหน้าของสงครามจะเปลี่ยนไปถ้ากองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯจอดอยู่ที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ไม่ได้ออกไปซ้อมรบกลางทะเลเมื่อวันอาทิตย์ที่7 ธันวาคม 1941ขณะฝูงเครื่องบินซีโรและเครื่องบินตอร์ปิโดของญี่ปุ่นดาหน้ากันเข้าถล่มเรือรบน้อยใหญ่ที่จอดทอดสมอในวันหยุด แม้จอมพลเรืออิโซโรกึ ยามาโมโตะจะเคยกล่าวเตือนแล้วว่าการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ไม่ต่างจากการปลุกยักษ์หลับ และญี่ปุ่นไม่มีทางชนะสงครามครั้งนี้ แต่การมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่เข้มแข็งก็คือตัวการสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจทำสงครามได้ง่ายขึ้น

สงครามด้านแปซิฟิกถึงจุดพลิกผันอีกครั้งที่หมู่เกาะมิดเวย์ระหว่าง4ถึง7มิถุนายน1942ภายหลังจากการถล่มแหลกของญี่ปุ่นที่เพิร์ลฮาร์เบอร์แค่ครึ่งปี เมื่อฝ่ายสหรัฐฯถอดรหัสการสื่อสารของกองเรือญี่ปุ่นได้แล้วส่งเครื่องบินขึ้นถูกที่ถูกเวลา ทั้งโชคดีและวางแผนถูกต้องประกอบกันที่ทำให้สหรัฐฯสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นได้เกือบหมดในศึกคร้ั้งนี้ เรือคางะถูกทิ้งระเบิดเป็นลำแรกตามด้วยเคืออาคากิในไม่กี่นาทีหลังจากนั้นด้วยเครื่องบินจากเรือเอนเทอร์ไพรซ์ เครื่องบินจากเรือยอร์คทาวน์ไล่ถล่มเรือโซริวกับฮิริวพร้อมกันขณะเครื่องบินบนดาดฟ้าหมดทางสู้ เพราะฝ่ายอเมริกันกะเวลาได้พอดีตอนญี่ปุ่นกำลังเติมน้ำมันและกระสุน น้ำมันและระเบิดเต็มดาดฟ้าคือตัวช่วยเร่งปฏิกิริยาให้ระเบิดรุนแรงขึ้้น เพียงในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้นที่เรือบรรทุกเครื่องบินชั้นดีของญี่ปุ่นมีสภาพเหมือนเป็ดง่อย เป็นกองไฟลอยน้ำหมดสภาพต้องถอนตัวจากยุทธนาวีแบบไม่เหลือศักดิ์ศรี หลังเสียเรือบรรทุกเครื่องบินสำคัญไปทีเดียวพร้อมกันญี่ปุ่นก็ตกเป็นฝ่ายรับตลอดจนสิ้นสงคราม

หลังสงครามโลกครั้งที่2ต้นมาหลายชาติได้ให้ความสำคัญกับเรือบรรทุกอากาศยานมากขึ้น สหรัฐฯคือผู้นำด้านเรือบรรทุกเครื่องบิน มีเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์หลายลำโดยแต่ละลำตั้งชื่อตามอดีตประธานาธิบดี มหาอำนาจยุโรปอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสถึงจะไม่มีกองเรือใหญ่เท่าสหรัฐแต่ก็ไม่เคยขาดเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยเฉพาะอังกฤษนั้นเคยส่งเครื่องบินจากเรือไปจมเรือประจันบานเจเนอรัล เบลกราโนของอาร์เจนตินามาแล้วในศึกฟอล์คแลนด์ อินเดียเองก็มีเรือบรรทุกเครื่องบินเช่นกันในชั้น"วิกรานต์" ไม่นับรัสเซียและจีนซึ่งปัจจุบันกำลังซุ่มพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินของตนให้ทันสมัย

รองลงมาจากเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือรบลำเล็กกว่าแต่ใหญ่พอจะบรรทุกอากาศยานได้ก็ถูกสร้างท้ายเรือให้เป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์เพื่อผลทางการเพิ่มระยะปฏิบัติการและเพื่อกู้ภัย ในยุคสงครามเย็นสหรัฐฯและฝ่ายโซเวียตต่างเร่งพัฒนาทั้งอากาศยานและเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่ต้องใหญ่แล่นได้ไกลและบรรทุกเครื่องบินได้มาก ต่างจากอังกฤษที่ฉีกไปอีกแนวหนึ่งด้วยการพัฒนาเครื่องบินโจมตีเจ็ตขึ้น/ลงแนวดิ่ง"แฮริเออร์" ไว้ประจำเรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่ต้องใหญ่แต่แล่นได้ไกลและปฏิบัติภารกิจได้ทุกกาลอากาศ

