วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

i Podออกสนามรบ




บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ที่เกิดจากการหัวคิดของสตีฟ จ็อบส์ คือผู้นำด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ที่ตีคู่มากับไมโครซอฟต์ของบิล เกทส์ สร้างชื่อเสียงเริ่มแรกด้วยคอมพิวเตอร์แอปเปิล ได้เครื่องหมายการค้าจากลูกแอปเปิลที่ใช้กัดกินแล้ววางไว้ข้างคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันไม่มีใครไม่รู้จักไอโฟนและไอโฟน3จีสินค้าอินเทรนด์ที่กำลังทำตลาดในแวดวงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของแอปเปิล จากรูปทรงทันสมัยใช้งานง่ายด้วยการสัมผัสไอคอน เป็นโทรศัพท์ฉลาดที่เป็นได้มากกว่าโทรศัพท์โทรเข้า/ออก มีแอพพลิเคชั่นให้ดาวน์โหลดมากมายจนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น รวมทั้งเป็นเครื่องมือนำทางด้วยชิปรับสัญญาณจีพีเอสในตัว
แต่ก่อนจะมาเป็นไอโฟนผู้นำเทรนด์ในปัจจุบัน ยังมีสินค้าอีกตัวหนึ่งที่มาก่อนและได้ถูกทดลองใช้แล้วในกองทัพสหรัฐฯ มันคือไอพ็อด(iPod)อุปกรณ์เพื่อจัดเก็บไฟล์เพลงได้เป็นพันๆเพลงในหลายระดับความจุหน่วยความจำ ดูวิดีโอได้ ฟังเพลงได้ เป็นออร์แกไนเซอร์ช่วยจัดระเบียบไฟล์งานของคุณก็ได้ และในปัจจุบันนี้กองทัพบกสหรัฐฯกำลังพยายามจะนำเครื่องมือขนาดเล็กกว่าฝ่ามือนี้ไปใช้ในสนามรบ ไม่ใช่เพื่อความเพลิดเพลินของทหารแต่เพื่อให้รบได้ง่ายขึ้นและชนะเร็วขึ้น ลดการสูญเสียกำลังพล!
นับแต่ไอพ็อดออกสู่ตลาดเมื่อ23ตุลาคม 2001 มันกลายเป็นผู้นำในเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งด้านความบันเทิงและใช้งานในชีวิตประจำวัน ด้วยความหลากหลายในหน้าที่ของเครื่องมือเล็กจิ๋วนี้กองทัพสหรัฐฯจึงให้ความสนใจ ด้วยความคิดว่าน่าจะมีอะไรในไอพ็อดที่จะช่วยหน่วยรบภาคพื้นดินให้รบได้ง่ายขึ้น บริษัทVcom 3D Incจึงถูกเลือกเข้ามาพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้กับไอพ็อดเพื่อการทหารโดยเฉพาะ ซอฟต์แวร์ตัวที่ว่านี้คือ Vcommunicater Mobile ด้วยไอพ็อดและวีคอมมิวนิเคเตอร์ฯมีคุณประโยชน์มหาศาลทั้งด้านการสงวนชีวิตกำลังพล นำทาง แม้แต่การแกะรอยกองกำลังข้าศึกทั้งในอิรักและอาฟกานิสถาน
ขณะนี้ไอพ็อดกับวีคอมมิวนิเคเตอร์ฯ700ชุดได้ออกปฏิบัติงานสนามพร้อมทหารราบแล้ว จุดเด่นคือมีถ้อยคำและประโยคต่างๆในภาษาอาหรับ,ภาษาเคิร์ดและภาษาปาชตูนบรรจุอยู่300ชุด พร้อมรูปแสดงท่าทางประกอบ เพียงพอให้ทหารสื่อสารกับใครก็ตามที่พูดภาษาดังกล่าวได้โดยเขาเหล่านั้นไม่ต้องเข้าใจภาษาอังกฤษ ถ้าอ่านหนังสือไม่ออกเพราะไม่ได้เรียนก็ไม่เป็นไร มีลำโพงเล็กติดเครื่องให้ส่งเสียงเป็นภาษาถิ่นได้ด้วย บอกได้ตั้งแต่วลีง่ายๆอย่าง”หยุด...ยกมือขึ้น”ไปจนถึงเป็นประโยคที่ค่อนข้างซับซ้อนในภาษานั้นๆ
พร้อมกันนี้ยังแสดงภาพในจอเป็นท่าทางต่างๆ เพื่อทำให้บอกชาวถิ่นในระยะไกลเมื่อสื่อสารด้วยคำพูดหรือตัวอักษรไม่เข้าใจ ไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดเพราะไอพ็อดทหารมีเครื่องชาร์จแบตฯด้วยพลังแสงอาทิตย์ติดเป้ไว้พร้อม เพราะทหารอเมริกันชอบพกไอพ็อดไว้คลายเครียดอยู่แล้วจึงไม่ยากที่จะนำมันเข้าสนามรบด้วยในซองกันน้ำ การมีซอฟต์แวร์วีคอมมิวนิเคเตอร์ฯมาดาวน์โหลดลงเครื่องจึงไม่ยาก ดาวน์โหลดเสร็จฝึกการค้นหาคำต่างๆเพื่อความคุ้นเคยด้วยตัวเองอีกวันครึ่งวันก็พร้อมออกศึก ทหารที่เคยมีประสบการณ์กับไอพ็อดประกอบซอฟต์แวร์ตัวนี้มาแล้วบอกว่ามันลดความสับสนได้ และเพิ่มความร่วมมือในหมู่ชาวพื้นเมืองที่ไม่พูดภาษาอังกฤษได้มาก ทำให้การตรวจค้นหรือค้นหาเป้าหมายราบรื่นขึ้นกว่าแต่ก่อนซึ่งทหารไม่สามารถสื่อสารได้หากไม่กางคู่มือหรือต้องอาศัยท่าทางที่พูดกันจนเมื่อยมือ
ทั้งที่ในตลาดปัจจุบันมีเครื่องเก็บและเล่นไฟล์MP3อยู่หลายแบรนด์แต่ทำไมต้องเป็นไอพ็อด? คำตอบง่ายนิดเดียวคือเพราะวีคอมมิวนิเคเตอร์ถูกพัฒนาให้ใช้มานานแล้วในรูปแบบพลเรือน เฉพาะกับไอพ็อดรุ่นมาตรฐานและไอพ็อดนาโน(รุ่นเล็ก) เพื่อให้ใช้งานได้หลากหลายขึ้นนัยว่าเพื่อขยายตลาด วีคอมมิวนิเคเตอร์ฯจึงถูกพัฒนาให้ใช้งานกับไอโฟนและไอพ็อด ทัชด้วยในปัจจุบัน ทำของให้พลเรือนใช้อยู่แล้วถ้าจะทำให้ทหารใช้อีกก็ไม่เห็นจะยาก
เออร์นี่ ไบรท์ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและจัดการผลิตภัณฑ์แห่งวีคอมมิวนิเคเตอร์ฯกล่าวว่า”ทั้งไอโฟนและไอพ็อด ทัชคือเครื่องช่วยให้วีคอมมิวนิเคเตอร์ทำงานได้อ่อนตัวและแพร่หลายมากขึ้น คุณสมบัติที่นับว่าดีมากของวีคอมมิวนิเคเตอร์ฯคือมันใช้ง่าย ไม่ต้องฝึกฝนนาน ทหารสนุกเมื่อใช้มันเพราะน้ำหนักไอพ็อดน้อยไม่เพิ่มภาระให้เครื่องหลังที่แต่ละคนต้องแบกหนักถึง30กว่ากิโล แค่ให้พวกเขาดาวน์โหลดวีคอมมิวนิเคเตอร์แล้วทุกอย่างก็จบ ตอนผมไปบรรยายทหารยังพยายามถามผมเป็นคำพูดและท่าทางแบบภาษาอาหรับจากเจ้าเครื่องนี้ด้วยซ้ำ”
