“แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ” เป็นประโยคภาษาไทยที่ถูกแปลมาจากภาษิตภาษาลาตินว่า” Si vis pacem, para bellum” ตรงกับประโยคภาษาอังกฤษว่า”If you wish for peace,prepare for war” แต่ใครจะพูดไว้นั้นผมใคร่จะให้เป็นการบ้านของท่านผู้อ่าน ด้วยไม่อยากให้กลายเป็นบทความทางภาษาศาสตร์ไปเสียเปล่าๆซึ่งไม่ใช่แนวของบทความนี้
ภาษิตตอนต้นเรื่องนั้นฟังดูเหมือนง่าย ถ้าไม่อยากรบก็ต้องเตรียมกองทัพให้พร้อม พอตะพดของเราใหญ่กว่าก็ไม่ต้องเกรงกลัวใครหน้าไหนทั้งนั้น กลัวใจตัวเองจะอดไม่ไหวที่จะไปรุกรานเขาก็พอ การเตรียมทัพให้พร้อมล้อมรั้วบ้านให้แข็งแรงยังใช้ได้ถึงทุกวันนี้ ไม่ต้องยกตัวอย่างกองทัพสหรัฐก็ได้เพราะเขาถนัดทางรุก อเมริกาไม่เคยมีสงครามในดินแดนตัวเองเพราะส่งทหารไปรบนอกบ้านตั้งแต่เริ่มมีกองทัพ ตั้งแต่ปราบสลัดมุสลิมในชายฝั่งบาบารี่สมัยโธมัส เจฟเฟอร์สันจนเป็นต้นกำเนิดนาวิกโยธิน จนถึงส่งทหารไปรบในยุโรป เกาหลี เวียตนามและล่าสุดคืออิรักกับอาฟกานิสถาน
ตัวอย่างที่ดีของ”แม้หวังตั้งสงบฯ”กลับไปอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์และสวีเดน สองชาติเล็กๆในยุโรปที่แม้แต่เยอรมนีและรัสเซียเองก็ยังไม่กล้ายุ่ง ใครที่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์นานพอจะพบว่าประเทศนี้ไม่ค่อยมีฐานทัพให้เห็น แต่เมื่อพิจารณาให้ดีในจุดสำคัญตามชายแดนจะพบว่าบ้านช่องธรรมดานั้นมีช่องให้ปืนใหญ่โผล่ออกมา ยามปกติจะถูกซ่อนพรางอย่างแนบเนียน เมื่อจะใช้งานปืนใหญ่และปืนกลหนักจึงจะเผยตัว ยิงตามแนวและวิถีกระสุนที่ถูกคำนวณปรับแต่งคลุมพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้ว
หน้าผาหินถูกเจาะเข้าไปเป็นฐานทัพใต้ภูเขาแล้วสร้างประตูโลหะฉาบปูนทับ ตกแต่งเลียนแบบสภาพตามธรรมชาติได้เนียนแม้แต่ปลูกต้นไม้ให้กลมกลืน เมื่อข้าศึกเคลื่อนเข้ามาในแนวทั้งที่ตรวจการณ์หน้าดีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่วายจะถูกทำลายเมื่อจู่ๆหน้าผาหินก็เลื่อนออกให้ทั้งทหารและยวดยานเข้าประจำที่ตั้ง เยอรมันไม่ยึดสวิตเซอร์แลนด์ช่วงสงครามโลกครั้งที่2เพราะไม่คุ้ม เว้นไว้สักชาติเพื่ออ้อมไปเคี้ยวชาติอื่นๆที่พร้อมน้อยกว่ายังง่ายกว่าเป็นไหนๆ
ส่วนสวีเดนที่มีประชากรเพียงสิบล้านก็ตั้งยันกองทัพโซเวียตในช่วงสงครามเย็นได้ ด้วยกองทัพอากาศที่ใหญ่เป็นอันดับ4ของโลกที่โซเวียตเองยังครั่นคร้าม ซ่อนทั้งเครื่องบินและเรือดำน้ำไว้ในหน้าผากลเลื่อนได้เช่นเดียวกับสวิส ทั้งสองชาติเน้นยุทธศาสตร์ป้องกันและเตรียมกองทัพไว้ให้พร้อมเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ ดังนั้นถ้าใครคิดว่ามีกองทัพแล้วจะต้องรุกรานอย่างเดียวจึงโปรดเปลี่ยนความคิด เพราะเคยปรากฏในประวัติศาสตร์แล้วด้วยเรื่องราวของสองชาตินี้ ว่ารั้วที่แข็งแรงย่อมทำให้เจ้าของบ้านอุ่นใจ
ต้องยกตัวอย่างของสวีเดนในเรื่องการป้องกัน เพราะเขามียุทธศาสตร์แบบเดียวกับเราคือไม่รุกรานคนอื่นแต่ใครๆก็ย่ำยีเขาไม่ได้ และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด เครื่องมือป้องกันที่ดีที่สุด เร็วที่สุดก็คือกำลังทางอากาศ ในสมัยสงครามโลกทั้งสองครั้งนั้นอาจจะเน้นที่จำนวนก็จริงเพราะยังไม่มีเทคโนโลยีไอทีมาช่วย หลังจากมีเครื่องบินเจ็ตความเร็วเหนือเสียงและเครื่องช่วยเดินอากาศ(Avionic)ที่ทันสมัย หลักนิยมการใช้กำลังทางอากาศก็เปลี่ยนไปเป็นการเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ เป้าหมายทางยุทธศาสตร์แห่งเดียวที่เคยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแห่กันไปถล่มเป้าละหลายร้อยเครื่อง(ไม่นับเครื่องบินขับไล่คุ้มกันอีกมากพอกัน)ในสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ปัจจุบันด้วยเป้าแบบเดียวกันกลับใช้เครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์แค่ไม่เกิน5เครื่องบินไปทำลาย รับประกันความแม่นได้ด้วยว่าระเบิดจะพุ่งตามพิกัดจีพีเอสลงตรงเป้าทุกลูก เมื่อ20ปีก่อนอิสราเอลทำลายโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของอิรักสำเร็จมาแล้วด้วยเอฟ-16ไม่ถึง10เครื่องด้วยซ้ำทั้งที่ยังไม่มีจีพีเอส!
