วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เขตปลอดภัยชื่อ"Green zone"


เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่2ด้านยุโรปสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมัน กิจกรรมแรกๆที่ฝ่ายสัมพันธมิตรลงมือทำคือการแบ่งเนื้อที่กรุงแบร์ลีนออกเป็นส่วนๆ ส่วนหนึ่งทางตะวันออกคือเขตปกครองของโซเวียต(ในขณะนั้น)ซึ่งรุกไล่เยอรมันมาจากเขตแดนของตนแล้วเข้าถึงพื้นที่เมืองหลวงได้ก่อน ส่วนที่เหลือคือเขตปกครองที่จัดสรรกันเองในหมู่ชาติตะวันตกคืออังกฤษ,สหรัฐฯและฝรั่งเศส แล้วต่อจากนั้นมาอีกสิบกว่าปีจึงมีการสร้างกำแพงแบร์ลีนล้อมรอบเฉพาะเขตยึดครองของสามชาติดังกล่าว เพื่อป้องกันการรุกรานของโซเวียต จะถือว่าเป็น"เขตปลอดภัย"ก็ได้สำหรับชาวกรุงแบร์ลีนที่จะได้มีชีวิตเสรีภายใต้การปกครองในระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกก่อนกำแพงนี้จะถูกทำลายหลังการล่มสลายของโซเวียต

ต่อมาอีกห้าสิบกว่าปีเมื่อสหรัฐฯรุกรานอิรักในปี2003 ด้วยข้ออ้างว่าจะเข้าไปค้นหาและทำลายอาวุธอำนาจทำลายล้างสูง(Weapon of Mass Destruction:WMD)ที่ถูกซุกซ่อนไว้ และเพื่อปลดปล่อยชาวอิรักจากการกดขี่ของซัดดาม ฮูเซน เขตยึดครองทำนองคล้ายคลึงกันก็เกิดขึ้นอีกในกรุงแบกแดด เพื่อให้เป็นที่ตั้งของกองกำลังพันธมิตรอันประกอบด้วยสหรัฐฯ,อังกฤษและชาติอื่นๆ ให้เป็นศูนย์บัญชาการและควบคุมทั้งของสหรัฐฯและรัฐบาลใหม่ของอิรักระหว่างกำลังทหารของผู้ยึดครองยังอยู่ ด้วยชื่อว่าGreen Zone หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า International Zoneตามความเป็นจริงที่เป็นเขตในความควบคุมของหลายชาติดังกล่าว ห้อมล้อมด้วยอาคารที่มั่นอันแข็งแรงและจุดตรวจมากมายในเนื้อที่10ตารางกิโลเมตร เพื่อคงความปลอดภัยของศูนย์บัญชาการผู้ยึดครองที่ถูกห้อมล้อมด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงแบกแดด ซึ่งยังเสี่ยงต่ออันตรายจากการโจมตีจากชาวอิรักที่ไม่พอใจการยึดครองและกลุ่มอำนาจต่างๆที่ถูกกดไว้ในสมัยของซัดดาม ฮูเซน แล้วถือโอกาสออกมาต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเองหลังจากรัฐบาลเก่าถูกโค่น

เดิมนั้น"กรีนโซน"เป็นพื้นที่ปิดล้อมแน่นหนาอยู่แล้วในใจกลางกรุงแบกแดด ด้วยวัตถุประสงค์หลักคือเป็นศูนย์บัญชาการของรัฐบาลซัดดามและรัฐบาลก่อนหน้านั้น ทั้งยังเป็นศูนย์บัญชาการของพรรคคือพรรคบาธที่ครองเสียงส่วนใหญ่ในรัฐบาลก่อนถูกโค่นล้มเช่นกัน กรีนโซนแต่เดิมนั้นถูกกันไว้เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองแท้ๆไม่ใช่เขตอยู่อาศัย ในเขตนี้จึงมีแต่อาคารสถานที่ราชการทั้งกระทรวง ทบวง กรมและฐานทัพ รวมถึงทำเนียบที่พำนักอีกหลายแห่งของซัดดาม ฮูเซนและผู้ใกล้ชิด เขตนี้เป็นที่รู้กันในชื่อเดิมตามภาษาอาหรับว่า"คาร์ราดัท มาริอัม"ที่ตั้งตามชื่อของสตรีชาวอิรักผู้มีชื่อเสียงจากการช่วยเหลือผู้ยากไร้จำนวนมากในกรุงแบกแดด มีอาคารใหญ่ที่สุดคือรีพับลิกัน พาเลซซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของซัดดามและปัจจุบันถูกสหรัฐฯและพันธมิตรเข้าครอบครองเพื่อใช้มันในหน้าที่เดียวกัน หลังจากละเว้นไว้ไม่ทิ้งระเบิดทำลายระหว่างยุทธการอิรักเสรีในปี2003 ด้วยความคิดว่าน่าจะได้พบเอกสารและหลักฐานสำคัญอื่นๆที่นี่

รีพับลิกัน พาเลซยังมีหน้าที่รองอีกหนึ่งคือเป็นสถานทูตสหรัฐฯประจำอิรักในระหว่างสถานทูตจริงยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง แต่กว่ากองกำลังของสหรัฐฯและพันธมิตรจะรุกผ่านกรีนโซนมาถึงอาคารหลังนี้ สิ่งของและเอกสารสำคัญต่างๆก็ถูกรื้อค้นและทำลายเสียหายไปมากแล้ว เหลือไว้แต่ตัวทำเนียบที่ยังไม่บุบสลายแต่สิ่งมีค่าและเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ได้ถูกเคลื่อนย้ายหนีหรือถูกปล้นไปมาก

