วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Eject! eject!




เมื่อนักบินรบบังคับเครื่องบินคู่ชีพของตนไม่ได้ และการเสียการควบคุมนั้นอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทางเลือกมีอย่างเดียวเท่านั้นคือต้องสละเครื่องด้วยเก้าอี้ดีดตัว(Ejection seat)หรือ”เก้าอี้เพื่อสุขภาพ”ที่กล่าวถึงความเป็นมาไว้ในฉบับที่แล้ว โดยระบบการทำงานของมันตามมาตรฐานถูกแบ่งเป็นสองขั้นตอน เริ่มด้วยฝาครอบห้องนักบินเปิดหรือหลุดลอยออกไป ตามด้วยเก้าอี้และนักบินพุ่งตามไปพร้อมกัน ยุคเริ่มแรกนักบินต้องทำเองทั้งหมดตั้งแต่กดปุ่มให้ฝาครอบหลุดตามด้วยดึงห่วงเริ่มกระบวนการทำงานให้เก้าอี้พุ่งตาม
แต่ปัจจุบันนี้เก้าอี้ดีดตัวรวบสองขั้นตอนมาไว้เป็นหนึ่งเดียว เช่นแบบACESII(Advanced Concept Ejection Seat)ที่ใช้ในเอฟ16 นักบินเพียงแต่เอื้อมมือไปดึงห่วงที่หว่างขาฝาครอบก็จะดีดตัวก่อนแล้วเก้าอี้ยิงตัวตามด้วยเครื่องยนต์จรวด กระบวนการที่เหลือเก้าอี้จะทำให้หมด แต่ห่วงดังกล่าวก็ใช่ว่าจะดึงได้ง่ายๆเพราะต้องใช้แรงข้อหนักเอาเรื่อง เผลอเอามือไปโดนห่วงแล้วเด้งหลุดเองยิ่งไม่มีทาง
เอซเซสทูว์คือเก้าอี้ดีดตัวของมาร์ติน เบเคอร์ ที่ใช้ในเครื่องบินรบหลักๆของสหรัฐฯและค่ายตะวันตก รวมทั้งยาส39(JAS 39Gripen) เริ่มขั้นตอนเมื่อนักบินนั่งในค็อกพิตด้วยการเปิดสวิทช์(armed)ให้พร้อมใช้ตอนขึ้นเครื่อง ถ้าสวิทช์นี้ไม่ถูกเปิดถึงจะดึงห่วงยางให้ขาดคามือเก้าอี้ก็ยังเฉย เครื่องบินสองที่นั่งเรียงกันสามารถกำหนดได้ว่าจะให้ใครดีดก่อน ตามปกตินักบินนั่งหลังจะดีดก่อนเพื่อไม่ให้ถูกความร้อนจากเครื่องยนต์จรวดในเก้าอี้ตัวหน้าย่างสด แล้วตามด้วยนักบินนั่งหน้า ถ้าเป็นสองที่นั่งเคียงกันโอกาสรอดของนักบินคนหนึ่งจะน้อยกว่าอีกคน ตามสถิติของกองทัพอากาศสหรัฐฯที่เก็บมาตลอดตั้งแต่เริ่มใช้เก้าอี้ดีดตัวกับเจ็ตขับไล่
เอฟ16มีห่วงยางอันเดียวตรงหว่างขา เพราะค็อกพิตแคบมากเกินกว่าจะวางมันไว้ด้านข้างได้ ทางออกจากเครื่องมีทางเดียวคือให้ฝาครอบดีดตัวออกไปก่อนตามด้วยตัวนักบินพร้อมเก้าอี้ ระบบทำลายฝาครอบให้แตกกระจายก่อนดีดตัวไม่มีเพราะฝาถูกสร้างจากวัสดุคอมโพสิตที่หนาและเหนียว ไม่แตกจากการกระแทกด้วยพนักเก้าอี้ แต่ระบบทำลายฝาครอบให้สลายตัวก่อนนักบินดีดก็มีในเครื่องบินอีกหลายแบบ เช่นแฮริเออร์และฮอว์คของอังกฤษที่ฝังสายระเบิดไว้บนฝาครอบ เครื่องบินดังกล่าวจึงมีเส้นระเบิดเป็นสีขาวหยักๆพาดบนฝาครอบให้เห็น ด้วยวัตถุประสงค์อย่างเดียวคือเพื่อให้มันระเบิดออกก่อนนักบินดีดตัวหนีตาย