กองพลภูเขาที่10คือหน่วยรบแรกที่ทดสอบไอพ็อดทหาร เพื่อประเมินผลก่อนจะพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพภารกิจยิ่งขึ้นและทำโครงการใหญ่กว่าในอนาคต ความจริงคือมันเริ่มต้นจากแนวความคิดมาเป็นรูปธรรมและใช้ในอิรักกันเลยนาน10เดือนแล้ว ทั้งสี่เหล่าทัพของสหรัฐคือท.บ.,ท.อ.,ท.ร.และน.ย.ต่างใช้ไอพ็อดกันทั่วหน้าแต่ที่คิดจะเอามาใช้รบกันจริงๆจังๆคือท.บ. รวมทั้งหน่วยรบสำคัญในอิรักคือกองพลส่งทางอากาศที่82”ออลอเมริกัน” และกองพลทหารราบที่4
เมื่อพูดถึงบริษัทวีคอม3ดีแล้วบริษัทนี้ไม่ใช่มือใหม่ เพราะถนัดเรื่องการสร้างกราฟิคและวางระบบการสื่อสารมานานโดยเฉพาะการสื่อสารด้วยภาพทั้งนิ่งและเคลื่อนไหว ด้วยความสามารถเฉพาะทางอันเป็นที่รู้จักนี้เองจึงถูกกองทัพเลือกใช้ให้พัฒนาเครื่องช่วยสื่อสารสำหรับภารกิจในตะวันออกกลาง เมื่อไอพ็อดคืออุปกรณ์สื่อสารหนึ่งที่ทหารอเมริกันเกือบทุกชั้นยศใช้เพื่อความบันเทิงกันอยู่แล้ว จึงง่ายที่จะสร้างซอฟต์แวร์ประกอบให้ทหารพกพาไปรบด้วย
วีคอมมิวนิเคเตอร์ติดไอพ็อดช่วยรักษาชีวิตทหารอเมริกันไว้ ด้วยการสื่อสารที่เข้าใจง่ายกับชาวท้องถิ่น ช่วยให้ทหารอเมริกันปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอันแตกต่างได้ง่าย และรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากเพื่อจะได้ปฏิบัติภารกิจหลักคือการค้นหาและทำลายหรือควบคุมตัวโดยไม่ต้องพะวง การทำหน้าที่ในอิรักและอาฟกานิสถานไม่เหมือนกับการประจำการในเยอรมนี ที่ทหารสามารถเดินออกจากฐานไปดื่มเบียร์แล้วคุยสรวลเสเฮฮากับคนในละแวกนั้นพร้อมกับเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นได้
ชาวอิรักและอาฟกานิสถานระวังตัวเองมากกว่านั้นโดยส่วนหนึ่งยังมองอเมริกันอย่างไม่ไว้ใจ ในฐานะผู้ยึดครองที่สร้างความเสียหายให้ชีวิตและทรัพย์สินของตน กราฟิคบนจอแสดงท่าทางการทักทายทำให้ทหารสื่อสารกับชาวบ้านได้อย่างสนิทใจยิ่งขึ้น เมื่อเขากดปุ่มบนไอพ็อดแล้วพบภาพทหารเอามือทาบตรงหัวใจก่อนกล่าวคำสวัสดีเป็นภาษาถิ่น หรือสื่อสารได้เข้าใจมากกว่าเดิมเมื่อต้องการให้หยุดแล้วเอาฝ่ามือมาประกบกันพร้อมกับพูดบอก
สำหรับประโยคยาวๆและยากที่จะจำหรือพูด ลำโพงจากไอพ็อดก็ดังพอที่จะบอกอีกฝ่ายถึงความต้องการของทหาร หรือจะต่อสายเขาลำโพงใหญ่หลายพันวัตต์เพื่อกระจายเสียงให้ชุมชนทราบก็ยังได้ ในระยะประชิดถ้าทหารขี้เกียจจะพูดเขายังเรียกคนที่พบให้เข้ามาอ่านข้อความบนไอพ็อดเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันได้ นี่คือหนึ่งในหลายๆวิธีที่จะสื่อสารกับคนท้องถิ่นด้วยไอพ็อดและซอฟต์แวร์วีคอมมิวนิเคเตอร์ฯ
ส่วนภารกิจไล่ล่าที่ต้องการบรรยายรูปพรรณสัณฐานของผู้ต้องหาในเหตุต่างๆ เช่นลอบสังหาร,วางระเบิด รูปถ่ายหน้าตรงของเป้าหมายซึ่งดาวน์โหลดลงไอพ็อดก็จะช่วยได้เพียงยื่นมันให้คนที่คิดว่าจะรู้จักได้เห็น มันง่ายกว่าการบอกเล่า สะดวกกว่าการทำท่าทางหรือสเก็ตช์รูปให้ดูซึ่งต้องใช้ความชำนาญสูง ผิดพลาดเพียงนิดเดียวอาจนำสู่การจับผู้ต้องหาผิดตัวจนสร้างความเข้าใจผิดลุกลาม กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติได้ในพริบตา ทหารเพียงแต่แสดงรูปบนไอพ็อดกับคนที่อยากจะถาม ถ้ารู้จักก็จะถามตำแหน่งว่าอยู่ตรงไหนพร้อมแสดงแผนที่ดาวเทียมที่ดาวน์โหลดไว้พร้อมให้ดู แหล่งข่าวเพียงแต่ชี้และอธิบายอีกเล็กน้อยเท่านั้นทีมล่าก็จะตามแผนที่ไปสู่เป้าหมายได้โดยง่าย(ถ้าชี้ถูกทางและไม่ใช่กลลวงให้ไปตายทั้งทีม)
ทั้งไอพ็อดและซอฟต์แวร์วีคอมมิวนิเคเตอร์โมไบล์นี้ คืออีกหนึ่งในความพยายามรีดเค้นประสิทธิภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศของพลเรือนที่นิยมในกองทัพสหรัฐฯมาใช้ช่วยรบให้มากที่สุด ด้วยผลลัพธ์คือรบง่ายกว่าเดิมและที่สำคัญคือเพื่อลดการสูญเสียกำลังพล ด้วยแนวความคิดว่าดึงเอาของที่ใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วมาประกอบกับเฟอร์นิเจอร์ใหม่ที่ลงตัวได้เหมือนต่อจิ๊กซอว์
หากจะพูดให้ง่ายเข้าก็คือกองทัพสหรัฐฯช่างสังเกต แล้วหยิบเอาของใช้ประจำวันของทหารมาดัดแปลงเป็นเครื่องช่วยรบนั่นเอง

Ejection seat เก้าอี้เพื่อสุขภาพ




