วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2554

กรีเพน @ สุราษฎร์


เมื่อวันที่22กุมภาพันธ์เครื่องบินขับไล่JAS-39 Gripenจำนวน6ลำได้ร่อนลง ณ สนามบินกองบิน7จังหวัดสุราษฎร์ธานีเมื่อเวลา19.30นโดยสวัสดิภาพ มีนท.จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัยเป็นผู้บังคับฝูงบิน กรีเพนทั้งหกทั้งแบบหนึ่งและสองที่นั่งในรุ่นCและDนี้บินโดยนักบินไทยและสวีดิช ออกจากสวีเดนโดยแวะจุดพักเติมน้ำมันและพักผ่อนทั้งหมด9จุดก่อนถึงประเทศไทยตามโครงการช่วงแรก และต่อไปในอีกสองปีข้างหน้าจะมีกรีเพนรุ่นที่สองอีกหกลำตามมาจนครบ12ลำเป็นหนึ่งฝูงก่อนจะปลดประจำการเครื่องบินF-5เดิมที่ใช้มาร่วม40ปี...

...แต่ก่อนจะถึงวันที่เราได้รับสิงโตบินทั้ง6เข้าประจำการนี้มีความเป็นมาอย่างไรเราสมควรจะทำความเข้าใจกัน จะได้รู้ถึงความจำเป็นและเหตุผลที่ต้องใช้เครื่องบินสัญชาติสวีดิชแทนอเมริกันที่ผูกพันกันมานาน ถ้าจะให้เข้าใจกันแบบลึกๆคงต้องเท้าความกันไว้ก่อนล่ะว่ามีกำลังทางอากาศไว้ทำไม

เราเริ่มมีกำลังทางอากาศซึ่งยังไม่เป็นกองทัพเต็มรูปแบบนักหลังเครื่องบินเกิดขึ้นในโลกไม่กี่ปี เมื่อกองทัพคิดว่าจะหาประโยชน์จากเครื่องบินได้มากกว่าใช้ถ่ายรูป ถ้ามันบรรทุกของได้ก็น่าจะบรรทุกระเบิดไปหย่อนใส่ข้าศึกได้ น่าจะเอาปืนติดให้ไล่ยิงเครื่องบินของข้าศึกเพื่อครองน่านฟ้าเหนือยุทธบริเวณ ยิงกราดทำลายที่ตั้งหรือสังหารทหารบนพื้นก็ยังได้ เพราะความเร็วของเครื่องบินซึ่งไม่เกี่ยงอุปสรรคอย่างแม่น้ำหรือป่าเขามันจึงเข้าถึงที่หมายได้เร็วกว่าหน่วยรบไหนๆ ใช้นักบินแค่คนสองคนเท่านั้น ในปัจจุบันนี้หากเกิดกรณีพิพาทนักบินของเราสามารถเข้าถึงที่หมายได้ในเวลาไม่ถึงสิบห้านาที สร้างความเสียหายย่อยยับแล้วบินกลับมาได้ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง

ไม่มีหน่วยรบไหนจะทำเช่นนี้และใช้กำลังพลน้อยเท่ากองทัพอากาศ

เพราะคุณประโยชน์ในการทำลายล้างและความรวดเร็ว กำลังทางอากาศจึงแยกตัวจากการเป็นหน่วยบินในกองทัพบกมาเป็น"กองทัพอากาศ"(Air force)เต็มรูปแบบหลังสงครามโลกครั้งที่2 การพัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องทำให้เครื่องบินบินเร็วขึ้นด้วยเครื่องยนต์เจ็ต จากรุ่นแรกๆที่เอาแค่เร็วและบินสูงมาสู่คุณสมบัติเด่นๆในปัจจุบันคือหลบหลีกการตรวจจับด้วยเรดาร์ได้ เพราะกองทัพอากาศต้องใช้เครื่องบิน เครื่องบินดีๆที่จะสู้แล้วชนะต้องใช้เทคโนโลยี เทคโนโลยีราคาแพงเครื่องบินจึงเป็นของแพง แต่เมื่อแลกกับขีดความสามารถในการทำลายเป้าหมาย,อำนาจการข่มขวัญและความอยู่รอดของนักบินแล้ว ถึงจะจ่ายแพงก็ยังคุ้ม ทุกประเทศจึงต้องมีกองทัพอากาศเพื่อปกป้องผลประโยชน์และเพื่อเป็นรั้วที่แข็งแกร่งกันการรุกล้ำดินแดน ไม่ว่าจะรุกล้ำชั่วคราวหรือยึดครองแบบถาวร


