ในกองทัพทั่วโลกนั้นมีประเพณีแต่โบราณมาแล้ว ว่าเมื่อใดที่ทหารหรือกองกำลังได้ปฏิบัติหน้าที่โดดเด่นจนสมควรยกย่องเชิดชู เมื่อนั้นหน่วยเหนือหรือผู้บัญชาการเหล่าทัพต้องมีเครื่องหมายเพื่อเชิดชูเกียรติยศและความสามารถมอบให้ทหารเหล่านั้น นี่เองจึงเป็นที่มาของเหรียญกล้าหาญเพื่อมอบไว้ให้ทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดดเด่นและกล้าหาญเหนือใคร นักประวัติศาสตร์ด้านการทหารหรือผู้สนใจติดตามเรื่องราวด้านนี้ คงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จักเหรียญกล้าหาญอันลือลั่นของกองทัพเยอรมันซึ่งมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สงครามนโปเลียนถึงปัจจุบัน ด้วยชื่อเรียกง่ายๆแต่สูงค่าว่า"กางเขนเหล็ก"
กองทัพเยอรมันโดยเฉพาะพรอยเซ็น(ปรัสเซีย)ซึ่งเป็นรัฐทหาร และมีประเพณีด้านการทหารสืบทอดมานานก่อนการรวมชาติ ใช้เหรียญตราเพื่อประกาศเกียรติคุณของทหารทุกชั้นยศตั้งแต่พลทหารถึงกษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ กระทั่งกาลเวลาล่วงเลยมาถึงยุคสมัยที่ยุโรปลุกเป็นไฟจากการย่ำยีของจักรพรรดินโปเลอ็องนี่เอง ที่เยอรมนีซึ่งยังไม่เป็นปึกแผ่นต้องการสัญลักษณ์บางอย่างเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพรอยเซ็น ช่วงเวลานี้มาถึงเมื่อ"กร็องด์อาร์เม"หรือ"ทัพใหญ่"ของนโปเลอ็องปราชัยแก่รัสเซียจนต้องถอยไม่เป็นกระบวน จบลงด้วยความพ่ายแพ้หมดรูปของพระองค์ในปีค.ศ.1813 ทั้งยุโรปรวมถึงรัฐพรอยเซ็นและรัฐเยอรมันน้อยใหญ่ต่างเป็นอิสระและต่างคิดว่ายุโรปจะต้องสงบสุขต่อไปอีกหลายปี ปีนี้เองที่เครื่องราชอิสริยาภรณ์กางเขนเหล็กได้ถือกำเนิดขึ้น
กางเขนเหล็กรุ่นแรกเกิดขึ้นจากพระบรมราชโองการของจักรพรรดิฟรีดริค วิลเฮล์มที่สามแห่งพรอยเซ็น สถาปนิกผู้มีแนวความคิดแบบนีโอคลาสสิกที่มาออกแบบมันคือคาร์ล ฟรีดริค ชิงเคิลซึ่งใช้รูปแบบกางเขนแขนเท่ากันทั้งสี่ด้านเลียนแบบสัญลักษณ์ของกางเขนอัศวินติวโตนิค(เยอรมันโบราณ)ในศตวรรษที่14 ด้วยลักษณะของโครงสร้างที่เห็นชัดๆคือเนื้อโลหะตรงกลางเป็นเหล็กฝังอยู่ในกรอบล้อมรอบเป็นเงิน ด้วยความที่เป็นเหรียญจากพระราชดำริของจักรพรรดิฟรีดริค วิลเฮล์มที่3 ด้านหน้าของเหรียญจึงมีสัญลักษณ์มงกุฎดุนนูนอยู่บนสุด ต่ำลงมาคือตัวอักษรย่อพระนามของพระองค์คือFWวางตัวเหนือใบโอ๊คสามแฉกตรงกลางเหรียญ ล่างสุดคือตัวเลข1813 อันเป็นปีแรกที่ประกาศใช้เหรียญตรานี้และเป็นปีแห่งการแพ้สงครามของจักรพรรดินโปเลอ็อง ด้านหลังของเหรียญปล่อยไว้เป็นเนื้อโลหะโล่งๆ