กรีนโซนถูกกองทัพสหรัฐฯเข้ายึดครองสำเร็จในเดือนเมษายน 2003 นับเป็นที่มั่นที่แข็งแรงแน่นหนาที่สุดในแบกแดดจากความสำคัญของมันในฐานะศูนย์บัญชาการของรัฐบาลเดิมและพรรคบาธ ซัดดามและชนชั้นปกครองทั้งหมดได้อพยพออกจากบริเวณนี้ไปก่อนถูกยึดครองไม่นานหลังจากประเมินแล้วว่าไม่มีทางเอาชนะสหรัฐฯได้ในสงครามเต็มรูปแบบ ด้วยเหตุผลหลักคือไม่ต้องการให้ผู้รุกรานจับกุมตัวได้ และเหตุผลรองคือกลัวชาวอิรักที่เคยอยู่ใต้อำนาจอันโหดเหี้ยมจะแก้แค้นเมื่อตนเพลี่ยงพล้ำ ยังมีชาวอิรักหลงเหลืออยู่ในกรีนโซนบ้างแต่ก็เป็นพวกคนยากจนไร้ทะเบียนบ้าน หลังจากยึดครองชาวอิรักกลุ่มนี้ถูกกันไว้ในเขตเฉพาะมีชื่อว่า"215 Apartment”

การโจมตีทางอากาศโดยสหรัฐฯและพันธมิตรในช่วงแรกของการรุกราน ได้ทำให้ชาวอิรักอพยพออกจากอาคารหลายแห่งย่านใจกลางกรุงแบกแดด รัฐบาลใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นทันทีหลังการยึดครองสำเร็จจึงตัดสินใจใช้อาคารที่ยังมีสภาพดีเหล่านี้เป็นที่ทำการ นายเจย์ การ์เนอร์หัวหน้าทีมบูรณะอาคารในกรีนโซนใช้รีพับลิกัน พาเลซเป็นกองบัญชาการชั่วคราว อาคารน้อยใหญ่ในละแวกนั้นต่างถูกทีมก่อสร้างเอกชนที่ประมูลงานได้และคณะรัฐบาลใหม่ใช้งานอย่างถ้วนทั่ว ทั้งเป็นที่ทำงานและพักอาศัย โดยตัวรีพับลิกัน พาเลซเองนั้นมีกองกำลังป้องกันชาติจากฟลอริดา(Florida Army National Guard)จำนวนหนึ่งกองร้อยตั้งมั่นคอยป้องกันในช่วงแรกตั้งแต่เดือนเมษายน2003ถึงกุมภาพันธ์2004 มีทั้งเจ้าหน้าที่และพนักงานบริษัทก่อสร้างทยอยเข้าไปในกรีนโซนหลังจากนั้นมากขึ้นจนนับได้5,000คนทั้งชายและหญิงในปัจจุบัน

หมู่อาคารถูกทิ้งร้างหลังเหล่านี้ไม่เพียงเป็นที่สนใจของกองกำลังยึดครองเท่านั้น ชาวอิรักที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคบาธแต่ต้องสูญเสียที่อยู่ไปจากการสู้รบจนส่วนใหญ่ต้องอาศัยในสลัมหรือบ้านช่องที่สร้างตามมีตามเกิดต่างก็พากันอพยพเข้ามาอยู่ ทั้งที่ต้องการบ้านช่องอันแน่นหนาแข็งแรงและเพื่อความปลอดภัยของตนภายในกรีนโซนด้วย เพราะถูกพรรคบาธและรัฐบาลของซัดดามกดขี่มานาน พอถูกปลดปล่อยจึงถือสิทธิ์เข้ามาอยู่ในเขตนี้ซึ่งมีสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกดีกว่านอกกรีนโซน ประมาณว่ามีชาวอิรักผู้อาศัยอยู่ในกรีนโซนนี้เช่นกันถึง5,000กว่าคน จำนวนคนทั้งฝ่ายยึดครองและอิรักในกรีนโซนปัจจุบันอาจจะสูงกว่าเดิมเมื่อกองทัพสหรัฐฯเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จ

พอกรีนโซนถูกปิดกั้นให้เป็นเขตปลอดภัยหลังการยึดครอง ก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีกองกำลังคอยอารักขาซึ่งเป็นหน้าที่ของสหรัฐฯและพันธมิตร ทั้งที่ตั้งมั่นอยู่ในเขตพร้อมอาวุธหนัก,เบาครบมือและที่ควบคุมจุดตรวจทุกจุดเข้าสู่รั้วกรีนโซน ซึ่งสภาพของพื้นที่โดยรอบไม่ต่างจากป้อมปราการที่มีทั้งรั้วคอนกรีตอัดแรงหนากันระเบิด,ลวดหนาม,รังปืนกล บางจุดยังมียานเกราะเบาและหนักวางกำลังประจำที่ เพราะการระวังป้องกันแน่นหนานี้เองกรีนโซนจึงเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดของกรุงแบกแดด แตกต่างจากนอกเขตนี้ที่มีชื่อตรงข้ามกันว่า"Red Zone”ล้อมรอบและขวางกั้นระหว่างกรีนโซนกับท่าอากาศยานนานาชาติกรุงแบกแดด ซึ่งเป็นทั้งสนามบินพานิชย์และฐานทัพอากาศที่สามารถปกป้องกรีนโซนได้อีกมิติ

เหตุที่ใช้สีแดงสื่อความหมายนี้ ก็เพราะหลังจากการยึดครองแล้วสหรัฐฯและพันธมิตรจำต้องวางกำลังป้องกันไว้แต่เฉพาะเขตที่ดูแลได้ทั่วถึงเท่านั้น เพื่อไม่ต้องสิ้นเปลืองกับกำลังพลและงบประมาณ แม้ว่าจะโค่นอำนาจซัดดาม ฮูเซนได้สำเร็จแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกพรรคบาธที่เหลือหรือชาวอิรักอื่นๆที่จงเกลียดจงชังอเมริกันจะถูกกำจัด "เรดโซน"จึงเปรียบเสมือนเนื้อที่ของเยอรมนีและแบร์ลีนตะวันออกในช่วงสงครามเย็น ในขณะที่กรีนโซนคล้ายคลึงกับแบร์ลีนตะวันตก นักข่าวชาวสหรัฐฯคือสตีเฟน วินเซนต์ผู้ถูกสังหารในเมืองบาสราเมื่อเดือนสิงหาคม2005ได้เขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของเรดโซนไว้เล่มหนึ่งด้วย คือ"Red Zone:A Journey to the Soul of Iraq1จากประสบการณ์ตรงของเขาเองที่ได้สัมผัสมาในเรดโซน และด้วยการวางกำลังป้องกันแน่นหนานี้่อีกเช่นกันที่ทำให้กรีนโซนมีชื่อเล่นอีกชื่อว่า"The Bubble”(ฟองอากาศ)