และนั่นคือเหตุผลที่เราต้องมีกองทัพอากาศที่เข้มแข็ง


ต้องถือว่ากองทัพอากาศไทยเคยเกรียงไกรมาในอดีต แม้ปัจจุบันเราก็ยังเข้มแข็งไม่แพ้ชาติใดในอาเซียน กองทัพอากาศของเราเคยยิ่งใหญ่เป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่นเท่านั้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่2 เมื่อสองพี่น้องตระกูลไรท์สร้างเครื่องบินได้ในปี1903นั้นพอถึงปี1909เราก็มีกำลังทางอากาศพร้อมรบแล้ว นักบินไทยเคยสร้างวีรกรรมไว้มากมายทั้งสมรภูมิลาวและเขมร ไม่เคยกลัวกำลังที่เหนือกว่าอย่างท่วมท้นของญี่ปุ่นระหว่างการยึดครองในสงครามครั้งนั้น ถ้าเดี๋ยวนี้เรามีF-16และกรีเพน ช่วงนั้นเราก็มีสปิตไฟร์ของอังกฤษ เครื่องบินที่ได้สิทธิบัตรมาสร้างเองก็มีหลายแบบ การพัฒนาเทคโนโลยีมีมาอย่างต่อเนื่องกระทั่งมาสะดุดลงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี่เอง เมื่อเราพึ่งพากับสหรัฐฯมากขึ้นใช้เทคโนโลยีของเขามากขึ้นจนหยุดการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองไป

F-84ธันเดอร์เจ็ตคือเครื่องบินขับไล่เจ็ตแบบแรกที่ได้จากสหรัฐฯ ตามด้วยF-86ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ดี สถิติของมันในสงครามเกาหลีนั้นน่าสนใจทีเดียวด้วยอัตราส่วนการสังหาร10ต่อ1 หลังจากโลกถูกแบ่งเป็นค่ายคอมมิวนิสต์และโลกเสรีชัดเจนเราก็ได้รับF-5แบบให้เปล่าจากสหรัฐฯเพื่อถ่วงดุลเชิงปริมาณกับMiG-21ของค่ายคอมมิวนิสต์ รวมทั้งเครื่องบินแบบอื่นๆที่ล้วนเป็นสัญชาติอเมริกัน กองทัพอากาศของเราจึงคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและวิธีคิดแบบอเมริกันมาหลายสิบปี ทั้งที่ความเป็น"อเมริกัน"นั้นบางครั้งก็ไม่เหมาะกับยุทธศาสตร์ของเราแต่ก็ยังต้องใช้ เพราะเคยชินจนทำให้เข้าใจไปว่านี่คือพันธมิตรที่จะช่วยให้รอดหากเกิดศึกสงครามถึงขั้นจะยึดประเทศกัน แต่ไม่ใช่เลยในเมื่อผลประโยชน์ต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใดและอเมริกาต้องรักษาผลประโยชน์ของเขามากกว่า

เราหยุดพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานแล้วรอรับ รวมทั้งซื้อของได้ในราคามิตรภาพซึ่งทำให้กองทัพยิ่งผูกติดกับความเป็นอเมริกันมากขึ้น ความเคยชินและถูกบีบบังคับด้วยเหตุผลด้านการเมืองระหว่างประเทศทำให้ดูเหมือนว่าเครื่องบินรบที่"ใช่"สำหรับเราต้องมีแต่ตระกูล"F”เท่านั้น


แต่ทำไมถึงได้ใช้เครื่องบินสัญชาติสวีเดน? ตรงนี้มีเหตุผล


ถ้าจะพูดถึงประวัติศาสตร์แล้วสวีเดนไม่ใช่จะไร้พิษสง กษัตริย์คอร์ล(Charles)ที่12เคยยกทัพไปตีรัสเซียทั้งที่ตอนนั้นยังมีพลเมืองไม่กี่ล้านคน ถึงจะแพ้ก็ใช่ว่าจะข่มเหงกันง่ายๆ เทคโนโลยีสวีเดนไม่เป็นรองใคร เอริคโซน(Ericsson)คือแบรนด์ของโทรศัพท์และอุปกรณ์โทรคมนาคมที่เรารู้จักกันดี ยังไม่ต้องพูดถึงสุดยอดเรือดำน้ำสัญชาติสวีดิชของบริษัทโคคูมที่อเมริกันยังต้องซื้อไว้ศึกษาจากความเงียบขนาดดำไปโผล่กลางกองเรือของตนได้แบบไม่ไว้หน้า