เก้าอี้ตามชื่อเรื่อง ไม่ใช่เก้าอี้เข็นคนไข้ในโรงพยาบาลหรือเก้าอี้นวดหยอดเหรียญตามห้าง แต่มันเป็นเก้าอี้เหล็กในเครื่องบินรบเจ็ตที่นักบินใช้ดีดตัวหนีตายเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจนบังคับเครื่องต่อไปไม่ได้แล้ว เก้าอี้ดีดตัว(ejection seat)ที่มีอยู่ในเครื่องบินเจ็ตทุกเครื่องปัจจุบันนี้ มีวิวัฒนาการยาวไกลมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่1ไม่กี่ปี แม้สองพี่น้องตระกูลไรท์และนักสร้างเครื่องบินรุ่นต่อมาจะสร้างเครื่องบินได้หลายแบบ แต่นักบินทหารในสงครามโลกครั้งที่1บางส่วน ยังคงยึดความคิดว่าจะเสื่อมเสียเกียรติอย่างมากถ้าโดดหนีตายจากเครื่องบิน มีหลายนายที่ขึ้นบินโดยไม่พกร่มชูชีพ ความเร็วของเครื่องบินตอนนั้นยังช้าเกินกว่าจะมีคนคิดถึงเก้าอี้ดีดตัวกันอย่างจริงจัง กว่าจะตัดสินใจสร้างกันเป็นเรื่องเป็นราวก็เริ่มเอาเมื่อสงครามโลกครั้งที่1สงบ พัฒนาต่อกันมาถึงกลางสงครามโลกครั้งที่2และต้นสงครามเย็น นักบินที่ใช้มันอาจจะสุขภาพไม่ดีขึ้นก็จริงแต่ก็ยังรอด
เทคโนโลยีเจริญขึ้นเครื่องบินก็บินเร็วขึ้น ถ้าเครื่องยนต์ถูกพัฒนาให้แรงขึ้นได้นับแต่วันที่เครื่องบินเครื่องแรกบินได้ มันก็น่าจะแรงกว่าเดิมได้อีกในอีก20-30ปีข้างหน้า ยิ่งเครื่องแรงนักบินก็ยิ่งหนีเอาตัวรอดได้ยากเมื่อต้องสละเครื่อง
เก้าอี้เพื่อสุขภาพ(หรือเพื่อชีวิต)ของนักบินตัวแรกของโลกจึงเกิดขึ้น จากความคิดของเอฟเวอราร์ด คาลธรอป นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษผู้คิดค้นร่มชูชีพซึ่งได้จดสิทธิบัตรเก้าอี้ดีดตัวด้วยอากาศอัดแรงดันสูงเป็นคนแรก ต่อมาไม่กี่ปีมันได้ถูกพัฒนาให้ดีกว่าเดิมด้วยฝีมือของอานาสตาเซ ดราโกมีร์นักประดิษฐ์ชาวโรเมเนีย ทดสอบจนใช้งานได้เมื่อ25สิงหาคม1929ในสนามบินออร์ลีกรุงปารีส เขาจดสิทธิบัตรเอาไว้ที่สำนักจดทะเบียนสิทธิบัตรกรุงปารีสเมื่อ2เมษายน 1930(สิทธิบัตรหมายเลข678566) แต่ยังไม่มีบริษัทสร้างเครื่องบินไหนซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิต เพราะตราบใดที่นักบินยังปีนออกจากค็อกพิตได้สบายๆก็ไม่เห็นจะต้องพึ่งพาเก้าอี้ดีดตัวให้ยุ่งยาก น้ำหนักก็มากแถมยังใช้ลมขับเคลื่อนอีกซึ่งยังถือว่าใหม่เหลือเกินสำหรับนักบินและวิศวกรในสมัยนั้น
กว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันกับความคิดได้ก็ล่วงเลยถึงสงครามโลกครั้งที่2ระเบิด เครื่องบินขับไล่ใบพัดเดียวทำความเร็วได้500-700ก.ม./ช.ม.แล้วเมื่อฮิตเลอร์เปิดฉากรุกรานโปแลนด์ แรงลมและแรงเหวี่ยงหนีศูนย์(แรงG)มากพอที่จะทำให้นักบินบาดเจ็บหรือตาย หากโดดออกไม่ไกลพอจนถูกแรงลมพัดไปฟาดกับแพนหาง หรือถ้าเคราะห์ร้ายดึงร่มเร็วเกินไปสายลมอาจพันกับตัวเครื่องจนร่วงพื้นพร้อมเครื่องบินเสียชีวิตได้เช่นกัน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่2จึงมีบริษัทผู้สร้างเครื่องบินรายใหญ่ๆ สองบริษัทที่พัฒนาเก้าอี้ดีดตัวอย่างจริงจังแต่แยกกันทำงานคือไฮน์เกลของเยอรมนีและซาบของสวีเดน ที่พัฒนาเก้าอี้ดีดตัวตามแนวความคิดใช้อากาศอัด ไฮน์เกลทำเสร็จก่อนเพราะเยอรมันกำลังเร่งรุกไล่ประเทศคู่สงคราม แล้วบรรจุเก้าอี้ดีดตัวระบบอากาศอัดของตนลงในเครื่องบินเจ็ตต้นแบบรุ่นHe 280 และใช้เก้าอี้ดีดตัวแบบแรกด้วยในปี1940 เฮลมุท เชงค์คือนักบินทดสอบคนแรกของเยอรมันเช่นกันที่ได้ใช้เก้าอี้ดีดตัว เมื่อพื้นบังคับ(ปีกเล็กแก้เอียง,แพนหางตั้งและดิ่ง)ของเครื่องถูกน้ำแข็งจับจนบับคับเครื่องบินไม่ได้ในวันที่13มกราคม 1942
ส่วนทางสวีเดนที่ใช้อากาศอัดเช่นกันนั้นเริ่มทดสอบเมื่อปี1941 อีกแบบซึ่งใช้แรงระเบิดขับดันเก้าอี้จากดินปืนเป็นฝีมือของบริษัทโบฟอร์สที่มาสำเร็จและทดสอบในปี1943เพื่อจะใช้กับเครื่องบินซาบ21 แต่เก้าอี้ที่ได้ใช้งานจริงๆกลับเป็นซาบ17ที่ทดสอบเมื่อ27กุมภาพันธ์1944 นักบินของสวีเดนได้มีประสบการณ์ตรงกับเก้าอี้ดีดตัวรุ่นแรกนี้ในปฏิบัติการจริงเมื่อ29กรกฎาคม1946 ในอุบัติเหตุชนกันกลางอากาศระหว่างเครื่องบินชาติเดียวกันคือเจ21และเจ22 ผลคือนักบินรอดทั้งคู่เพราะเก้าอี้ดีดตัวรุ่นใช้งานนี้มีอุปกรณ์นิรภัยพร้อม
ย้อนกลับมาทางด้านเยอรมนีในปี1944 เครื่องบินขับไล่เจ็ตของไฮน์เกลรุ่นเอชอี162”โฟล์คชทวร์ม”ดูเหมือนจะไปได้ไกลกว่าสวีเดนตรงที่ใช้เก้าอี้ระบบคล้ายคลึงปัจจุบัน คือพุ่งขึ้นด้วยแรงดันแก๊ซจากดินระเบิด ตัวเก้าอี้เลื่อนขึ้นตามรางด้วยลูกล้อหลังพนัก ดูกันตามสภาพแล้วไม่น่าจะให้นักบินปีนแล้วโดดเองเลยเพราะเครื่องยนต์เจ็ตอยู่เหนือห้องนักบินพอดี มีสิทธิ์ถูกดูดเข้าไปตายคาเครื่องยนต์ตัวเองถ้าไม่ดีดให้ห่าง ช่วงสงครามใกล้สงบเครื่องบินรุ่นปลายๆของเยอรมันต่างติดตั้งเก้าอี้ดีดตัวชนิดนี้เป็นแถว ทั้งดอร์นีร์ โด-335”ฟีล”,เมสเซอร์ชมิตต์ เอ็มอี-262”ชวัลเบ”และเอ็มอี-163”โคเม็ต”