ทิศใต้ของกรีนโซนนี้ถูกปกป้องไว้ด้วยพรมแดนธรรมชาติคือแม่น้ำไทกริส มีทางเข้าจากแม่น้ำทางเดียวคือสะพานอาร์บาตาช ทามุซ(ชื่อเดิมในสมัยซัดดามคือสะพาน14กรกฎาคม ตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงวันแรกในการครองอำนาจของซัดดาม ฮูเซน) ทางเข้าจุดเดียวนี้่เช่นกันที่ล่อแหลมต่อการโจมตีจากฝ่ายต่อต้านอเมริกัน เป็นหนึ่งในไม่กี่จุดที่พบว่ามีการยิงทั้งเครื่องยิงลูกระเบิด(.)และเครื่องยิงจรวดเข้าใส่กรีนโซน เหตุร้ายแรงที่สุดเกิดในกรีนโซนขึ้นเมื่อวันที่12เมษายน 2007 เมื่อมีเหตุระเบิดขึ้นหนึ่งลูกในร้านอาหารของรัฐสภา ยังผลให้โมฮัมเม็ด อาวาดสมาชิกสภาจากแนวร่วมชาวซุนหนี่แห่งชาติเสียชีวิต และมีผู้ถูกลูกหลงบาดเจ็บไป22คนรวมทั้งรองประธานาธิบดีอิรัก

ถึงแม้การบุกเข้ากรีนโซนตรงๆจะทำไม่ได้แต่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ มีทั้งจรวดและเครื่องยิงลูกระเบิดถูกยิงเข้าไปทุกวันตั้งแต่ช่วงอีสเตอร์ของปี2008ถึงวันที่5พฤษภาคมปีเดียวกันจนทหารและพลเรือนบาดเจ็บเสียชีวิตไปมาก ตามสถิติที่ทางฝ่ายสหรัฐฯรวบรวมไว้ จรวดและระเบิดยิงส่วนใหญ่ถูกยิงมาจากซาดร์ ซิตี้ ในวันที่6เมษายน 2008มีทหารสหรัฐฯเสียชีวิตไปสองนายและบาดเจ็บอีก17จากการถูกถล่มด้วยจรวดและเครื่องยิงลูกระเบิด

ภายหลังจากสหรัฐฯและพันธมิตรได้ส่งมอบการครอบครองดินแดนให้รัฐบาลอิรักใหม่ อาคารสถานที่ต่างๆในกรีนโซนได้ถูกส่งมอบให้รัฐบาลนี้เช่นกัน แต่ระหว่างที่สหรัฐและพันธมิตรยังคงกองกำลังไว้ในอิรักและกรุงแบกแดด กรีนโซนยังถูกใช้เป็นที่มั่นต่อไปจนกว่าสหรัฐฯจะถอนกำลังทหารออกจากอิรักหมดตามแผนภายใน2-4ปีข้างหน้า นอกเหนือจากนี้กรีนโซนยังเป็นที่ตั้งของสถานทูตของชาติต่างๆเช่นสหรัฐฯ,อังกฤษ,ออสเตรเลียและอียิปต์

ปัจจุบันกรีนโซนยังคงอยู่ตราบเท่าที่กองกำลังสหรัฐฯและพันธมิตรยังครอบครองอิรัก พื้นที่ส่วนนี้คือเครื่องย้ำเตือนให้ระลึกถึงสัจจะธรรมแห่งความขัดแย้งข้อสำคัญ คือเทคโนโลยีอาจจะสำคัญในระดับหนึ่งแต่ในที่สุดแล้ว"กึ๋น"หรือ"ใจ"ของทหารและนักยุทธศาสตร์นั่นแหละสำคัญที่สุด สหรัฐฯมีทั้งเทคโนโลยีและตัวช่วยอื่นมากมายจนทำให้บุกเข้ากรุงแบกแดดและโค่นอำนาจซัดดาม ฮูเซนได้ในเวลาอันสั้น แต่ในที่สุดก็ถูกบีบให้เล่นสงครามกองโจรที่ค่อยๆบั่นทอนทั้งขวัญและกำลังใจทหารของตนไปเรื่อยๆ จรวดนำวิถีที่ว่าแม่นนั้นจะมีประโยชน์ตรงไหนถ้าแยกเป้าไม่ออก? รถถังที่ว่าแกร่งและดีที่สุดในโลกนั้นอาจตกเป็นเหยื่อโมโลตอฟค็อกเทลที่ผสมกันขึ้นง่ายๆแล้วโยนจากอาคารสูงลงมาใส่ได้เหมือนกัน

ถึงแม้สหรัฐฯจะมีแผนการถอนทหารจากอิรักให้หมดภายในไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ใครจะรู้บ้างว่าสงครามที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี2003จะหยุดได้ตามใจต้องการ ถ้ากองกำลังยังอยู่กรีนโซนก็ยังจำเป็นต้องคงสภาพไว้เช่นเดิม ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเมื่อใดกรุงแบกแดดจะรวมกันเป็นพื้นที่เดียวไม่ต้องแบ่งสีเช่นในปัจจุบัน

1ISBN 1-890626-57-0

บ่ายวันหนึ่งกับกระบอกเก็บเสียง Surefire



เมื่อกลางปีที่แล้วผมเคยเสนอบทความไปชิ้นหนึ่งว่าด้วยประวัติและวิวัฒนาการของกระบอกเก็บเสียงปืน ท่อโลหะใช้สวมปากกระบอกปืนเล็กยาวและปืนพกเพื่อลดเสียง หากแฟนคอลัมน์พลาดบทความชิ้นนี้ไปก็ยังติดตามอ่านได้จากลิงค์นี้ในบล็อกของผมที่เก็บไว้ http://tacticalthinker.blogspot.com/2009/05/silencer.html ซึ่งเป็นเรื่องราวอันเกิดจากการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลโดยยังไม่ได้สัมผัสกับประสบการณ์จริงกับกระบอกเก็บเสียง เป็นเรื่องธรรมดาของคอลัมนิสต์ที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ซึ่งต้องมีโอกาสได้สัมผัสของจริงบ้าง เช่นเดียวกับผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับรถยนต์หรือเรื่องอื่นๆทั่วไป ที่ต้องมีเจ้าของผลิตภัณฑ์นำสินค้าของตนมาให้ทดสอบเพื่อเสนอรายละเอียดจากประสบการณ์ตรงหลังจากได้ใช้สินค้าชิ้นนั้นๆแล้ว