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เราจะได้สัมผัสคืออากาศยานซึ่งถูกพัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่1930 เมื่อความไม่แน่นอนของยุโรปทำให้สวีเดนมีจัดระเบียบกองทัพอากาศใหม่ เพิ่มฝูงบินจาก 4 ฝูงเป็น 7 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นในปี 1939 แม้สวีเดนจะเป็นกลางไม่ถูกเยอรมันยึดครอง แต่กองทัพอากาศก็ยังต้องขยายจนกระทั่งจำต้องหยุดชะงักเพราะสงครามโลกครั้งที่2ในยุโรป กว่าจะมาเริ่มสานต่อกันได้ก็ช่วงหลังสงครามแล้ว

ถึงปี1945อันเป็นปีสิ้นสุดสงครามนั้นกองทัพอากาศสวีเดนจึงมีเครื่องบินพร้อมรบ800 ลำ รวม15กองพลบินขับไล่ เป็นกองทัพอากาศที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับประชากรไม่ถึงสิบล้านเมื่อหกสิบปีก่อน ด้วยภูมิศาสตร์ที่เป็นด่านหน้าตั้งประจันกับสหภาพโซเวียต กำลังทางอากาศจึงเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันประเทศ เป็นหัวหอกในการโจมตีจากฐานบินลับที่เจาะลึกเข้าไปในหินผาตามที่ต่างๆทั่วประเทศ และเครื่องบินที่เป็นกำลังหลักนั้นส่วนใหญ่ได้ถูกผลิตจากโรงงานของบริษัทซ้อบ(SAAB)ในเมืองลินเชอปิง(Linkoping) แหล่งเดียวกับกรีเพนที่เข้าประจำการในกองทัพอากาศไทย

เครื่องบินรบของสวีเดนจากซ้อบถูกพัฒนาต่อเนื่องควบคู่กับการจัดหาจากต่างประเทศบางส่วน จากซ้อบJ29”ทุนนัน”A32 “ลันเซน”, J35 "ดราเคน"จนถึงAJ37”วิกเกน" เครื่องบินขับไล่จากเมืองลินเชอปิงไม่เคยทำให้กองทัพสวีดิชผิดหวัง แต่ถ้าจะพัฒนาเครื่องบินที่ใหม่กว่านั้นเพื่อใช้เองและส่งออกก็ต้องคิดกันใหม่ วางแผนกันใหม่หมดให้เข้ากับหลักนิยมของสงครามในปัจจุบัน ยาส39(JAS 39)จึงเกิดขึ้นด้วยความคิดใหม่ แผนแบบใหม่ตั้งแต่หัวจรดท้าย มันต้องประหยัดกว่าวิกเกนเป็นครึ่ง ต้องเบากว่าเป็นครึ่งในขณะเดียวกันต้องดำรงขีดความสามารถของเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ให้ได้ครบถ้วน

ที่สำคัญคือต้องทำงานร่วมกันแบบเครือข่ายเป็น"ระบบป้องกันภัยทางอากาศบูรณาการ”(Integrated Air Defense System)ในระบบดิจิตอลร่วมกับเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศและเครือข่ายเรดาร์ภาคพื้นดิน องค์ประกอบทั้งสามดังกล่าวมานี้ครบ ระบบกรีเพนจะเป็นระบบป้องกันประเทศที่ทรงประสิทธิภาพ เมื่อผู้ปฏิบัติสามารถหยั่งรู้เท่าทันสถานการณ์ บัญชาการและควบคุมได้ฉับไวสามารถทำลายเป้าหมายได้เร็วและเฉียบขาดโดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังขนาดใหญ่ สวีเดนไม่ใช้กองทัพใหญ่เพราะพลเมืองเขาแค่สิบล้านเท่านั้น เท่ากับกรุงเทพฯจังหวัดเดียวพอดี!