เมื่อนักบินหลุดจากเครื่องออกมาแล้วก็ใช่ว่าเก้าอี้จะยุติบทบาทไว้เพียงเท่านั้น แบบอัตโนมัติจะยังไม่เปิดร่มให้ถ้าดีดตัวที่ความสูงมากๆอากาศเบาบางจนนักบินหายใจไม่ออก ไจโรของเก้าอี้จะบังคับให้มันร่วงหล่นลงมาตรงๆ และเร็วจนถึงระดับที่อากาศพอหายใจเสียก่อนจึงจะเปิดร่มแล้วดีดตัวจากนักบิน ให้เขาลงสู่พื้นได้ด้วยร่มชูชีพเหมือนการโดดร่มธรรมดา บางรุ่นเช่นเอซเซสทูว์ของเอฟ16จะมีขวดอากาศสำรองติดไว้ด้านข้างให้นักบินใช้หายใจได้ก่อนเปิดร่ม
ถึงการดีดตัวขึ้นข้างบนจะเป็นวิธีการมาตรฐานแต่ก็ใช่ว่าเครื่องบินทุกเครื่องจะใช้วิธีนี้ได้ เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์แบบบี52ใช้ระบบดีดตัวลงล่างเฉพาะนักบินและนักบินผู้ช่วย ท้องเครื่องบินจะระเบิดหลุดออกเป็นช่องให้ทั้งคนและเก้าอี้หล่นลงก่อนจะแยกกันที่ความสูงปลอดภัย ที่เหลืออีกสี่ที่นั่งในหน้าที่อื่นๆจะยิงตัวเองขึ้นข้างบนทั้งหมดด้วยเครื่องยนต์จรวดเหมือนวิธีการปกติ เครื่องบินขับไล่เอฟ111ออกแบบให้ค็อกพิตเป็นแค็ปซูลที่ดีดออกได้ทั้งค็อกพิต มีร่มชูชีพหลายอันพยุงตัวลงพื้นเหมือนแคปซูลยานอวกาศอพอลโล เจ็ตขับไล่รุ่นแรกๆเช่นเอฟ104ถูกออกแบบให้นักบินมีเดือยติดขาเพื่อเกี่ยวห่วงให้ดึงขาแนบเก้าอี้ แก้ปัญหาขาป่ายเปะปะเมื่อปะทะแรงลมอันจะทำให้บาดเจ็บได้ในการดีดตัวที่ความเร็วสูง
นอกจากการเด้งของฝาครอบและการระเบิดออกก่อนดีด เครื่องบินบางแบบที่ฝาครอบไม่หนาพอและทุบให้แตกได้ ก็มีอุปกรณ์กระแทกติดปลายพนักเช่นเครื่องบินโจมตีเอ10”ธันเดอร์โบลต์2”ของสหรัฐฯ มีตัวกระแทกฝาครอบเป็นโลหะแข็งและคมพอ ติดไว้ให้พุ่งกระแทกฝาแตกก่อนนักบินจะหลุดจากเครื่องในกรณีที่ขัดข้องดีดฝาครอบไม่ทันหรือไม่ยอมดีดตัว หากเกิดเหตุฉุกเฉินให้ต้องสละเครื่องขณะจอดนักบินก็ใช้ค้อนฉุกเฉินในห้องนักบินทุบฝาให้แตกได้เช่นกัน