แต่กว่าจะพัฒนามาถึงขั้นนี้นั้น การใช้กำลังทางอากาศถูกพัฒนามาตั้งแต่เริ่มสร้างเครื่องบินสำเร็จ เมื่อเอาโครงไม้กับผ้ามาประกอบกันแล้วประกอบเครื่องให้ลอยไปมาได้ มนุษย์ก็เริ่มคิดจะใช้มันรบทันที จะเอาอาวุธอะไรมาติด? ติดแล้วจะยิงมันอย่างไร? ใช้ถ่ายภาพได้แล้วจะหย่อนระเบิดใส่ที่หมายได้ไหม?และอื่นๆอีกร้อยแปด
จูลิโอ ดูเอ (1869-1930)นายทหารนักบินชาวอิตาเลียน คือคนแรกที่เสนอแนวคิดคลาสสิกด้านการใช้กำลังทางอากาศในหนังสือที่ตนเองเขียนชื่อ”The Command of The Air” ที่ยังใช้ได้เป็นส่วนใหญ่แม้จะมีแนวความคิดที่ใหม่กว่าของนักการทหารอเมริกันและอังกฤษคือวิลเลียม มิทเชลและฮิวจ์ เทรนเชิร์ดเสนอออกมาภายหลัง
แนวความคิดของดูเอที่ว่า”คลาสสิก”นั้นสรุปได้ดังนี้1.ผู้ครองอากาศได้ก่อนย่อมได้เปรียบ 2.เป้าหมายเบื้องต้นต้องเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและย่านธุรกิจ 3.ชิงทำลายกำลังทางอากาศให้ได้ก่อนบนพื้นดิน ทำลายแหล่งผลิตเครื่องบินเสียเลยถ้ามีโอกาส 4.กำลังภาคพื้นเข้ายึดพื้นที่และตัดการคมนาคม แต่กำลังทางอากาศทำลายขวัญและกำลังใจให้ได้ก่อนเป็นการปูพื้น และ5.ใช้เครื่องบินให้คุ้ม เครื่องบินขับไล่ต้องโจมตีภาคพื้นดินได้ด้วย
ทั้งหมดนี้โดยสังเขปคือต้นกำเนิดของยุทธศาสตร์เชิงรุก เพื่อทำลายกำลังทางอากาศของข้าศึกให้ได้ที่พื้นเสียก่อนแล้วซ้ำด้วยการตัดกำลังจากการโจมตีแหล่งอุตสาหกรรม ทั้งฝ่ายเยอรมันและสัมพันธมิตรได้แสวงประโยชน์จากหลักการของดูเอเต็มที่ในสงครามโลกทั้งสองครั้ง และสงครามอีกหลายครั้งที่ใช้กำลังทางอากาศเข้าตัดสินก็ใช้หลักการนี้ จนถึงล่าสุดที่ฝ่ายอเมริกันใช้หลักการเดียวกันในยุทธการ”พายุทะเลทราย”ต้นทศวรรษ90และ”อิรัคเสรี”หลังเหตุการณ์9/11 ความคิดเรื่อง”การใช้เครื่องบินให้คุ้ม”ของเขาได้กลายเป็นแนวความคิดการสร้างเครื่องขินขับไล่เอนกประสงค์(Multi role fighter)ในปัจจุบัน
ด้วยจำนวนที่น้อยกว่าและใช้ยุทโธปกรณ์เทคโนโลยีสูง กำลังทางอากาศยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาได้ซับซ้อนอันเป็นผลจากการพัฒนาคอมพิวเตอร์แบบก้าวกระโดด ถูกจับยัดลงในเครื่องบินรบเช่นกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เครื่องบินรบยุคดิจิตอลมีสภาพใกล้เคียงเกมเพลย์สเตชั่นเข้าไปเรื่อยๆ บินง่าย นักบินรับทราบและหยั่งรู้สถานการณ์ได้โดยไม่ต้องพูด ลดขั้นตอนการตัดสินใจให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้เขาตัดสินใจได้ก่อนข้าศึกแล้วชิงใช้อาวุธก่อนจนทำลายเป้าหมายได้ ความเหนือกว่าด้านจำนวนเปลี่ยนไปเป็นการวัดกันที่เทคโนโลยี หมัดยาวกว่า ข้าศึกมองไม่เห็นเข้าถึงตัวได้ก่อน ยิงก่อนก็ชนะ