เราก็ไม่ต้องใช้กองทัพใหญ่เพราะประเทศเราเล็กและรูปแบบของสงครามก็เปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีการยกทัพเข้ายึดครองประเทศไหนๆอีกแล้วโดยเฉพาะแถบนี้ ถ้าเราหรือใครทำก็จะถูกแทรกแซงทางการค้าหรือมาตรการอื่นๆซึ่งองค์กรระหว่างประเทศกำหนดไว้ว่าให้ทำได้ จนอับอายขายหน้าและเศรษฐกิจอ่อนเปลี้ย แต่การมีกำลังทางอากาศเข้มแข็งก็คือเครื่องรับประกันได้ว่าจะต้องไม่เกิดสงคราม หรือหากเกิดเมื่อใดก็จะไม่ลุกลาม ด้วยยุทธศาสตร์ที่ไทยเหมือนสวีเดนคือเพื่อป้องกันไม่ใช่รุกราน เราจึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องบินบินไกลหรือบรรทุกระเบิดทีละมากๆ มันไม่จำเป็นและสิ้นเปลือง ผลาญงบประมาณที่ควรจะนำไปทำประโยชน์ด้านอื่นกันเห็นๆ

ถ้าเราต้องการแค่เครื่องบินเล็กๆแล้วอะไรล่ะถึงจะเหมาะ?

คำตอบแต่เดิมคือF-16

ทำไมผมถึงว่าต้องเป็นF-16? คำตอบคือเพราะมันเป็นเครื่องบินขับไล่"แท้ๆ"ที่เราสามารถจัดหาได้ ด้วยคุณสมบัติที่ดีคือน้ำหนักเบา ราคาไม่แพง เสียค่าบำรุงรักษาต่ำ ประกาศณียบัตรคือมีใช้ในกองทัพอากาศเกือบ30ประเทศทั่วโลก แม้แต่สหรัฐฯก็ยังมีมันไว้ถึงครึ่งของกำลังทางอากาศทั้งหมด อยากจะบอกว่าF-16คือเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ที่ดีที่สุดในโลกด้วยซ้ำ เพราะมันเกิดจากความคิดของนาวาอากาศเอกจอห์น บอยด์(John Boyd:The fighter pilot who changed the art of warเขียนโดยRobert Coram) สุดยอดนักคิดและนักยุทธศาสตร์ที่เข้าใจถึงศาสตร์แห่งการบินต่อสู้อย่างถึงแก่น เป็นเครื่องบินขับไล่ที่มีการเมืองมาแทรกจนสูญเสียคุณลักษณะดีๆไปน้อยที่สุด มันบินไม่ไกล บรรทุกอาวุธได้พอประมาณแต่ความคล่องตัวสูงสุด ประเทศเรามีเนื้อที่แค่นี้จะเอาเครื่องบินบินไกลมาทำไมเล่า?


เรามีF-16แล้วและเข้าใจถึง"ความเป็นอเมริกัน"ดี และเราก็อยากได้F-16รุ่นใหม่ๆมาทดแทนF-5ที่จะปลดประจำการ


แต่ทำไม่ได้


เพราะราคาของF-16รุ่นใหม่แพงระยับ ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เราพัฒนาทั้งระบบและบุคคลากรไปสู่ความเป็นกองทัพอากาศดิจิตอล ซึ่งจะนำไปสู่ความทันสมัยในราคาคุ้มค่าและสามารถลดกำลังพลที่ไม่จำเป็นลงได้ ส่งผลต่อเนื่องถึงการประหยัดงบประมาณได้ในระยะยาว

ถ้าเป็นเช่นนี้เราก็ต้องเลือก อะไรที่จ่ายแล้วคุ้มก็ต้องพิจารณา โดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายของกองทัพอากาศคือการจัดหาเครื่องบินทดแทนและเริ่มก้าวแรกๆให้ได้ในการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย เพื่อใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่า เพื่อฝึกคนของเราให้คิดเป็นจะได้พึ่งพาตัวเองได้ไม่ต้องยึดติดกับพันธมิตรเหมือนเมื่อก่อน