สภาพการณ์เป็นไปดังคาดเอาไว้จริงๆ เครื่องบินรบทำความเร็วสูงขึ้นได้จนใกล้ทะลุกำแพงเสียง ดาวรุ่งพุ่งแรงด้านนี้กลับไม่ใช่สวีเดนและเยอรมนีที่นำแนวคิดของนักประดิษฐ์ชาวโรมาเนียมาพัฒนา ชื่อที่ต่อมาเป็นที่คุ้นหูของนักบินขับไล่ทั่วโลกกลับกลายเป็นของเซอร์เจมส์ มาร์ติน และบริษัทของเขาคือมาร์ติน เบเคอร์ที่ผลิตเก้าอี้ดีดตัวให้เครื่องบินรุ่นแล้วรุ่นเล่าของค่ายตะวันตกมาตลอด เริ่มต้นด้วยแบบดีดตัวลงล่างแทนที่จะพุ่งขึ้นบนเหมือนปัจจุบัน ก่อนจะพัฒนามาเป็นรูปแบบต่างๆทั้งดีดเก้าอี้ตัวเดียวและดีดได้ทั้งค็อคพิตแบบยกลอยทั้งยวง ปัจจุบันมาร์ติน-เบเคอร์คือเก้าอี้ดีดตัวที่ดีที่สุดที่ได้รับความไว้วางใจ ให้ประกอบเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ๆรวมทั้งเอฟ16และยาส39”กริปเปน”ที่จะเข้าประจำการในท.อ.ไทย
ระบบเก้าอี้มาร์ติน-เบเคอร์สมบูรณ์แบบประกอบเครื่องบินทดสอบ ขึ้นบินครั้งแรกเมื่อ24กรกฎาคม 1946 นักบินผู้โชคดีคือเบอร์นาร์ด ลินช์ผู้ดีดตัวออกจากเครื่องบินกลอสเตอร์ มีทีออร์ มาร์ค3 ถัดมาคือ17สิงหาคมปีเดียวกันจ่าสิบเอกลาร์รี่ แลมเบิร์ตแห่งสหรัฐฯก็ดีดตัวตาม แล้วหลังจากนั้นเครื่องบินรบโดยเฉพาะเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินโจมตีทั้งอังกฤษและอเมริกันทุกแบบต่างต้องติดตั้งเก้าอี้ชนิดนี้
เก้าอี้ดีดตัวใช้งานจริงยุคแรกๆจะใช้เชื้อเพลิงแข็งยิงตัวนักบินออกไปพร้อมเก้าอี้ ด้วยการจุดระเบิดในท่อติดหลังที่นั่งให้เก้าอี้และนักบินพุ่งออกไปตรงๆเหมือนกระสุน พอความเร็วเครื่องบินสูงขึ้นตามเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด วิธียิงตัวนักบินพ้นเครื่องแบบนี้ก็เริ่มไม่เหมาะสมเพราะนักบินอาจลอยไม่พ้นตัวเครื่อง และความแรงของระเบิดอาจทำให้กระดูกสันหลังหัก การใช้เครื่องยนต์จรวดจึงเข้ามาแทนที่ในช่วงทศวรรษที่1960กับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง เพื่อให้ดีดได้ไกลกว่าและนุ่มนวลกว่ารวมทั้งปลอดภัยกับตัวนักบิน ถึงจะคิดเอาไว้เผื่อให้ดีดตัวได้ในความเร็วเหนือเสียง แต่ในสภาพจริงนักบินมักจะดีดตัวกันที่ความเร็วต่ำกว่าเสียงเป็นส่วนใหญ่ หลังจากพยายามบังคับเครื่องกันสุดความสามารถและดีดตัวออกเมื่อตระหนักว่าควบคุมเครื่องบินไม่ได้แล้วเท่านั้น
วัตถุประสงค์ของเก้าอี้ดีดตัวแท้ๆคือเพื่อให้นักบินรอด คำว่า”รอด”ก็คือยังมีชีวิตอยู่โดยอาจมีอาการไม่ปกตินักหลังจากใช้มัน มีหลายรายที่แข้งขาหักเพราะดีดตัวที่ความเร็วเกิน1มัคจากความเร็วลมที่พัดปะทะจนอวัยวะบิดตัว และอีกมากที่ต้องหยุดบินไปเลยเพราะพิการหรือบาดเจ็บหนักจนการบินความเร็วสูงอาจเป็นอันตราย นอกจากจะพบกับลมปะทะรุนแรงแล้วนักบินยังต้องพบกับแรงเหวี่ยงหนีศูนย์มากถึง 12-14จี ถือว่ากรุณากันมากแล้วสำหรับเก้าอี้ดีดตัวจากยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ เก้าอี้ของค่ายโซเวียตช่วงทศวรรษ1960-70ทารุณกรรมนักบินของตนหนักกว่านั้นด้วยแรงเหวี่ยง20-22จี แต่ปัจจุบันเก้าอี้ดีดตัวทั่วโลกถูกพัฒนาให้นักบินดีดได้สบายตัวยิ่งขึ้นไม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปแบกรับแรงจีมากเหมือนยุคแรกๆ
ใช่ว่าตัวนักบินจะได้รับผลกระทบจากการดีดด้วยเครื่องยนต์จรวดหลังที่นั่ง ตัวเครื่องบินเองก็โดนหนักไม่แพ้กัน อุปกรณ์ในห้องนักบินทั้งหมดจะถูกไฟท้ายจรวดเผาไหม้ใช้การไม่ได้ และตัวแอร์เฟรม(โครงสร้าง)เองก็จะถูก”กระทืบหนี”ด้วยพลังมหาศาลประมาณ20จี ในทางเทคนิคแล้วนักบินจะดีดหนีเครื่องเมื่อบังคับเครื่องไม่ได้กลางอากาศ ปล่อยให้เครื่องบินตกพังเพื่อรักษาชีวิตตัวเองไว้ คำถามต่อมาคือ”ถ้าเครื่องบินขัดข้องบนรันเวย์แล้วนักบินดีดตัวออกล่ะ ตัวเครื่องบินที่ยังไม่ตกแต่จอดบนพื้นจะใช้งานได้หรือไม่?” ตอบได้ว่าเครื่องบินเครื่องนั้นต้องถูกเอ็กซ์เรย์โครงสร้างหารอยร้าวกันทั้งลำ เปลี่ยนอุปกรณ์ภายในห้องนักบินใหม่ทั้งระบบด้วยเงินมหาศาล ไม่จำหน่ายทิ้งก็เหมือนจำหน่ายเพราะซ่อมนานและแพง หลังจากนั้นคงไม่มีใครอยากบินกับมันอีกเพราะคงหาความมั่นใจในความปลอดภัยได้ยาก