โอกาสได้สัมผัสกับกระบอกเก็บเสียงมาถึงผมเมื่อบริษัท299จำกัด ผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์และยุทธภัณฑ์ของSurefireจากสหรัฐฯได้นำกระบอกเก็บเสียงสำหรับปืนเล็กยาวมาให้ทดสอบ ภายหลังจากกองทัพเรือไทยได้รับมอบยุทธภัณฑ์ชิ้นนี้เข้าประจำการในเหล่านาวิกโยธินและอีกหลายหน่วยรบพิเศษในสังกัดเมื่อต้นปี โดยมีผู้แทนจากชัวร์ไฟร์สองท่านคือไมเคิล มอลซ์และไมค์ เมย์ฟีลด์อดีตนาวิกโยธินและทหารบกสหรัฐฯ คอยให้คำแนะนำวิธีการใช้งานอย่างปลอดภัยและวิธีดูแลสภาพอย่างถูกต้องเพื่อให้ใช้งานได้นานที่สุด

ตามที่ผมเคยอ้างข้อมูลไปในบทความเมื่อปีที่แล้ว ว่ากระบอกเก็บเสียงไม่ได้ทำให้เสียงปืนเงียบหรือลดลงเหลือแค่เสียงดัง"ฟึ้บ"แทบไม่ได้ยิน ไม่ว่าจะแบรนด์ไหนถ้ายิงกับกระสุนมาตรฐานจากโรงงานแล้วมันจะลดระดับเสียงลงได้30-40เดซิเบลเท่านั้น คือลดเสียงดังจาก"บึ้ม"ของกระสุนขนาด5.56..ที่ใช้กับปืนตระกูลM16ลงมาเป็น"แคร็ก"แบบเดียวกับกระสุนขนาด.22ชนวนริม หากต้องการให้เงียบกว่านี้ก็ต้องอาศัยเสียงจากสภาพแวดล้อมช่วยกลบเกลื่อนด้วย เหตุเพราะกระสุนมาตรฐานนั้นพุ่งไปในอากาศด้วยความเร็วสูงกว่าเสียง(supersonic) เสียงที่ดังจึงเกิดจากการพุ่งปะทะกำแพงเสียงของกระสุน หากต้องการให้เงียบจริงก็ต้องใช้กระสุนความเร็วต่ำกว่าเสียง(subsonic)ซึ่งต้องโหลดดินส่งกระสุนใหม่ด้วยเครื่องมือซึ่งไม่สามารถทำเองที่บ้านได้และยุ่งยาก

ข้อดีของกระบอกเก็บเสียงที่คนทั่วไปยังไม่ทราบนั้นมีมากกว่าแค่ลดระดับเสียง มันช่วยลดแสงจ้าปากลำกล้องที่ทำให้คนยิงตาพร่าและเปิดเผยที่ตั้งปืนได้ ลดแรงถีบของปืน ลดฝุ่นฟุ้งกระจายจากแรงอัดอากาศปากลำกล้องได้หากต้องนอนราบยิง ช่วยลดเสียงลงมามากพอให้สมาชิกในทีมจู่โจมสามารถสื่อสารกันได้ตามปกติโดยไม่ต้องใช้วิทยุสื่อสาร ผลต่อเนื่องคือไม่ทำลายประสาทหูของคนยิงปืน โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปยิงกันในอาคารแล้วแรงอัดของคลื่นเสียงจะยิ่งทำให้หูเสียได้เร็วหากฝึกกันบ่อย สถิติที่หน่วยงานรักษากฎหมายและกองทัพสหรัฐฯเก็บไว้แต่ละปี ระบุว่าทหารและตำรวจของเขาสูญเสียการได้ยินลงมากจากเสียงปืนเพราะไม่ได้ใช้ที่ครอบหู เมื่อพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯจึงน่าเชื่อเพราะทหารและตำรวจน่าจะมีกระสุนให้ฝึกยิงกันไม่อั้น การใช้กระบอกเก็บเสียงทั้งในปฏิบัติการจริงและการฝึกจึงเป็นทางออกที่ดีเพื่อรักษาสุขภาพหูของกำลังพล

ชัวร์ไฟร์ผลิตกระบอกเก็บเสียงปืนเล็กยาวขึ้นด้วยแนวความคิดที่ครอบคลุม คือนอกจากจะลดเสียงให้อยู่ในระดับที่ทหารสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยแล้วยังทำให้กลุ่มกระสุนไม่เปลี่ยน เคยยิงแล้วกระสุนเกาะกลุ่มกันได้อย่างไรกับลำกล้องเปล่าๆพอประกอบกระบอกเก็บเสียงแล้วมันก็ยังคงกลุ่มไว้ได้เหมือนเดิม ต่างจากกระบอกเก็บเสียงแบบเดิมๆที่วิถีจะหักเหบ่อยๆจนทำให้ต้องตั้งศูนย์ปืนกันเกือบทุกครั้งหลังจากถอดแล้วใส่กลับไปใหม่ ด้วยหลักการคือต้องมีพื้นที่สัมผัสยาวกว่าเดิมระหว่างปลอกลดแสงกับตัวกระบอก ทำให้ต้องเปลี่ยนปลอกลดแสงเดิมจากโรงงานมาใช้ปลอกลดแสงของชัวร์ไฟร์ด้วย