หลังจากปี1813 แล้วเยอรมันก็ทำสงครามอีกครั้งในปี1870กับฝรั่งเศส(ในชื่อที่ทราบกันทั่วไปว่าสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย) โดยอัครมหาเสนาบดีอ็อตโต ฟอน บิสมาร์คเคลื่อนทัพเข้ารบกับฝรั่งเศสในรัชสมัยของนโปเลอ็องที่3จนได้รับชัยชนะ ในปีนี้รูปโฉมของมันเปลี่ยนไป โดยถึงแม้มงกุฏจะยังอยู่แต่ก็เปลี่ยนใบโอ๊คสามแฉกเป็นตัวอักษรW อันเป็นอักษรย่อของพระนามจักรพรรดิวิลเฮล์มที่1ผู้กำชัยโดยถือเอาวันที่19กรกฎาคม 1870ทรงประกาศพระองค์เป็นจักรพรรดิแห่งชาติเยอรมันอย่างเป็นทางการ ส่วนด้านล่างสุดที่เคยเป็นตัวเลขปี1813นั้นกลายเป็นตัวเลข1870อันเป็นปีแห่งการรวมชาติเยอรมันและมีชัยต่อฝรั่งเศส
เยอรมนีที่รวมประเทศแล้วอยู่เย็นเป็นสุขดีมาเรื่อยจนสงครามโลกครั้งที่1ระเบิดในปี1914 กาฟริลโล ปรินซิปกับพรรคพวกชาวเซอร์เบียที่เกลียดชังอาราจักรออสเตรีย-ฮังการี ได้ลอบปลงพระชนม์อาร์คดยุคฟรานซ์ แฟร์ดินันด์ จนทำให้ออสเตรีย-ฮังการีประกาศสงครามกับเซอร์เบีย แล้วดึงเยอรมันกับชาติอื่นๆในยุโรปเข้าสู่สงครามใหญ่จนลุกลามกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่1 กางเขนเหล็กจึงถูกสถาปนาขึ้นอีกครั้งด้วยลักษณะเดียวกับปี1870เพียงแต่เปลี่ยนตัวเลขปีเป็น1914ตามปีแรกแห่งการเริ่มสงคราม
มีทหารเยอรมันมากมายที่ได้รับเหรียญนี้ทุกชั้นตั้งแต่ชั้นต่ำสุดคือกางเขนเหล็กชั้น2ชั้น1 จนถึงมหากางเขนหรือ"แกรนด์ครอส"ที่ถือว่าสูงสุด ที่น่าสังเกตคือมีนายทหารยศสิบโทจากบาวาเรียคนหนึ่งที่ได้รับกางเขนเหล็กชั้น2รุ่น1914 และต่อมาได้เป็นผู้ก่อสงครามโลกครั้งที่2จนผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง สิบโทคนนั้นมีชื่อตามภาษาบาวาเรียนว่าอดอลฟุส หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์นั่นเอง
ส่วนเสืออากาศนามกระเดื่องของเยอรมันที่ปัจจุบันนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าถูกทหารราบหรือเครื่องบินข้าศึกยิงตก คือมานเฟรด ฟอน ริคโธเฟ่นหรือชื่อเต็มว่า"บารอนมานเฟรด อัลเบรคต์ ไฟรแฮร์ ฟอน ริคโธเฟ่น"นั้นได้รับกางเขนเหล็กชั้นสูงสุด ภายหลังจากเสียชีวิตในการรบ ด้วยสถิติการยิงเครื่องบินข้าศึกตกมากถึง80เครื่อง ติดอันดับต้นๆของเสืออากาศเยอรมันในยุคนั้น
หลังจากเยอรมันพ่ายสงครามโลกครั้งที่1พร้อมกับถูกฝ่ายชนะริดรอนสิทธิ์ต่างๆอีกมาก รวมถึงการแบ่งแยกอาณาเขตของเยอรมนีเดิมเอาไปครองโดยไร้ความเป็นธรรม ชาติที่ชนะหยามเหยียดผู้แพ้อย่างเยอรมันด้วยการบังคับให้ชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามมหาศาลชนิดที่จ่ายอย่างไรก็ไม่หมด วางกฎเกณฑ์ข้อห้ามหยุมหยิมมากมายไม่ให้มีกองทัพอันเข้มแข็งเพราะเกรงว่าเยอรมันจะก่อสงครามขึ้นอีก เหล่านี้คือความกดดันที่ชาวเยอรมันโกรธแค้นรอวันชำระ เวลานั้นมาถึงเมื่อฮิตเลอร์ประกาศตนขึ้นเป็น"แดร์ ฟือห์เรอร์"(ท่านผู้นำ)ที่รวมตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเข้าไว้ด้วยกันในปี1933 แล้วตั้งกองทัพเยอรมัน(Wehrmachtแวร์มัคต์)ขึ้นใหม่อันประกอบด้วยแฮร์(Heer กองทัพบก),ครีกส์มารีเน่อะ(Kriegsmarine กองทัพเรือ) และลุฟต์วัฟเฟ่อะ(Luftwaffeกองทัพอากาศ) กับกองกำลังอารักขาส่วนตัวที่ขยายอัตราขึ้นมาเป็นเอสเอส.(SS Schutzstaffel) กองทัพซ้อนกองทัพและอำนาจรัฐซ้อนรัฐ เพื่อการควบคุมอำนาจการบริหารทั้งหมดไว้ในมือของคนจากพรรคนาซี