เครื่องดีดส่งพลังไอน้ำคืออุปกรณ์เพื่อยิงเครื่องบินขึ้นจากเรือในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่2 เมื่อเครื่องบินขับไล่เจ็ตมีน้ำหนักมากกว่าเครื่องบินใบพัดและบรรทุกทั้งจรวดและระเบิดได้มากกว่า ที่ตามปกติต้องใช้ทางวิ่งขึ้นและร่อนลงยาวเป็นกิโลเมตรแต่กลับถูกจำกัดให้เหลือแค่ไม่กี่ร้อยเมตรบนดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบิน วิศวกรจึงต้องแก้ปัญหาทางวิ่งขึ้นสั้นด้วยการยิงแทนที่จะพึ่งพากำลังเครื่องยนต์เจ็ตล้วนๆ แต่ยังใช้สายเคเบิลขึงดักห่วงเกี่ยวท้ายเครื่องบินเหมือนเดิม เพียงแต่ให้แข็งแรงขึ้นและวางระบบให้รัดกุมเพื่อรองรับน้ำหนักเครื่องบินมหาศาล เครื่องดีดส่งนี้แรงมากขนาดวัดแรงเหวี่ยงได้8-9จีขณะดีดเครื่องบินอย่างF/A18เร่งเครืื่องเต็มตัวพร้อมอาวุธเต็มใต้ปีกขึ้นจากดาดฟ้า

ลำพังเรือบรรทุกเครื่องบินเพียงแบบเดียวคงไม่สามารถออกปฏิบัติภารกิจได้ เความสำคัญของมันทำให้เป็นที่หมายตาของข้าศึกที่คอยประเคนใส่ทั้งตอร์ปิโดและขีปนาวุธ ต้องมีกองเรือคุ้มกันประกอบด้วยเรือปืนประเภทต่างๆและเรือส่งกำลังบำรุง,สนับสนุนการรบรวมถึงเชื้อเพลิงจัดเป็นกองเรือขนาดใหญ่ ปราการด่านสุดท้ายของเรือบรรทุกเครื่องบินก็คือระบบอาวุธป้องกันตัวเองและเครื่องบินประจำเรือนั่นเอง เมื่อครั้งสงครามเย็นยังระอุเมื่อสี่สิบปีก่อน ตัวอย่างชัดๆของเครื่องบินป้องกันกองเรือคือF4”แฟนธอม"ของสหรัฐที่รุ่นแรกๆของมันถูกวางภารกิจไว้ชัดเจน ว่าต้องไล่ยิงหมู่เครื่องบินทิ้งระเบิดของโซเวียตด้วยจรวดอากาศสู่อากาศ แฟนธอมจึงไม่มีปืนใหญ่อากาศ จนกระทั่งมารุ่นหลังๆที่ถูกใช้เป็นหลักในสงครามเวียตนามมันจึงมีปืนให้ป้องกันตัวระยะประชิดได้บ้าง ตามมาด้วยF14”ทอมแคต"ที่รับหน้าที่เดียวกันแต่ด้วยประสิทธิภาพสูงกว่า ทั้งด้านการรับภาระน้ำหนักและความฉลาดในการวิเคราะห์/เลือกเป้าให้นักบิน

ปัจจุบันแม้เมื่อสงครามเย็นจะหมดไปแล้ว แต่กองเรือบรรทุกเครื่องบินก็ยังต้องคงไว้โดยเฉพาะสำหรับประเทศมหาอำนาจที่มีพลประโยชน์มหาศาลให้ปกป้อง โดยไม่จำกัดว่ามันจะอยู่ในทะเลหรือในแผ่นดินใหญ่ที่เรือบรรทุกเครื่องบินเข้าไม่ถึง

เพราะเรือรบชนิดนี้ต้องสนับสนุนเครื่องบินจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ประจำเรือก็ต้องมากตาม ด้วยเครื่องบินแบบต่างๆที่ประจำการบนเรือประมาณ80-100 เครื่อง ระบบอีเลคทรอนิคส์สุดไฮ-เทคช่วยรบอีกเป็นพันๆระบบรวมทั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ต้องการคนดูแลใกล้ชิด ทำให้มันมีสภาพไม่ต่างจากเมืองลอยน้ำ ด้วยลูกเรือจำนวน4,000-5,000นายชายและหญิงพร้อมยุทโธปกรณ์เต็มอัตรา เรือบรรทุกเครื่องบินจึงใช้งบประมาณเพื่อคงสภาพพร้อมรบอย่างมหาศาล ไหนจะงบประมาณของกองเรือที่ห้อมล้อมมันอยู่อีก ยุทโธปกรณ์ชนิดนี้จึงเป็นของสำหรับประเทศร่ำรวยจริงๆ มีเงินมากพอและเหลือเฟือที่จะดูแลมันให้คงสภาพ"อาวุธเชิงรุก"ได้ตลอดอายุการใช้งาน

ถึงเรือบรรทุกเครื่องบินจะเป็นเครื่องบ่งบอกถึงศักยภาพทางสงครามของมหาอำนาจ เป็นอาวุธในเชิงรุกรานหรือเป็นมาตรวัดบ่งบอกถึงความ"กร่าง"ของชาติเจ้าของ แต่ก็ใช่ว่าจะใช้เพื่อการนั้นเพียงจุดประสงค์เดียว ใช้เพื่อเป็นฐานสนับสนุนการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติก็ได้ในยามสงบ ดังเช่นที่กองทัพเรือของเราได้ใช้เรือหลวงจักรีนฤเบศร์อย่างคุ้มค่าในการบรรเทาภัยเมื่อครั้งคลื่นสึนามิถล่มภาคใต้ ถึงจะไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานด้านนี้ แต่เมื่อรู้จักดัดแปลงมาใช้ประโยชน์ได้ก็ไม่ถือว่าเสียงบประมาณเกินจำเป็น ในเมื่อห้องหับและอุปกรณ์ต่างๆของเรือสามารถใช้เพื่อช่วยชาติได้จริงในยามคับขัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น