“เก้าอี้ตัวนี้ราคาเท่าไร?” คำถามคลาสสิกที่เกิดขึ้นเสมอพร้อมการเสนอบทความทางยุทโธปกรณ์ จะแพงแค่ไหนนั้นขึ้นกับระบบที่มีหลากหลาย ทั้งอัตโนมัติและที่นักบินต้องบังคับเอง ซึ่งมีตั้งแต่ไม่กี่ล้านจนถึง50กว่าล้านบาทหรือมากกว่านั้นได้อีกตามความซับซ้อนของระบบ เครื่องบินขับไล่เอฟ16ที่มีในกองทัพอากาศของไทยนั้นเป็นแบบเอซเซสทูว์(Ace II)ของมาร์ติน-เบเคอร์ สนนราคาตัวละ(ประมาณ)50ล้านบาท นั่งก็ไม่สบายเหมือนเก้าอี้นวมที่บ้านแต่ช่วยนักบินรอดได้ แพงบ้าเลือดแต่ก็คุ้มเมื่อเทียบกับชีวิตมนุษย์ซึ่งประมาณค่ามิได้ โดยเฉพาะนักบินซึ่งกว่าจะฝึกให้พร้อมรบได้รัฐต้องเสียงบประมาณต่อคนไปมากพอๆกับราคาเก้าอี้ อยากให้จบในตอนนี้เหลือเกินแต่ยังมีรายละเอียดให้เสนอต่อ ฉบับหน้าจะได้ทราบกันล่ะว่ามันดีดตัวออกได้อย่างไร





Tactical vest สวมสบาย ถอดง่าย ปลอดภัยกว่า




ในการปฏิบัติภารกิจแต่นานมา ทหารจะเข้าสู่สนามรบพร้อมอาวุธและยุทโธปกรณ์อื่นมากกว่า1สิ่ง ต้องมีเครื่องช่วยติดตัวไปด้วยเพื่อให้รบได้คล่องแคล่ว มือว่างทั้งสองมือเพื่อป่ายปีนและใช้อาวุธ เริ่มจากเอามีดสั้นเหน็บเข็มขัดดาบยาวสะพายไหล่ ถ้ามีธนูก็สะพายกระบอกใส่ลูกธนู้ไว้ข้างหลัง ต่อมาเมื่อโลกเจริญขึ้นจนมีกระสุนดินดำใช้ยุทโธปกรณ์ติดตัวทหารก็มากขึ้น เขาต้องเข้าสู้รบพร้อมกับอาวุธคือปืนและเครื่องกระสุนอันประกอบด้วยไม้กระทุ้ง,กระสุน,แก็ปและดินดำรวมทั้งน้ำดื่มและอาหาร คำถามคือจะเอาพวกเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดนี้ไว้ตรงไหนจึงจะหยิบใช้งานได้ง่ายและเร็วที่สุด? คำตอบอันเกิดจากสามัญสำนึกเมื่อใช้งานคือที่เอว เข็มขัดสนามยุคแรกจึงเกิดขึ้นพร้อมกับปืนคาบศิลาและกระสุนดินดำเมื่อหลายร้อยปีก่อน
ในยุคอุตสาหกรรมเมื่ออาวุธดีขึ้น กระสุนเป็นโลหะหัวแหลมคัดปลอกด้วยการดึงลูกเลื่อน น้ำหนักของยุทโธปกรณ์ติดตัวทหารก็มากขึ้น น้ำหนักมากทำให้กดทับส่วนสำคัญคือเอว เดินมากๆก็เมื่อย ไม่นับถึงความเจ็บปวดยามวิ่งและคลานสูง/ต่ำไปในภูมิประเทศ มีหลายครั้งที่ต้องม้วนพลิกตัวจัดท่าทางการใช้อาวุธ ฉุดกระชากลากถูอุปกรณ์ต่างๆไปตามพื้น ความพยายามเพื่อลดน้ำหนักติดตัวทหารหรืออย่างน้อยก็ช่วยให้ทหารสบายตัวขึ้นจึงมีอยู่ตลอดเวลา ยิ่งคิดกันมากขึ้นเมื่อเริ่มสงครามโลกครั้งที่1ด้วยความคิดว่าต้องนำอุปกรณ์ติดตัวทหารไปให้มากแต่ขณะเดียวกันต้องลดภาระจากความอ่อนล้าเพราะน้ำหนักกดเอว อันจะทำให้ทหารอ่อนล้าจนด้อยประสิทธิภาพได้แม้ยังไม่ได้เข้าสู้รบ
สายรั้งเข็มขัดสนามหรือ”สายเก่ง” จึงเป็นอุปกรณ์มาตรฐานติดเครื่องแบบสนาม ปรากฏให้เห็นในภาพประวัติศาสตร์ทั้งในกองทัพเยอรมัน,อังกฤษ,สหรัฐฯและชาติพันธมิตร ประโยชน์คือมันช่วงแบ่งเบาน้ำหนักกดทับจากบั้นเอวให้กระจายไปยังไหล่และแผ่นหลัง เมื่อเดินและวิ่งน้ำหนักยุทโธปกรณ์จะไม่กดเอวมากจนเจ็บเพราะถูกเฉลี่ยมาไว้ที่สายเก่ง
กองทัพใหญ่ๆใช้สายเก่งกับเข็มขัดสนาม ทั้งที่ผลิตจากหนังแท้และผ้าใบแพร่หลายมาตั้งแต่ประมาณปีค.ศ.1910 ด้วยอุปกรณ์มาตรฐานติดตัวทหารคือเครื่องกระสุน อุปกรณ์ปฐมพยาบาล พลั่วสนาม กระติกน้ำดื่ม ระเบิดขว้าง กระเป๋าอาหาร แผนที่,เข็มทิศ ปืนพกพร้อมซองกระสุนและกระสุนสำรอง มีด/ดาบปลายปืน ทั้งหมดนี้รวมน้ำหนักได้เกือบ10ก.ก.ที่ติดอยู่รอบเอว เปรียบเทียบกับนิยายจะพบว่าทหารหนึ่งนายพกของออกไปรบที่เอวได้มากพอๆกับแบ็ตแมน แต่หนักกว่าเพราะเป็นของใช้งานจริง ถ้าไม่มีสายเก่งมารั้งเฉลี่ยน้ำหนักลงไหล่และแผ่นหลังการเดินทางในภูมิประเทศจะเป็นสิ่งทรมานสังขารที่สุด ยังไม่รวมเป้เครื่องหลังและอาวุธประจำกายหนักรวมกัน30กว่าก.ก.เต็มอัตรา
สายเก่งประกอบเข็มขัดสนามถูกใช้งานมายาวนานเกือบศตวรรษ ถึงจะเปลี่ยนแปรรูปแบบไปบ้างแต่ส่วนประกอบสำคัญก็ยังคงเดิม กองทัพสหรัฐฯให้ชื่อมันเป็นทางการว่าระบบเครื่องสนามเอนกประสงค์(อลิซ : ALICE : All Purposes Light weight Individual Carrying Equipment)และยังใช้มันเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ที่ต้องเรียกว่า”ระบบ”(system)เพราะมีอุปกรณ์ย่อยๆมาประกอบกันเพื่ออำนวยความสะดวก จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้แต่อุปกรณ์หลักๆคือเข็มขัดสนามและสายเก่งยังคงอยู่เป็นฐาน
พัฒนาการระบบนำอุปกรณ์ติดตัวทหารเข้าสนามรบเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จาก”อลิซ”ที่เข้ามาแทนที่อุปกรณ์เดิมคือ”แอลซีอี”(LCE M-1956:Load Carrying Equipment)ใช้งานเป็นทางการจากค.ศ.1956-ถึงปีค.ศ.1973ช่วงปลายสงครามเวียตนาม กลายมาเป็น”เอ็มแอลซีอี”(MLCE M-1967:Modernized Load-Carrying Equipment)เพื่อให้ทหารนำยุทโธปกรณ์ติดตัวไปรบได้มากกว่าแต่สบายกว่าเดิม
นอกจากสหรัฐฯแล้วยังมีอีกหลายชาติ ที่พยายามปรับปรุงระบบเดียวกันของตัวเองขึ้นมาใช้งานให้เหมาะกับสภาพอากาศและภูมิประเทศ โดยทั้งหมดยังยึดพื้นฐานใกล้เคียงกับสหรัฐฯที่ว่าต้องมีสายรั้งเข็มขัดเพื่อแบ่งเบาภาระน้ำหนักจากบั้นเอวทหาร ซึ่งข้อดีคือเหมาะสำหรับการรบในเขตป่าที่ต้องการความคล่องตัว เครื่องแบบสนามประกอบLCEทำให้ทหารเคลื่อนไหวง่ายไร้สิ่งเกะกะหน้าและหลัง นำพากระสุนไปได้ทั้งของอาวุธประจำกายและของปืนพก