เก้าอี้ดีดตัวยุคปัจจุบันนี้ถูกออกแบบด้วยสุดยอดเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักบิน มันถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์และช่วยนักบินได้แม้เครื่องจะจอดบนพื้น เก้าอี้ดีดตัวระบบ”Zero-Zero”(ความสูงและความเร็วของเครื่องบินเป็นศูนย์)ถูกออกแบบให้ช่วยชีวิตนักบินได้ทั้งจากความเร็วและความสูงต่ำๆ รวมทั้งที่เครื่องบินจอดอยู่กับพื้นแต่มีเหตุให้นักบินต้องสละเครื่อง เทคโนโลยีซีโร-ซีโรคือการใช้แรงระเบิดขนาดเล็กเพื่อดึงร่มออกอย่างรวดเร็ว ตามหลังการยิงตัวเองพ้นเครื่องบินด้วยเครื่องยนต์จรวดใต้เก้าอี้ ฝาครอบระเบิดหลุดออกเองหรือใช้พนักเก้าอี้กระแทก ไม่ต้องใช้ความเร็วลมขณะบินมาเป่าให้หลุด
เมื่อเก้าอี้ดีดตัวช่วยชีวิตนักบินได้ในเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิด มันย่อมช่วยชีวิตนักบินรบในอากาศยานอื่นได้เหมือนกัน เฮลิคอปเตอร์โจมตีคามอฟ คา-50ของรัสเซียคือเครื่องบินปีกหมุนแบบแรกที่ใช้เก้าอี้ดีดตัว การทำงานของมันไม่ผิดเพี้ยนกับของเครื่องบินขับไล่ แต่แก้ปัญหาใบพัดหลักฟันคอนักบินขาดด้วยน็อตระเบิดตัวเอง สลัดใบพัดทุกกลีบให้หลุดด้วยแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ก่อนนักบินจะดีดตัวออกอย่างปลอดภัย
ยานฝึกเพื่อลงดวงจันทร์ของนาซาก็ใช้ระบบเก้าอี้ดีดตัวเช่นกัน เครื่องยนต์เจ็ตของยานจะดันตัวยานให้ลอยพ้นพื้นจำลองสภาพการลอยตัวของยานลงดวงจันทร์ แต่เมื่อพลาดนักบินอวกาศฝึกหัดก็สามารถเอาตัวรอดได้ นีล อาร์มสตรองใช้เก้าอี้ดีดตัวของยานนี้เป็นคนแรกเมื่อ6พฤษภาคม 1968 ถ้าไม่ได้ระบบช่วยชีวิตนี้ก้าวสั้นๆอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติจะถูกกระทำโดยผู้อื่นแทนที่จะเป็นเขา
โครงการยานขนส่งอวกาศ”บูราน”ของโซเวียต(สมัยนั้น) ที่เริ่มต้นในเวลาใกล้เคียงกับโครงการเดียวกันของสหรัฐฯ(ยานขนส่งอวกาศแชลเลนเจอร์,แอตแลนติสและดิสคัฟเวอรี่) ก็ใช้เก้าอี้ระบบดีดตัวที่ตนพัฒนาขึ้นเองคือK-36RB(K-36M-11F35) โลกไม่มีโอกาสเห็นมันทำงานเพราะโครงการ”บูราน”ของโซเวียตล้มเหลว ระบบดีดตัวจึงไม่ถูกติดตั้ง โซเวียตได้ใช้ระบบดีดตัวเมื่อดำเนินโครงการวอสต็อค ที่นักบินอวกาศต้องดีดตัวออกจากแคปซูลแล้วใช้ร่มที่ความสูง 23,000ฟุต ความจริงข้อนี้ถูกโซเวียตเก็บงำไว้หลายปีจนจำต้องทำตามระเบียบสากลของสมาพันธ์การบินนานาชาติ”FAI”( Fédération Aéronautique Internationale เฟเดเรซิญ็อง แอโรนอตีค แอ็งเตร์นาซิญ็องนาล)ที่กำหนดไว้ว่าจะบันทึกสถิติใดๆได้ ก็ต่อเมื่อนักบินอวกาศลงพื้นพร้อมยานเท่านั้น