ไมเคิล มอลซ์อธิบายว่าการที่ชัวร์ไฟร์ไม่สร้างกระบอกเก็บเสียงแบบหมุนเกลียวติดลำกล้อง ก็เพราะเกลียวโลหะที่สัมผัสกันบ่อยๆนั้นพลาดง่าย เมื่อทหารต้องรีบประกอบอาวุธแล้วทำเกลียวปีนกันโดยไม่ตั้งใจ ทำให้แนวกระบอกกับลำกล้องไม่ต่อกันเป็นเส้นตรง ผลที่ตามมาคือวิถีกระสุนเปลี่ยน กลุ่มกระสุนกระจายตัวแม้จะยิงเป้านิ่งๆก็ยังไม่ถูก ชัวร์ไฟร์จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการผลิตปลอกลดแสงเฉพาะใช้กับกระบอกเก็บเสียงขึ้นมาสวมแทนปลอกเดิม ทหารจะได้ประโยชน์สองประการคือได้ปลอกลดแสงที่ซ่อนพรางประกายไฟดีกว่า มีพื้นที่หน้าสัมผัสผิวโลหะกระบอกเก็บเสียงมากกว่าและไม่ต้องขันเกลียว เพราะปลอกลดแสงเดิมที่ติดปืนมาจากโรงงานนั้นไม่ได้สร้างมาเพื่อประกอบกระบอกเก็บเสียง ซ้ำยังมีหน้าสัมผัสพื้นที่น้อยจนอาจทำให้ตัวกระบอกเสียแนวเส้นตรงต่อจากลำกล้องปืน

จากปัญหาวิถีกระสุนเบี่ยงเบน ปัญหาข้อต่อมาที่ชัวร์ไฟร์แก้ได้คือเรื่องความคงทน ตามข้อมูลของบริษัทคือมันสร้างจากโลหะอัลลอยเกรดเดียวกับท่อไอพ่นของเครื่องบินขับไล่ คุณสมบัติเด่นของอัลลอยชนิดนี้คือเมื่อร้อนก็จะเย็นลงได้เร็ว แค่เอาน้ำราดหรือจุ่มไว้ไม่เกิน10วินาทีก็สัมผัสได้ด้วยมือเปล่าง่ายต่อการถอดออก หรือถ้าไม่ถอดก็ไม่เป็นปัญหาเพราะมันถูกออกแบบให้ใช้งานได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ประกอบครั้งเดียวใช้ยิงได้ตลอดเว้นแต่อยากถอดออกมาทำความสะอาดซึ่งง่ายมาก เพียงแต่ใช้แปรงสอดเข้ากระบอกในทิศทางใดก็ได้แล้วดึงเข้า-ออกเพียงไม่กี่ครั้ง เคาะกับพื้นแข็งๆให้เขม่าร่วงหล่นก็เสร็จพิธี ส่วนอายุการใช้งานก็ยาวนาน ตามที่ชัวร์ไฟร์ให้ข้อมูลไว้คือใช้ได้นานกว่าลำกล้องปืน ถ้าปืนเล็กยาวยิงได้50,000นัดก่อนเกลียวลำกล้องจะเรียบ กระบอกเก็บเสียงของชัวร์ไฟร์อยู่ได้นานกว่านั้น

จากการทดสอบกลุ่มกระสุนและการลดระดับเสียงตามสเป็คที่หน่วยงานกำหนดไว้นั้น อุปกรณ์ชิ้นนี้สอบผ่านทั้งหมด ผู้ทดสอบคือหน่วยรบที่จัดหามันไว้ใช้โดยกระทำทั้งประทับยิงและเอาปืนขึ้นขาจับให้นิ่ง วัดระดับเดซิเบลได้ตามกำหนด ข้อนั้นผมไม่ติดใจเนื่องจากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบอย่างรัดกุมแล้ว แต่ที่ต้องการสัมผัสคือความรู้สึกที่ได้จากการยิงปืนติดกระบอกเก็บเสียง ต้องการให้รู้ว่ามันลดเสียงได้แค่ไหน ที่ว่ายิงหมดซองกระสุนแล้วยังพูดรู้เรื่องนั้นจริงหรือไม่ ลดแรงถีบได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะบอกเล่าได้อยางมั่นใจก็ต้องได้สัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้น

การสาธิตในวันนั้นเป็นไปเพื่อให้กำลังพลของกองทัพบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงประสิทธิภาพของการลดเสียงและข้อดีอื่นๆของมัน ปืนที่นำมาทดสอบคือปืนกลประจำหมู่ปืนเล็กM249”Minimi”และปืนเล็กยาวM16A1แบบมาตรฐานของกองทัพบกที่ใช้กระสุนขนาด5.56..มาตรฐานนาโตเหมือนกัน เน้นที่การเปรียบเทียบกันชัดๆระหว่างปืนเปล่าๆกับที่ประกอบกระบอกเก็บเสียง การยิงสาธิตเริ่มขึ้นหลังจากผู้แทนของชัวร์ไฟร์ได้สาธิตวิธีประกอบและตอบข้อซักถามของทหารที่สนใจเสร็จสิ้น

เริ่มด้วยปืนM249เปล่าๆเป็นชุด ชุดละ2-4นัด โดยทหารในหน่วยที่เข้าชมการทดสอบผลัดกันมายิง สิ่งที่ทุกนายพูดเหมือนกันคือมันลดเสียงได้จริง เท่าที่ผมยืนฟังอยู่ห่างออกไปยี่สิบเมตรพบว่ากระบอกเก็บเสียงลดระดับเสียงจาก"บึ้ม"ของกระสุน5.56..มาเหลือแค่"แคร็ก"ของลูก.22ชนวนริมได้จริง สภาพของสนามยิงปืนคือหุบเขาไม่ว่าจะเป็นกระสุนแบบไหนจึงมีเสียงสะท้อนก้อง ทหารนายหนึ่งลงนอนราบยิงก็ได้ผลแบบเดียวกัน ที่เห็นชัดๆคือหากไม่ประกอบกระบอกเก็บเสียงฝุ่นใต้ปากกระบอกปืนจะฟุ้งกระจายมองเห็นได้แต่ไกล แต่พอใส่แล้วทั้งประกายไฟกับฝุ่นหายไปหมดเหลือแต่เสียงกระสุนเท่านั้น