เพราะอากาศยานสามารถทะลุทะลวงเขตแดนและใช้เทคโนโลยีสูง กำลังทางอากาศจึงแตกต่างจากกำลังภาคพื้น เครื่องบินเข้าถึงพื้นที่ปะทะเร็วกว่าและใช้กำลังน้อยกว่า ขณะที่ภาคพื้นดินต้องจัดกำลังเป็นกลุ่มๆ ตั้งแต่หมู่ถึงกองพลและทหารต้องทำงานประสานกันเหมือนฟันเฟือง ขณะที่นักบินเพียง1นายก็สามารถพาเครื่องบินเครื่องเดียวบินข้ามแดน เข้าไปทำลายจุดศูนย์ดุล(center of gravity)ของข้าศึกได้ ตัวอย่างชัดเจนคือการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ทั้งสองลูก ซึ่งฝ่ายอเมริกันประเมินแล้วว่าอาจเสียทหารเหยียบล้านถ้ายกพลขึ้นเกาะญี่ปุ่น การใช้เครื่องบินบี-29แค่สองลำจึงช่วยสงวนชีวิตทหารและทรัพย์สิน(ของผู้ชนะ)ได้มาก และในทางกลับกันก็ทำลายความสามารถต่อต้านของข้าศึกได้มหาศาล เทียบไม่ได้เลยกับมูลค่าของยุทโธปกรณ์
เมื่อเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด ความจริงข้อหนึ่งคือมันแพร่หลายและทุกชาติสามารถครอบครองเทคโนโลยีระดับสุดขั้วได้ ทุกประเทศสามารถมีเครื่องบินรบพร้อมออปชั่นเพียบได้เสมอกันถ้ามีเงินซื้อ ถ้าไม่มีเครื่องบินก็ชดเชยด้วยขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ พอมีเหมือนกันหมดยุทธศาสตร์การใช้กำลังทางอากาศเพื่อรุกรานจึงต้องเปลี่ยนมาเป็นเพื่อการป้องปราม มีเครื่องบินไว้เพื่อไม่ต้องรบ มีของดีๆไว้ใช้เพื่อไม่ต้องให้ลูกหลานของเราเสียเลือดเนื้อ และไทยเราเองก็ใช้เครื่องบินเพื่อสันติมาตลอด
ที่น่าภูมิใจคือเราเคยมีกองทัพอากาศใหญ่สุดในเอเชียรองจากญี่ปุ่นเท่านั้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ตามที่เอ็ดเวิร์ด เอ็ม. ยังก์แห่งสถาบันสมิธโซเนียนอ้างไว้ในหนังสือชื่อ”Aerial Nationalism : A History of Aviation in Thailand” ที่กล่าวถึงกองทัพอากาศไทยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหลังการบินครั้งแรกของสองพี่น้องตระกูลไรท์เพียงไม่ถึงสิบปี ถ้ากองทัพอากาศของเราไม่เฉียบจริงสมิธโซเนียนของสหรัฐฯคงไม่เสียเวลามาเขียนหนังสือประวัติศาสตร์อ้างถึงเป็นเล่มๆให้
กำลังทางอากาศจึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งโดยเฉพาะถ้าหวังจะ”ตั้งสงบ” การมีเครื่องบินรบทันสมัยไว้ใช้จึงไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย เพราะยุทธศาสตร์ของเราเน้นที่การป้องปรามไม่ใช่การรุกราน เราจึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องบินใหญ่ที่บินได้ไกลอย่างซู-30หรือเอฟ18 การเลือกใช้เครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์เช่นเอฟ16(เดิม)และกริปเปน(ใหม่)นั้นเหมาะสมแล้ว ส่วนความเหมาะสมด้านจำนวนของมันที่จะรบแล้วนักบินรอดชีวิตกลับมานั้นจะอยู่ที่กี่ลำต่อ1ฝูง? แต่ละลำในฝูงจะถูกแบ่งไปทำหน้าที่อะไรบ้าง? มีวงรอบการทำงานอย่างไรจึงต้องถูกกำหนดจำนวนไว้เช่นนั้น? ตอนหน้านี้แหละที่ท่านจะเข้าใจถึงตัวเลขที่ใช้เป็นชื่อเรื่อง ว่า”18…16…12หรือแค่6?”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น