เมื่อหลักนิยมของการทำสงครามเปลี่ยนไป จากการรบในป่ายิงกันไกลๆมาเป็นการรบในเมืองที่ยิงกันใกล้ขึ้นและซุ่มยิง/ถูกยิงได้รอบตัว ทหารจึงเคลื่อนที่ช้ากว่าเดิมและต้องสวมเกราะ คำถามก็ตามมาอีกว่าถ้าสวมเกราะพร้อมสายเก่งและเข็มขัดสนามจะไม่รุงรังแย่หรือ? คำตอบก็คือต้องมีระบบใหม่ที่ช่วยให้ทหารรบได้ทั้งเสื้อเกราะแต่ในขณะเดียวกันต้องใช้พื้นที่ว่างทั้งด้านหน้า,หลังและข้างลำตัวให้ได้ประโยชน์ เป็นที่มาของตัวย่อว่า”MOLLE”หรือชื่อเต็มว่า”Modular Lightweight Load-carrying Equipment” เรียกง่ายๆให้จำได้ถนัดๆว่า”มอลลี่”
ด้วยวิธีง่ายๆคือใช้แถบผ้าใบหรือไนลอนหนาเย็บติดเข้ากับเป้และอุปกรณ์สนามอื่นๆ เช่นซองปืน,กระเป๋าอุปกรณ์ติดเข็มขัสนามฯลฯ เว้นระยะเย็บเป็นช่องเล็กๆติดไว้หลายแถบเรียงกันลงมาในแนวดิ่ง ช่องพวกนี้จะเป็นจุดสอดตัวยึดหรือแถบยึดของกระเป๋าใส่อุปกรณ์ได้หลากหลาย ทั้งซองกระสุน ซองวิทยุ กระเป๋าอาหารและอื่นๆอีกมากมายที่จะกระจายตัวกันอยู่เต็มแผ่นหน้าและหลัง ตั้งแต่แนวกระดูกไหปลาร้าถึงแนวเข็มขัดของอุปกรณ์อีกตัวที่พร้อมเป็นฐานให้สับเปลี่ยนอุปกรณ์ประกอบได้
อุปกรณ์ที่ว่านี้คือเสื้อหุ้มเกราะเอนกประสงค์(MTV :Modular Tactical Vest) รูปแบบใหม่ของเกราะกันกระสุนแบบเอนกประสงค์ ประกอบด้วยเปลือกระบบมอลลี่และตัวแผ่นเกราะที่ทหารสามารถเปลี่ยนเองได้ แค่ดึงฝาแถบเวลโครออกแล้วเลือกแผ่นเกราะเซรามิกที่มีหลายระดับการป้องกันสอดเข้าไป ตั้งแต่แบบที่ป้องกันแค่กระสุนปืนพก11ม.ม.ได้ไปจนถึงกันกระสุนปืนกลเบาขนาด5.56ม.ม.และกระสุนปืนอาก้าขนาด7.62มิลลิเมตร
เกราะชนิดนี้คือนวัตกรรมที่ช่วยให้ทหารปลอดภัยและสบายตัวได้จริงในการรบเขตเมือง ด้วยเปลือกผ้าคอร์ดูราชั้นนอกพร้อมช่องสอดเกราะ ทหารสามารถเลือกแผ่นเกราะป้องกันได้รอบตัวหน้า,หลัง,ซ้าย,ขวา แถบมอลลี่ที่ติดรอบตัวช่วยให้ทหารเลือกของติดตัวไปได้ตามสะดวก ถอดเปลี่ยนตำแหน่งได้เพื่อไม่ให้กีดขวางการใช้อาวุธ ช่องใส่ซองกระสุนถูกสร้างมาให้ใช้ได้กับทั้งปืนแบบอเมริกันและรัสเซีย ด้วยการปรับความพอดีจากแผ่นเวลโครฝาของมันจึงปิดครอบซองกระสุนได้สนิท หยิบใช้ได้ง่ายเพียงดึงขึ้นตรงๆ ทหารนำกระสุนบรรจุซองเสร็จเข้าสนามได้ไม่อั้นตราบใดที่เขาวิ่งไหวด้วยMTVและมอลลี่!
ราวกับว่านี่คือระบบเครื่องช่วยรบที่ลงตัวแล้ว เมื่อกองทัพสหรัฐฯนำสมรรถนะของการกระจายน้ำหนักและความสะดวกในมอลลี่กับเกราะกันกระสุนมาผนวกกันได้ เสื้อเวสต์ประกอบเกราะแบบที่เห็นได้แพร่หลายในอิรักและอาฟกานิสถานคืออินเตอร์เซ็ปเตอร์(Interceptor) ที่ถูกพัฒนาใช้งานในทศวรรษ1990ให้ป้องกันลำตัวทหารได้รอบทิศรวมลงมาถึงหว่างขาด้วยแผ่นเคฟลาร์สามแหลี่ยม
อีกรูปแบบของTactical VestคือระบบCIRAS(Combat Integrated Releasable Armor System) เป็นเวสต์แบบปรับปรุงให้กระชับขึ้น แต่สวมง่ายด้วยแถบเวลโครรอบตัว ถอดง่ายในยามฉุกเฉินเมื่อต้องการปฐมพยาบาลด้วยการดึงลวดเส้นเดียวที่ร้อยจุดยึดด้านหลัง สอดข้ามไหล่มาเก็บเป็นรูปห่วงตรงหน้าอก เมื่อดึงห่วงปลายลวดอีกด้านจะหลุดจากจุดยึดทั้งหมด ทำให้ทั้งชุดเกราะหลุดจากตัวภายในเวลาไม่ถึงสองวินาที “ไซราส”ออกแบบไว้ให้สอดแผ่นเกราะกันกระสุนระดับต่างๆได้รอบตัว พร้อมช่องใส่ซองกระสุนและกระเป๋าอุปกรณ์อื่นที่ประกอบและถอดได้แบบโมดูลาร์ เหมาะสำหรับหน่วยรบพิเศษที่ต้องการความคล่องตัว แต่ขณะเดียวกันทหารต้องปลอดภัยจากการปกป้องรอบตัว กระจายน้ำหนักตลอดช่วงลำตัวด้านบนโดยไม่กดทับเอวให้เจ็บ
นอกจากรัฐบาลจะผลิตให้ทหารใช้แล้วเอกชนอีกหลายบริษัทยังผลิตจำหน่ายเป็นทางเลือก เช่นแบล็คฮอว์ค อินดัสตรีและแบรนด์อื่นๆทั้งในและนอกสหรัฐฯ มอลลี่ของไทยเองที่ตัดเย็บได้ดีไม่แพ้กันก็คือแบรนด์”ค่าย”(KAIY)ที่ทหารและตำรวจรู้จักดีจากซองปืนรัดต้นขา เวสต์แบบต่างๆที่ใช้งานได้จริงและปัจจุบันเริ่มกลายเป็นทางเลือกของหน่วยงานรักษากฎหมายและกองทัพ ด้วยวัสดุดี ตัดเย็บประณีตและทน ข้อสำคัญคือราคาถูกกว่าแบรนด์นอกเป็นครึ่ง
ปัจจุบันกองทัพไทยเห็นความสำคัญของเกราะมากขึ้น เพียงแต่เวสต์ของเรายังไม่เป็นโมดูลาร์เต็มรูปแบบและยังต้องพัฒนาอีกมากด้านแบบและความกระชับ เพื่อการเคลื่อนไหวที่สะดวก,ปลอดภัยและเป็นระเบียบ ข้อสำคัญที่ใครๆอาจลืมคิดไปคือแบบของมันต้อง”เท่”พอให้ทหารอยากสวมได้โดยไม่ต้องบังคับ อะไรที่มีประโยชน์ก็รับของเขามาใช้เถิด ทีเครื่องแบบลายพรางดิจิตอลยังเปลี่ยนตามเขาได้เลยนี่!