หลังจากหมดกระสุนไปหลายแมกาซีนรวมทั้งอากาศตอนเที่ยงที่อุณหภูมิสูงใกล้40องศา ปืนM16ที่ใช้ทดสอบก็ร้อนทั้งกระบอกจนแทบจับไม่ได้ ตัวกระบอกเก็บเสียงเองนั้นไม่ต้องพูดถึง ไมเคิลแก้ปัญหาความร้อนด้วยการราดน้ำลงไปบนปืนทั้งกระบอกตรงๆแล้วเอาปากกระบอกประกอบกระบอกเก็บเสียงจุ่มทิ้งไว้เกือบ10วินาที น้ำถึงกับเดือดพล่านมีฟองปุด แต่เมื่อยกขึ้นมาก็เอามือเปล่าๆจับกระบอกเก็บเสียงได้สบายๆรู้สึกได้แค่อุ่นๆเท่านั้น เป็นจริงตามคำกล่าวอ้างที่ว่าอัลลอยของอุปกรณ์นี้ลดความร้อนได้เร็ว

เมื่อหน่วยงานที่สนใจทดสอบเป็นที่พอใจแล้วก็ถึงคราวของผมซึ่งทดสอบด้วยปืนM16A1ด้วยกระสุน15นัด โดยยิงสองแบบเพื่อเปรียบเทียบกัน รอบแรกยิงด้วยลำกล้องและปลอกลดแสงเดิมไม่ประกอบกระบอกเก็บเสียง ปรากฎว่าหูอื้อแล้วตั้งแต่นัดแรก เสียงวิ้งๆยังก้องในหูนานแม้จะส่งปืนให้เจ้าหน้าที่ไปแล้ว แรงถีบแรงพอประมาณตามลักษณะการออกแบบของปืนชนิดนี้ที่ต้องการให้แรงถอยพุ่งตรงเข้าหาไหล่ ปากกระบอกเงยทำให้ควบคุมทิศทางยากในนัดต่อๆไป หากยิงแบบอัตโนมัติแล้วหวังจะให้กระสุนซ้ำกลุ่มเดิมคงต้องภาวนาเท่านั้น

พักอยู่เกือบ20นาทีพอมั่นใจว่าหูคืนสภาพการได้ยินแล้วจึงกลับมาทดสอบอีกครั้งกับกระบอกเก็บเสียงของชัวร์ไฟร์ ใช้กระสุนเท่ากัน นัดแรกที่พุ่งออกไปนั้นความรู้สึกบอกได้ชัดเจนว่าต่างกัน เสียงลดลงมามาก ไม่มีคลื่นเสียงกระแทกแก้วหูเหมือนปืนเปล่า ผมพูดกับเพื่อนได้สบายๆโดยหูไม่อื้อ แรงถีบก็น้อยลงจนปากกระบอกเงยน้อยลงมาก น่าจะปั้นกลุ่มกระสุนได้ไม่ยากในนัดต่อๆไป มีน้ำและน้ำมันชโลมปืนปลิวกระเด็นเข้าใบหน้าผมเป็นบางช่วงจนทำให้รู้สึกว่าแว่นกันสะเก็ดไม่ใช่ของที่ทหารควรมีไว้เท่ๆ แต่มันใช้ประโยชน์ได้จริง สังเกตได้จากมีคราบน้ำมันเป็นดวงๆติดแว่นหลังจากยิงเสร็จ

จากความรู้สึกที่ได้สัมผัสกระบอกเก็บเสียงของชัวร์ไฟร์ในสนามยิงปืน ผมจึงพอจะสรุปได้ว่ามันลดเสียงได้จริง การใช้งานกลางแจ้งอาจจะมีผลในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าใช้ในอาคารหรือที่คับแคบจะมีผลดีต่อทหารมาก เพราะที่แคบทำให้แรงอัดของเสียงทวีขึ้น การใช้กระบอกเก็บเสียงจะช่วยได้ทั้งด้านการลดแรงอัดและการติดต่อสื่อสารของทหาร โดยเฉพาะเมื่อต้องบุกเข้าจู่โจมตรวจค้น

ผมจึงบอกเล่าถึงความสามารถของกระบอกเก็บเสียงเท่าที่สัมผัสของจริงมาได้เท่านี้ ยืนยันด้วยตัวเองว่ามัน"ลดระดับเสียงและแรงอัด"ได้จริง"แต่"ไม่เงียบเหมือนในหนัง" เรื่องความคงทนและอื่นๆที่ผู้ผลิตอ้างนั้นทหารสหรัฐฯในอิรักและอาฟกานิสถานยืนยันได้อยู่แล้ว ส่วนหน่วยรบของไทยที่เพิ่งรับผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ของชัวร์ไฟร์เข้าประจำการ อีกไม่นานก็คงบอกได้เช่นกันว่ามันดีสมคำร่ำลือหรือไม่

กระสุนปืนซุ่มยิงและลาปัว.338แม็กนัม


ในบทความตอนที่แล้วเป็นเรื่องของอาวุธคู่กายของพลซุ่มยิงคือ"ปืนเล็กยาวซุ่มยิง" ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์ที่แตกต่างจากปืนเล็กยาวประจำกายทหารราบทั่วไปเพราะต้องผลิตขึ้นเพื่อจุดประสงค์เฉพาะ ต้องทำลายเป้าหมายได้ในระยะไกลเกินขีดความสามารถของปืนเล็กยาวธรรมดา ฟังดูแล้วอาจจะคิดว่าพ้นจากเรื่องปืนซุ่มยิงไปแล้วคงไม่มีรายละเอียดอะไรให้กล่าวถึงอีก แต่ในความเป็นจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่เพราะยังมีอีกเรื่องให้คำนึง คือกระสุนปืน รายละเอียดต่อไปนี้อาจจะน่าเวียนหัวนิดหน่อยเพราะมีศัพท์แสงแปลกๆผ่านเข้ามามาก ถึงอย่างไรผมก็จะพยายามสุดความสามารถเพื่อใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่ายที่สุด