โครงการยานขนส่งอวกาศของสหรัฐฯใช้ระบบดีดตัวนักบินทั้งหมด แม้แต่ยานแชลเลนเจอร์ที่ระเบิดกลางอากาศระบบนี้ทำงานก็จริงแต่นักบินก็ยังเสียชีวิต เครื่องบินผาดแผลงเครื่องยนต์เดียวซู-31เอ็มของรัสเซียคือเครื่องบินพลเรือนเพื่อกีฬาแบบเดียวที่ติดเก้าอี้ดีดตัวสเวซดา เอสเคเอส-94สำเร็จจากโรงงาน เทคโนโลยีที่พัฒนาให้ควบคุมอุปกรณ์นิรภัยได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดระบบเอาตัวรอดอื่นด้วยนอกจากเก้าอี้ดีดตัว เครื่องบินพลเรือนน้ำหนักเบาและเพื่อกีฬาการบิน(อัลตราไลต์)ใช้เครื่องยนต์เดียวความเร็วต่ำ เช่นเซอร์รัส เอสอาร์-22ถูกติดตั้งสำเร็จจากโรงงานด้วยร่มชูชีพที่จะพยุงเครื่องบินทั้งลำสู่พื้นเมื่อขัดข้องหรือเกิดอุบัติเหตุ ปลอดภัยทั้งนักบินและเครื่องบิน โดยนักบินยังอยู่ในเครื่องและตัวเครื่องเองก็ไม่ตกกระแทกพื้น
เก้าอี้ดีดตัวสำหรับเครื่องบินรบมุ่งเน้นที่การรอดตายของนักบิน แต่ไม่รับประกันว่าต้องรอดแบบครบสามสิบสอง มีเปอร์เซ็นต์สูงที่เขาถูกดีดออกมาแล้วจะบาดเจ็บจากปัจจัยหลายๆอย่าง รวมทั้งดีดออกแล้วร่มไม่กางซึ่งต้องดูกันเป็นกรณีๆไป เช่นใช้งานมานานแต่เก่าเก็บขาดการตรวจสอบ หรือนักบินใช้เก้าอี้ผิดวิธีจนมันไม่ทำงานได้ตามสเป็คที่ออกแบบมา การดีดตัวที่ความเร็วใกล้หรือเกิน1มัคก็มีสิทธิ์ทำให้กระดูกหักทั้งตัวจากแรงลมตีแขนขาให้พับ มีโอกาสเสียชีวิตมากเช่นกันเมื่อลงพื้นแล้วไม่ได้รับความช่วยเหลือทัน
เก้าอี้ดีดตัวจึงเป็นนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของอากาศยานแท้ๆ เพราะต้องใช้ระยะมากทั้งความกว้างและความสูงเพื่อให้ดีดออกและลอยลงมาอย่างปลอดภัย มันไม่เหมาะกับสำหรับรถยนต์หรือยานพาหนะอื่น มีที่ใกล้เคียงบ้างก็คือเรือยนต์แข่งความเร็วสูง ที่สร้างค็อกพิตเลียนแบบแต่ให้หลุดออกทั้งยวงแทนที่จะยิงตัวเองเหมือนของเครื่องบิน แต่กับรถยนต์แล้วเก้าอี้แบบนี้คงทำให้ดีดทิ้งได้อย่างเดียวแบบไม่ต้องมีร่มเวลาคนนั่งข้างๆทำตัวน่ารำคาญ ในความเป็นจริงแล้วไม่มี จะมีก็ในภาพยนตร์เท่านั้นที่สายลับอังกฤษรหัส007ใช้ดีดผู้ร้ายพ้นรถตัวเองบ่อยๆ!

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ18 กรกฎาคม 2557 เวลา 03:01

    เครื่องบินโดยสารมีที่(Ejection Seat) ไหมครับ

    ตอบลบ
  2. สรศักดิ์ สุบงกช18 กรกฎาคม 2557 เวลา 06:32

    ไม่มีครับ ทั้งของนักบินหรือผู้โดยสาร

    ตอบลบ