Land Warrior System เพื่อนักรบพันธุ์ใหม่




หลักนิยมของกองทัพทั่วโลกที่ถูกกล่าวขวัญกันมากตอนนี้คือสงครามเครือข่าย(Network Centric Warfare : NCO) ด้วยแนวความคิดคือใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่และเฉพาะทางให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อเอื้ออำนวยให้ทหารหยั่งรู้สถานการณ์(Siruation Awareness)ได้เร็ว มีเวลาตัดสินใจพอเพียงที่จะชิงลงมือก่อนฝ่ายตรงข้าม ยังผลต่อเนื่องคือลดการสูญเสียของฝ่ายตน คงไว้ซึ่งความอยู่รอดในสนามรบและสามารถทำลายเป้าหมายได้รวดเร็วด้วยกำลังที่ไม่จำเป็นต้องมากกว่าเสมอไป ผลพลอยได้คือกองทัพไม่จำเป็นต้องใหญ่เสมอไปก็รบชนะได้ด้วยเทคโนโลยีที่เหนือกว่า
กำลังรบทั้งสามมิติต้องประสานงานกันได้โดยไม่จำเป็นต้องพูด ด้วยข้อความและสัญลักษณ์จากจอภาพและภาพเคลื่อนไหวจากดาวเทียมและอากาศยานไร้นักบิน ทั้งหมดนี้จะรวมกันเป็นระบบด้วยความมุ่งหมายสำคัญคือเพื่อหยั่งรู้สถานการณ์ ให้ทหารอยู่รอดในสนามรบขณะเดียวกับทำลายเป้าหมายได้สำเร็จ
ด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ยุทโธปกรณ์เล็กลงและเบาขึ้นจนทหารสามารถนำสิ่งอุปกรณ์อันจำเป็นติดตัวไปได้มากกว่าเดิม การทำให้ทหารราบกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบจึงเกิดขึ้นด้วยชื่อว่า Land Warrior System โครงการปรับปรุงเครื่องช่วยรบของกองทัพบกสหรัฐฯที่ดำเนินการเป็นรูปธรรมในปี2007 เพื่อใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารช่วยให้ทหารหยั่งรู้สถานการณ์มากที่สุด นำไปสู่การลดความสูญเสียกำลังพลซึ่งเป็นทรัพยากรสูงค่าที่สุดในกองทัพ
ด้วยหลักการสำคัญๆ3ประการที่ทำให้เกิดระบบแลนด์วอริเออร์คือ 1.ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสูงประกอบอาวุธประจำกาย 2.เพิ่มอำนาจการติดต่อสื่อสาร บัญชาการและควบคุมให้ทหารราบในแนวหน้า 3.ให้ทหารแต่ละนายคือหน่วยรบในตัวเอง สามารถดำเนินกลยุทธ์ได้เองแทนการเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยรบใหญ่กว่า
โครงการนี้เกิดจากแนวความคิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทหารและลดอัตราการสูญเสีย ได้ทดลองกันมาแล้วเกือบยี่สิบปีตั้งแต่ก่อนสงครามอ่าวครั้งแรกไม่นาน โดยหัวเรือใหญ่คือเนติกแล็บ(ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมแห่งกองทัพบก : Natick Doldier Research Development and Engineering Center) เน้นที่วิธีการทำให้ทหารแต่ละนายกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการรบแบบNCO
โดยโครงการแลนด์วอริเออร์จะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกองทัพแห่งอนาคต(Future Force Warrior) เพื่อจัดหาอุปกรณ์อีเลคทรอนิคช่วยรบน้ำหนักเบาให้ทหารในระดับหน่วยรบย่อยใช้ ให้รบได้เป็นเครือข่าย(NCO.)สมบูรณ์แบบ โดยโครงการนี้เริ่มขึ้นในปี2006โดยเจ้าของโครงการคือกองทัพบกและบริษัทผู้รับช่วงพัฒนาคือบริษัทเจเนอรัล ไดนามิก ซี4 ซิสเต็ม หลักการคือทำทุกอย่างให้ทหารหยั่งรู้สถานการณ์รอบตัวมากที่สุด รวมทั้งสามารถติดต่อประสานงานกับหน่วยรบเดียวกัน/ใกล้เคียง เครื่องบินและเรือรบได้
ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วหรือที่พัฒนาขึ้นใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ทั้งคอมพิวเตอร์ติดตัว เครื่องชี้เป้าด้วยเลเซอร์ ระบบนำทางจีพีเอส จอภาพแอลซีดีหรืออุปกรณ์ใดๆก็ตามแม้แต่ไอพ็อดหรือไอโฟน เพื่อจะช่วยเพิ่มข้อมูลเพื่อตัดสินใจให้ทหาร ยิ่งรู้มากยิ่งตัดสินใจได้ปลอดภัยและมีโอกาสอยู่รอดสูง
ด้วยอุปกรณ์สื่อสารและไอทีต่างๆที่ทหารนำเข้าสนามรบ มันจะช่วยให้แต่ละนายทราบความเป็นไปในชุดของตนว่ามีเพื่อนรบได้อยู่กี่คน แต่ละคนมีกระสุนเหลือเท่าไร มีตำแหน่งวางตัวอยู่ที่ไหน หน่วยรบใกล้เคียงในระยะใกล้ที่สุดอยู่ห่างไปกี่เมตร(หรือกิโลเมตร) ทราบตำแหน่งข้าศึกรวมทั้งเห็นภาพได้จากอากาศยานไร้นักบินทั้งเล็กและใหญ่(เรฟเวน,พรีเดเตอร์) เรียกเครื่องบินหรือขีปนาวุธจากเรือมาถล่มเป้าหมายภาคพื้นดินได้โดยแค่กดปุ่มส่งค่าพิกัดจีพีเอส ติดต่อกับหน่วยเหนือได้โดยตรงพร้อมส่งภาพแบบเวลาจริง(real time)เหมือนที่ตนเห็นทางจอภาพติดหมวกเพื่อช่วยการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา ติดต่อสื่อสารกับชนพื้นเมืองที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษด้วยข้อความหรือเสียงพูดประโยคสำคัญในภาษานั้น(เช่นสั่งให้หยุดยิง,ขอตรวจค้น,ขอบคุณ ฯลฯในภาษาถิ่น)และข้อมูลอื่นๆที่หน่วยรบภาคพื้นดินควรรู้
ในฤดูร้อนของปี2006กองทัพบกสหรัฐฯได้ประเมินผลโครงการแลนด์วอริเออร์อย่างละเอียด ที่ฟอร์ทลิวอิส รัฐวอชิงตัน ที่ถูกประเมินผลพร้อมกันคือระบบสำหรับพลประจำยานที่จะช่วยให้ทราบความเป็นไปทั้งหมดรอบตัวได้ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกยานรบ ทั้งหมดนี้ถูกดำเนินการระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนในปีนั้น โดยมีหนูทดลองคือกองพันที่4สังกัดกรมทหารราบที่9แห่งกองพลน้อยที่4”สไตรเกอร์” กองพลทหารราบที่2 เป็นการทดสอบระบบด้วยกองกำลังระดับกองพันเพื่อทราบข้อดีข้อเสียเมื่อใช้กองกำลังขนาดใหญ่กับระบบนี้ แทนที่จะเป็นชุดปฏิบัติการเล็กๆ