ถึงแม้จะมีหน้าตาคล้ายๆกันแต่ก็ใช่ว่ากระสุนจะเหมือนกันทุกนัด กระสุนผลิตจากโรงงานเดียวกันแต่ต่างวาระนั้นแตกต่างกัน กระสุนแบบเดียวกันต่างแบรนด์กันก็ไม่เหมือนกันอีก มีตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆคือกระสุนขนาด.30-06หัวกระสุนหนัก150เกรนในท้องตลาดนั้นเอาแค่ความเร็วต้นอย่างเดียว ไม่ต้องพูดถึงระยะเบี่ยงเบนจากศูนย์กลางเป้าที่ระยะ500หลาก็ยังแตกต่างกันแล้ว ในขณะที่กระสุนFederal Hi-Shokมีความเร็ว1,620ฟุตต่อวินาที กระสุนFederal Prem BTSPกลับมีความเร็วต้นแตกต่างไปมากคือ1,907ฟุตต่อวินาที กระสุนWinchester Pwr. Ptวัดความเร็วได้ต่ำสุดคือ1.466ฟุตต่อวินาที พลซุ่มยิงผู้เชี่ยวชาญจึงต้องตระหนักถึงความแตกต่างข้อนี้ ไม่ใช่ว่ามีกระสุนแบบไหนก็ใช้ได้หมดขอเพียงให้มีหน้าตัดตรงตามที่กำหนดให้ใช้กับปืนได้ก็พอ ด้วยเหตุนี้เองหลักสูตรพลซุ่มยิงของกองทัพบกและนาวิกโยธินสหรัฐฯจึงมีชั้นเรียนเฉพาะที่เน้นเรื่องกระสุนกันอย่างเดียว เมื่อกระสุนไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยหัวทองแดงหล่อชิ้นเดียวแต่มีดินขับบรรจุอยู่ในปลอก ถึงจะมีปริมาณเท่ากันแต่ถ้าคุณภาพของดินขับแตกต่างมันก็สร้างความแตกต่างได้มากทั้งพลังงานในการปะทะ ความเร็วต้นและอัตราเบี่ยงเบน

ไหนๆจะเป็นปืนซุ่มยิงกันทั้งทีเพื่อให้ยิงได้นัดละหัว มันก็ต้องแม่นยำเหนือกว่าปืนเล็กยาวประจำกายทั่วไป หน่วยวัดความแม่นของปืนเล็กยาวนี้วัดเป็นMOA(Minute Of Arc) เรียกง่ายๆว่ากลุ่มกระสุน คิดค่าMOAด้วยการให้ปากกระบอกปืนเป็นศูนย์กลางของวงกลมสมมุติชี้ไปในทิศทาง12นาฬิกา แบ่งส่วนเส้นรอบวงออกเป็น360ส่วนแล้วลากเส้นตรงจากปากกระบอกปืนไปจรดเส้นรอบวงนั้น จากจุดที่เส้นตรงสัมผัสเส้นรอบวงหรือ"เป้า"ซึ่งเป็น12นาฬิกาหรือ0องศา สามารถลากไปทางซ้ายหรือขวาก็ได้1ส่วนหรือหนึ่งองศา ระยะจาก0ถึง1องศาที่เห็นเล็กๆนั่นแหละคือค่าความแม่น1MOA ไม่ว่าระยะจากปากกระบอกปืนถึงเป้าจะเป็นเท่าไรตัวเลข1MOAจะเท่ากัน แต่ระยะจาก0ถึง1ย่อมบานออกหรือหุบเข้าตามรัศมีคือระยะที่วัดจากปลายลำกล้องถึงเป้า

ถ้ายิงใกล้ค่า1MOAก็จะน้อยแต่ถ้ายิงไกลค่า1MOAก็จะมากคือกลุ่มกระสุนจะบานออก ยิ่งค่าMOAน้อยแสดงว่ายิ่งแม่น เมื่อกำหนดเอาไว้แล้วว่าต้องเท่านั้นเท่านี้MOAกระสุนจึงต้องเกาะกลุ่มกันให้อยู่ในเกณฑ์ และปืนซุ่มยิงมาตรฐานจะต้องมีค่าความแม่นเท่ากับ1ถึง3MOA ในขณะที่ปืนเล็กยาวมาตรฐานประจำกายจะทำความแม่นที่ระยะเท่ากันได้ระหว่าง3-6MOA ถ้าเป็นปืนซุ่มยิงมาตรฐานของตำรวจก็ต้องทำกลุ่มกระสุนให้หนาแน่นขึ้นไปอีกคือตั้งแต่.25ถึง1.5MOA ทั้งหมดนี้วัดค่าMOAด้วยการยิงกระสุนเป็นกลุ่ม5นัดจากปืนยึดขาตั้งในระยะที่กำหนด

ปืนที่จะทำกลุ่มกระสุนได้ตามกำหนดจะต้องผ่านการทดสอบก่อนทั้งตัวปืนและกระสุน ต้องขึ้นแท่นยิงกันเพื่อตั้งศูนย์ตั้งกล้อง ต้องเลือกกระสุนให้เหมาะกับงานและระยะยิงหวังผล เพราะกระสุนแตกต่างกันแม้จะมีขนาดหัวกระสุนเท่ากัน ถ้าไม่เข้มขนาดต้องโหลดดินขับใส่ปลอกอัดหัวกระสุนไว้ใช้เองเพราะไม่ไว้ใจส่วนผสมจากโรงงานก็ต้องเลือกกระสุนให้ดี การมีค่าMOAเป็นตัวกำหนดความแม่นจึงต้องทำงานเป็นระบบอันประกอบด้วยตัวปืนเองและกระสุน หมายความว่าปืนต้องมีลำกล้องได้มาตรฐาน มีกระสุนที่ดินขับคุณภาพคงเส้นคงวาให้ทั้งความเร็วต้น,พลังงาน,ระยะเบี่ยงเบนจากเป้าเท่ากันหรือแตกต่างกันน้อยที่สุด พอถึงตรงนี้จึงเกิดคำถามว่าถ้าไม่จำเป็นต้องประณีตกันจนทำให้งานฆ่าคนกลายเป็นงานศิลปล่ะจะมีกระสุนสูตรสำเร็จสำหรับพลซุ่มยิงหรือไม่? คำตอบคือมีและกระสุนขนาด.338ลาปัว แม็กนัม(Lapua Magnum)คือหนึ่งในกระสุนยอดนิยม