อิสริยาภรณ์กางเขนเหล็กถูกสถาปนาขึ้นอีกครั้งในปี1939 เมื่อเยอรมันเปิดฉากรุกรานโปแลนด์จนเกิดสงครามโลกครั้งที่2ตามมาในปีนั้น รูปลักษณ์ของกางเขนเหล็กทุกระดับชั้นเปลี่ยนไป มันเรียบง่ายขึ้นด้วยเคร่ื่องหมาย"ชวาสทิกา"กลางพื้นเหล็กเรียบๆด้านหน้า ล่างสุดคือคือปี1939ที่สถาปนา ส่วนด้านหลังยังมีตัวเลขดุนนูน1813อันเป็นปีแรกที่สถาปนามันขึ้นใช้เช่นเดิม
แม้กองทัพเยอรมันจะมีกางเขนเหล็กทุกลำดับชั้นใช้ตั้งแต่ปี1813 แต่ประเพณีการประดับเหรียญตราของพรอยเซ็นนั้นมีมาตั้งแต่สมัยของจักรพรรดิฟรีดริกที่2(ฟรีดริกมหาราช) ซึ่งมีพระชนม์ชีพอยู่ตั้งแต่ปี1712ถึง1786และได้ทรงตราไว้ในธรรมนูญทหารของกองทัพพรอยเซ็นว่าทหารทุกนายและทุกชั้นยศต้องประดับเหรียญตราให้เห็นเด่นเป็นสง่าทุกครั้งที่ออกสู้รบ ผู้ละเลยไม่ประดับเหรียญตราซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสูงค่าและศักดิ์สิทธิ์นั้นถือว่าผิดวินัยทหารและต้องรับโทษ ทหารของพรอยเซ็นหรือต่อมาคือทหารเยอรมันทุกนายที่ได้รับเหรียญตรา จึงถือเป็นธรรมเนียมว่าต้องประดับมันออกรบด้วยเยี่ยงอาภรณ์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งได้ผลทางจิตวิทยาคือทหารเกิดกำลังใจรุกรบ ผู้ยังไม่เคยได้รับเหรียญก็พยายามแข่งกันทำความดีและกล้าหาญเพื่อให้ได้เหรียญนี้มาประดับอก เป็นการบ่งบอกสถานภาพอันชัดเจนถึงความเป็นสุดยอดของทหารหาญ ที่ฝ่ายเดียวกันยกย่องและข้าศึกต่างพากันครั่นคร้ามจากชื่อเสียงด้านความเก่งกาจ
ในสารคดี,ข่าวหรือภาพนิ่งของทหารเยอรมันตั้งแต่สงครามนโปเลียนจนถึงสงครามโลกครั้งที่2 เราจึงเห็นภาพของคนหนุ่มหน้าตาหล่อเหลาในเครื่องแบบที่ตัดเย็บอย่างประณีตงดงาม ที่ประดับเหรียญตรากางเขนเหล็กพร้อมเครื่องหมายเชิดชูเกียรติอันแสดงถึงระดับความสามารถอันสูงขึ้นไปเช่นใบโอ๊ค ดาบไขว้ ใบโอ๊คกับดาบไขว้ฝังเพชร ไม่เว้นแม้แต่ทหารในหลุมบุคคลอันเปียกชื้นผู้สวมเครื่องแบบเปื้อนดินขมุกขมอมที่มีกางเขนเหล็กเงาวับห้อยคอหรือติดอกเสื้อ
และที่มีอยู่เพียงชิ้นเดียวคือกางเขนเหล็กประดับดาบไขว้ใบโอ๊คทองคำฝังเพชรของพันเอกฮันส์ อุลริค รูเดลนักบินเครื่องบินทิ้งระเบิด"ชตูกา" ที่ทำสถิติสูงสุดแบบไร้เทียมทานจนแม้เมื่อขาขาดแล้วข้างหนึ่งก็ยังขึ้นบินรบจนวันสุดท้ายของสงคราม
หลังจากเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่2แล้ว ทุกสิ่งในกองทัพทั้งสามเหล่าถูกเปลี่ยนใหม่หมด จาก"แวร์มัคต์"หรือ"กองทัพแห่งชาติ"สมัยนาซีเรืองอำนาจมาเป็น"กองทัพแห่งสหพันธรัฐ"หรือ"บุสเดสแวร์"(Bundeswehr) อิสริยาภรณ์กางเขนเหล็กก็เช่นเดียวกัน เครื่องหมายชวาสติกาซึ่งแสดงความเป็นนาซีถูกลบออกเปลี่ยนเป็นใบโอ๊คตามแบบดั้งเดิมของปี1813 ส่วนตัวเลขแสดงปีด้านล่างสุดยังคงเป็น1939ดั้งเดิม เหตุที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเลขก็เพราะกองทัพเยอรมันไม่ได้รบกับใครอีกเลยหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่2 แม้จะตั้งหลักประจันหน้ากับโซเวียตในช่วงสงครามเย็นแต่ก็ไม่ได้สถาปนากางเขนเหล็กขึ้นใหม่ ในเมื่อเยอรมันทั้งชาติไม่ได้เคลื่อนทัพเข้ารบกับชาติไหนในสงครามใหญ่แบบได้เสียแล้วครอบครองดินแดน
สัญลักษณ์กางเขนอัศวินเยอรมันโบราณที่เป็นกางเขนเหล็ก ภายหลังยุคนาซีได้เปลี่ยนรูปมาเป็นสัญลักษณ์แห่งสามเหล่าทัพของสาธารณรัฐเยอรมัน รูปกางเขนเหล็กจึงปรากฎอยู่บนยุทธยานยนต์และอากาศยานของกองทัพเยอรมันทุกเหล่า
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเยอรมันนั้นเป็นชาติที่รบพุ่งบ่อยจริงๆในอดีต ทั้งรบกันเอง รบกับเพื่อนบ้าน ช่วยเพื่อนบ้านรบกับชาติอื่น รบเพื่อรวมชาติ รบเพื่อแยกชาติเป็นอิสระ รบเพื่อครองยุโรปและรบอะไรต่ออะไรวุ่นไปหมด ดังนั้นจึงต้องมีวิธีปลุกใจให้ฮึกเหิมทั้งด้วยเครื่องแบบทหารซึ่งได้ผล จากการใช้ดีไซเนอร์นามกระเดื่องคือฮูโก บอสมาออกแบบเครื่องแบบงานพิธีให้ทหารเอส.เอส. ได้สุดยอดสถาปนิกแห่งยุคสมัยคือคาร์ล ฟรีดริค ชิงเคิลมาออกแบบเครื่องราชอิสริยาภรณ์กางเขนเหล็กสุดคลาสสิก อันเสมือนเป็นเครื่องหมายการค้าของกองทัพนาซี
เหรียญตราเศษโลหะอันน้อยนิดนี้เองที่พาคนหนุ่มเยอรมันไปตายในดินแดนอันห่างไกล ทั้งอาฟริกาเหนือ เทือกเขายูราล สตาลินกราด เลนินกราด ชายหาดนอร์มังดีและที่อื่นๆตลอดจนน่านน้ำอันหนาวเย็นของแอตแลนติกเหนือ
ปัจจุบันกางเขนเหล็กแท้ๆได้กลายเป็นของหายากของนักล่าของเก่าที่ชอบสะสมเหรียญตราทางทหาร มีของทำเทียมเลียนแบบขึ้นมาซึ่งขายดีและแพงเพราะยังเป็นที่นิยมของผู้ชอบสะสมที่ไม่สามารถครอบครองของแท้ได้ นายทหารผู้ได้ครอบครองกางเขนเหล็กครั้งสงครามโลกครั้งที่2ที่หลงเหลืออยู่ยังรวมตัวกันเป็นสมาคม,ชมรม เพื่อพบปะร่วมรำลึกถึงช่วงเวลาแห่งความประทับใจที่เคยร่วมรบกันมาฉันท์ทหารหาญ ไม่ต่างจากด้านของผู้ชนะที่เคยประจันหน้ากันมาเมื่อหกสิบกว่าปีก่อน
กางเขนเหล็กจึงเป็นเครื่องหมายของสงครามแท้ๆที่ผู้ได้เห็นต้องนึกถึงแต่สงครามที่ก่อกำเนิดมันขึ้นมา แม้ว่าจะมีประวัติอันยาวนานและมีรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ให้ค้นคว้า แต่โลหะชิ้นเล็กๆนี้คือเครื่องเตือนความทรงจำของผู้รักสงบว่าสันติภาพต่างหากคือสิ่งที่มนุษย์สมควรไขว่คว้า แทนที่จะเป็นการรบราฆ่าฟันซึ่งมีแต่ความพลัดพรากบาดเจ็บล้มตาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น