เมื่อนำF-16ในจำนวนเท่ากันมาเปรียบเทียบกับกรีเพน ก็จะพบว่าราคาเฉพาะตัวเครื่องบินและซอฟต์แวร์แพงกว่ากันหลายเท่า ในขณะที่เราได้กรีเพนทั้งระบบครบองค์ประกอบสามอย่างรวมระบบอาวุธตามที่กล่าวไปแล้วนั้น เราซื้อF-16ได้ไม่ถึงฝูงด้วยซ้ำ ลำพังแค่อัพเกรดของเก่ากันแค่หกลำหรือหนึ่งในสามของฝูงยังใช้เงินตั้ง7,000ล้าน ถ้าซื้อเต็มฝูงใหม่ป้ายแดงด้วยล่ะจะแพงขนาดไหน เรื่องระบบอาวุธและซอฟต์แวร์ยังต้องซื้อต่างหากซึ่งจะทำให้งบบานออกไปอีก ถึงค่าบำรุงรักษาของF-16ที่มีอยู่จะถูกกว่าแต่ปัญหาคือมันเก่าแล้วและอะไหล่ก็หายากขึ้นทุกวัน ถ้าใช้F-16รุ่นCและDค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็จะแพงกว่าหลายเท่าซึ่งเป็นผลเสียทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตรรกะแค่นี้ไม่ต้องมีความรู้สูงก็คงคิดออก

เมื่อทบทวนถึงผลได้ผลเสียเปรียบเทียบกับเครื่องบินและระบบอื่นๆแล้วผลจึงมาออกที่"ระบบ"กรีเพน เพราะเราซื้อทั้งระบบไม่ได้ซื้อแค่ตัวเครื่อง ลำพังขีดความสามารถของเครื่องบินกรีเพนเองก็ไม่ได้โดดเด่นเหนือF-16 แต่มันตอบโจทย์ของกองทัพอากาศได้ตรงที่ใช้ระบบดิจิตอลแสดงผลด้วยจอภาพสามจอตรงหน้านักบิน ทำงานประสานกับองค์ประกอบอื่นๆได้เป็นเครือข่าย ลดภาระเดิมๆจากการติดต่อด้วยวิทยุออกไป ช่วยให้นักบินหยั่งรู้สถานการณ์ด้วยการแสดงทุกอย่างบนจอเป็นสีสันให้เห็นชัดเจน ทั้งเครื่องบินข้าศึกและฝ่ายเรา กองกำลังภาคพื้นดิน ปืนใหญ่ ที่ตั้งจรวดและทุกสิ่งที่เรดาร์ของตัวมันเองและเรดาร์ภาคพื้นดินกับเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศ(SAAB340)ตรวจจับได้

ด้วยระบบดิจิตอลที่เข้ารหัสได้ง่ายแต่ถอดรหัสยาก เมื่อเทียบกับอนาล็อกเดิมที่มีอยู่และการทำงานประสานเป็นเครือข่าย ระบบกรีเพนจะเอื้อประโยชน์อย่างมากต่อการรบร่วมสามเหล่า เมื่อนักบิน กองกำลังภาคพื้นดินและในทะเลรู้ตำแหน่งของกันและกันความปลอดภัยก็จะตามมา จะไม่มีการยิงกันหรือทิ้งระเบิดใส่พวกเดียวกันเอง รู้ตำแหน่งภัยคุกคามแน่ชัดก็มุ่งทำลายเฉพาะจุดได้ไม่ต้องโถมกำลังมากๆให้สิ้นเปลืองแบบสมัยก่อน กองทัพดิจิตอลช่วยได้จริงในระยะยาวทั้งการสงวนงบประมาณและกำลังพล และแน่นอนที่สุดคือเครื่องบินดิจิตอลจะช่วยให้นักบินสบายตัวขึ้น ไม่ต้องพะวงกับข้อมูลที่ไหลเข้ามาไม่หยุดหย่อนเหมือนสมัยก่อน เขาจะมุ่งตรงสู่เป้าหมายเพื่อปฏิบัติภารกิจได้เพียงอย่างเดียว ไม่อยากรู้อะไรจอภาพจะไม่แสดง มีสิ่งใดผิดปกติเครื่องบินจะบอกเอง เป็นเครื่องบินฉลาดที่ทำให้นักบินดูดีขึ้นมาก ที่สำคัญกว่านั้นคือช่วยให้เขาปลอดภัยขึ้นกว่าเดิมด้วยจากการหยั่งรู้เท่าทันสถานการณ์ แทรกแซงขั้นตอนการตัดสินใจของข้าศึกได้เร็วเพื่อกดปุ่มใช้อาวุธได้ก่อน