ผลสรุปจากการประเมินที่ปรากฎในปี2007 คือกองทัพบกให้โครงการนี้ผ่านแต่ต้องปรับปรุงให้คล่องตัวขึ้นด้วยอุปกรณ์ติดตัวทหารไปเท่าที่จำเป็น การบริโภคข้อมูลข่าวสารมากเกินความจำเป็นและมีอุปกรณ์ไอทีติดตัวจนรุงรังกลับจะเป็นผลร้ายมากกว่าดี เพราะในสภาพการรบอันกดดันทหารจะ”สำลัก”ข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องและมากเกินจนไม่สามารถจดจ่อกับภารกิจตรงหน้าได้ ในที่สุดแลนด์วอริเออร์ในส่วนที่ปรับปรุงแล้วให้คล่องตัวกว่าเดิม ก็ถูกนำมาใช้ในอิรักด้วยจำนวน440ชุดสำหรับทหารราบและ147ชุดติดยานรบ(รถลำเลียงพลล้อยาง”สไตรเกอร์”,รถสายพานลำเลียงพล”แบรดลีย์”,รถถังหลัก”เอบรัมส์”,”ฮัมวี”และยานยนต์อื่น) ผลดีคือลดความสูญเสียได้มากและไม่จำเป็นต้องใช้กองกำลังขนาดใหญ่เข้ากวาดล้าง ทำให้ต้องเพิ่มระบบแลนด์วอริเออร์ให้กับกองพันที่5ของกองพลเดียวกันอีกนับพันชุด
ด้วยระบบแลนด์วอริเออร์นี้เอง ที่ทำให้ทหารราบแต่ละนายถูกหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบNCOอย่างแท้จริง โดยแต่เดิมใช้กันมากในเครื่องบินขับไล่ซึ่งรบแบบเครือข่ายได้ทรงประสิทธิภาพสูงสุดเนื่องจากเคลื่อนที่เร็วและใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารเต็มที่ ตัวอย่างชัดเจนคือในเครื่องบินรบยุคปัจจุบันรวมทั้งJAS39”กริปเปน” ที่นักบินสามารถเลือกเป้าหมายได้ รู้เป้าของเพื่อนในฝูง คำนวณลำดับความสำคัญเพื่อเข้าต่อตี ทราบจำนวนอาวุธทั้งระเบิดและขีปนาวุธ เชื่อมต่อการสื่อสารได้ทั้งกับหน่วยรบภาคพื้นดินและในทะเลเพื่อร่วมกันทำลาย แลนด์วอริเออร์ทำให้ทหารราบธรรมดากลายสภาพเป็นส่วนหนึ่งของระบบเสมือนเครื่องบินขับไล่ตัวอย่าง
อีกระบบเพื่อช่วยให้ทหารหยั่งรู้สถานการณ์คือระบบTacticomp จากเซียราเนวาดา คอร์โปเรชั่น เป็นผลจากการพัฒนาระบบช่วยรบทหารราบเพื่อเพิ่มอัตราการอยู่รอด คล้ายคลึงกับแลนด์วอริเออร์ของเจเนอรัลไดนามิกและเคยผ่านสมรภูมิมาแล้ว จนได้รับความไว้วางใจจากกองทัพบกให้ใช้ในกองกำลังระดับกองพลน้อยถึง6หน่วย มันถูกส่งเข้าสู่สมรภูมิจริง ใช้งานจริงมาแล้วถึงสามครั้งในการรบหนักๆ และแต่ละครั้งลดความสูญเสียทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตได้มากถึง70เปอร์เซ็นต์
แทคติคอมป์คือระบบรบแบบเครือข่ายที่ใช้ดาวเทียมเป็นหลัก ในเครือข่ายมีชื่อว่าTactinet ตามที่เซียราฯเจ้าของโครงการสรุปคือ”เป็นระบบช่วยรบติดตัวทหารอันประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ เครื่องมือติดต่อสื่อสารด้วยดาวเทียมและระบบบอกพิกัดภูมิศาสตร์จีพีเอสไว้เป็นโมดูลเดียวกัน และชุดจะเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายสำหรับทหารราบ ทั้งชุดจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับทหารเสมือนอวัยวะ ให้เลือกฟังและเลือกดูได้ง่าย สะดวก ด้วยจอภาพติดหมวกนิรภัยรวมทั้งจอแสดงผลติดแขนพร้อมคีย์บอร์ด เลือกให้แสดงภาพพื้นที่การรบเป็นลายเส้นหรือแผนที่ภูมิประเทศได้ ระบุฝ่ายด้วยสีโดยให้ฝ่ายเดียวกันเป็นสีน้ำเงินและข้าศึกเป็นสีแดง รายงานสถานการณ์หรือขอการสนับสนุนได้ทั้งด้วยเสียงและข้อความจากการพิมพ์คีย์บอร์ด ทหารสามารถรับภาพได้ทั้งจากอากาศยานไร้นักบินและจากดาวเทียม ติดต่อกับผู้บัญชาการหน่วยรบได้โดยตรงหรือจะพูดกับประธานาธิบดีด้วยก็ยังได้ถ้าต้องการ!”
เรื่องทั้งหมดนี้คือความพยายามหนึ่งของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็น”กองทัพดิจิตอล”เต็มรูปแบบทั้งยุทโธปกรณ์และบุคลากร เป็นเรื่องไม่ยากเลยสำหรับกองทัพขนาดใหญ่ของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแข็งแกร่งเช่นนั้น รวมทั้งบุคลากรก็พร้อม เพราะเด็กอเมริกันเติบโตขึ้นมาพร้อมกับเกมนินเทนโดและเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่น นักบินเครื่องบินรบหลายคนที่ฝึกกับเครื่องช่วยฝึก(simulator)ของเครื่องบินอย่างF-16 หรือเฮลิคอปเตอร์โจมตีAH-64”อะแพชี่”แล้ว พบว่ามันแทบไม่ต่างกันเลยกับเกมกดปุ่มที่บ้านทั้งภาพและเสียง
ระบบแลนด์วอริเออร์และแทคติคอมป์จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ และหากกองทัพของเราสามารถพัฒนาขึ้นเองด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ได้ เหมือนหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดหรือยุทโธปกรณ์อื่นๆที่คนไทยทำได้ด้วยราคาต่ำกว่าอย่างน่าใจหาย มันก็จะช่วยสงวนชีวิตอันมีค่าของกำลังพลไว้ได้มาก รวมทั้งยังช่วยให้กองทัพปรับขนาดให้เล็กลงแต่ประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมได้ง่ายด้วย
เรื่องจะทำให้กองทัพเล็กลง โดยพัฒนาเทคโนโลยีมาช่วยทหารจะได้ประหยัดงบประมาณได้ในระยะยาวนั้นคิดกันบ้างหรือเปล่า? หรือว่าถนัดแต่จะตัดงบกันอย่างเดียว?