และที่กล่าวมานั้นคือคุณสมบัติของกรีเพน39รุ่นCและDกับระบบครบถ้วนที่เราเพิ่งได้รับเข้าประจำการ

ความคุ้มของระบบนอกจากจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนากองทัพอากาศสู่ความทันสมัย สิ่งที่ตามมาคือการถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งระบุไว้แล้วในสัญญา ทุนการศึกษาอีกเป็นร้อยทุนในสวีเดนเพื่อพัฒนาบุคคลากรให้พร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลง ระบบกรีเพนจึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่าจริงๆทั้งด้าน"ของ"และ"คน" ไม่มีใครให้เราได้มากขนาดนี้แม้แต่ผู้ที่ถูกขนานนามว่า"มหามิตร" เราถูกผูกติดไว้กับคำว่า"พึ่งพา"จนกลายเป็นทาสทางเทคโนโลยีและนโยบายป้องกันประเทศมานาน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะออกจากกรอบมายืนอยู่ด้วยกำลังของตัวเองเมื่อมีทางเลือก?

ในความคิดของผม การตัดสินใจใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศ"กรีเพน"จากสวีเดนคือทางออกที่ชอบแล้วด้วยเหตุผล,งบประมาณและกาลเวลา เราใช้เครื่องบินสัญชาติอเมริกันมานานเพราะเขาให้เปล่าแล้วต่อมาขายให้ในราคามิตรภาพ แต่ไร้ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากร ความคุ้นเคยทำให้ยึดติด แต่พอถึงช่วงเวลาหนึ่งที่เราต้องพัฒนากองทัพแล้วมีคนมาเสนอเงื่อนไขซึ่งดีและคุ้มค่ากว่าเราก็ต้องตัดสินใจเลือก นี่คือก้าวแรกที่จะเป็นหลักตั้งต้นสู่การพัฒนากองทัพอากาศ ต่อเนื่องไปถึงเหล่าทัพอื่นให้เล็กลงแต่ทรงประสิทธิภาพ เพื่อให้คนของเราคิดเป็นและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้ด้วยตัวเอง ถ้าไม่เริ่มทำกันตอนนี้ก็คงไม่รู้จะเริ่มกันตอนไหนแล้ว ในเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาไม่หยุดหย่อนและรวดเร็ว

การมีระบบป้องกันภัยทางอากาศ"กรีเพน"ไม่ได้ทำให้ชาติของเราร่ำรวยขึ้นก็จริง แต่มันก็ช่วยให้รั้วของเราแข็งแกร่ง มีขีดความสามารถในการจัดการกับภัยคุกคามและดูแลผลประโยชน์ของชาติดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ด้วยความทันสมัยของระบบนักบินของเราจะมีเปอร์เซ็นต์ความอยู่รอดมากขึ้นเมื่อเกิดการปะทะ ระบบที่สมบูรณ์จะช่วยให้เขาหยั่งรู้สถานการณ์และตัดสินใจใช้อาวุธได้ก่อน กำลังทางอากาศที่ดีจะช่วยให้สงครามไม่เกิด หรือถ้าเกิดการปะทะขึ้นก็ยังไม่ลุกลามเมื่อเราเหนือกว่า


เหนือกว่ามิได้แปลว่าเราปรารถนาจะทำสงคราม

ใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศดีๆมิได้หมายความว่าผลาญงบประมาณ


กรีเพน6ลำแรกได้ลงแตะพื้นที่สนามบินกองบิน7จังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้วเม่ื่อ19.30.ของวันที่22กุมภาพันธ์ ส่วนอีก6ลำหลังจะตามมาในอีกสองปีถัดไป จะมีกรีเพนเข้าประจำการอีกหรือไม่หลังจากF-5และF-16ปลดประจำการในอีกสิบและเกือบยี่สิบปีข้างหน้านั้นไม่มีใครทราบ แต่เท่าที่ทราบในตอนนี้คือการตัดสินใจของกองทัพอากาศนั้นถูกต้องที่สุดแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น