เรื่องราวของมันเริ่มต้นขึ้นในปี1988เมื่อบริษัทรีเซิร์ช อาร์มาเมนต์ อินดัสตรีส์(RAI)แห่งสหรัฐฯ เริ่มการพัฒนากระสุนชนิดใหม่เพื่อใช้กับปืนเล็กยาวซุ่มยิง ด้วยคุณสมบัติจากการวิจัยที่ประมาณว่ากระสุนที่พุ่งได้ตรงที่สุดและทะลุทะลวงได้มากที่สุด หัวกระสุนต้องหนัก250เกรน(16.2กรัม)มีเส้นผ่าศูนย์กลาง.338นิ้ว พุ่งจากลำกล้องด้วยความเร็วต้น3,000ฟุตต่อวินาที ด้วยสเป็คเช่นนี้จะทำให้มันทะลุทะลวงผ่านแผ่นเกราะกันกระสุนแบบสวมใส่ได้ถึง5ชั้นที่ระยะ1,000เมตร แล้วยังมีแรงมากพอจะสังหารเป้าหมายได้สบายๆ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหมวกเหล็กหรือเคฟลาร์ก็เอาไม่อยู่

จะทำกระสุนให้ได้ตามคุณสมบัติตามนี้ได้ต้องมีเทคโนโลยีที่ดีในระดับหนึ่ง เทคโนโลยีที่ว่านี้ปลอกกระสุนที่ทนแรงอัดรุนแรงของกระสุนปืนซุ่มยิงตามสเป็คได้ เพื่อให้เป็นระบบครบวงจรRAIจึงจ้างบราส เอ็กซ์ทรูชั่น แล็บ(สังกัดบริษัทเบลล์)จากอิลลินอยส์ผลิตปลอกกระสุนขนาด.338/416(8.58x71..) บริษัทฮอร์นาดีจากเนบราสกาผลิตหัวกระสุน ส่วนRAIเองก็สร้างปืนซุ่มยิงใช้กระสุนขนาดดังกล่าวตามสัญญาที่ได้จากกองทัพเรือสหรัฐฯ แต่การณ์กลับไม่เป็นไปดังที่คาดเมื่อปลอกกระสุนของเบลล์ตอบสนองความต้องการไม่ได้ มันฉีก โป่ง บางครั้งก็บิดเบี้ยวจนขัดลำกล้องจนอาจจะทำให้RAIถูกตัดออกจากโครงการได้หากส่งมอบระบบปืนซุ่มยิงให้ได้ไม่ทันเวลา

การถูกเส้นตายเป็นไฟลนก้นและประสบปัญหาด้านการเงินทำให้RAIถูกปรับออกไปจริงๆ ในที่สุดผู้ที่เข้ามาเสียบแทนRAIก็คือบริษัทLapua(ลาปัว)จากฟินแลนด์ซึ่งจะทำทั้งหมดตั้งแต่หัวกระสุน ปลอกและดินขับ กว่าจะสร้างกระสุนตามสเป็คได้คือ.338/416นิ้วก็เล่นเอาหืดขึ้นคอ เพราะการทำหัวกระสุนให้หนัก16.2กรัมแล้วพุ่งได้เร็ว3,000ฟุตต่อวินาทีนั้นไม่ใช่ง่ายๆ นอกจากหัวกระสุนจะได้มาตรฐาน มีปลอกที่ทนทานแรงอัดมหาศาลได้แล้วดินขับต้องได้มาตรฐานเหมือนกันทุกนัด พอสอบผ่านได้สัมปทานลาปัวก็"เกิด"ได้อย่างสมภาคภูมิในกองทัพเรือสหรัฐฯ คุณประโยชน์ของกระสุนชนิดนี้ทำให้มันถูกใช้แพร่หลายไปในหมู่พลซุ่มยิงของอีกสามเหล่าทัพ และตำรวจในบางรัฐที่อยากได้ของดีแต่ไม่ต้องเลือกมาก

รูปพรรณสัณฐานของ.338ลาปัวแม็กนัมนั้นแทบไม่ต่างกันเลยจากกระสุนปืนเล็กยาวทั่วไป ต้องเอามาวางเทียบกันก่อนจึงจะเห็นความแตกต่างชัดเจนในด้านขนาดทั้งหัวกระสุนและปลอกซึ่งบรรจุดินขับไว้ มันมีคำว่า"Magnum”ต่อท้ายเพื่อรับประกันความรุนแรงของการเจาะทะลุทะลวง ใช้การจุดระเบิดด้วยชะนวนกลางจานท้ายปลอกแบบเดียวกับปืนเล็กยาวประจำกายทั่วไป ความแรงของลาปัวทำให้มันกลายเป็นกระสุนเอนกประสงค์ จะใช้ยิงทำลายวัตถุหรือสังหารข้าศึกก็ได้ตราบใดที่อยู่ในระยะยิงหวังผล ด้วยน้ำหนักและรูปทรงอันเหมาะเจาะของมัน.338ลาปัวสามารถเจาะทะลุแผ่นเกราะมาตรฐานLevel3ที่กันกระสุนอาก้าได้สบายๆ การใช้หัวกระสุนหนักทำให้มันเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำแบบซับโซนิก ผลพลอยได้คือเงียบเพราะไม่มีเสียงแหวกอากาศดังให้ได้ยินแต่ยังคงความแรงอยู่เพราะน้ำหนักของหัวที่ค่อนข้างมาก

ด้วยคุณสมบัติที่มีแรงทะลุทะลวงสูงและเงียบนี้เอง .338ลาปัว แม็กนัมจึงกลายเป็นกระสุนยอดนิยมของพลซุ่มยิงสหรัฐไปได้ไม่ยาก มันช่วยชาติมาแล้วในสงครามครั้งสำคัญๆ คือสงครามอ่าวทั้งสองครั้งและปัจจุบันยังใช้กันอยู่ในสงครามทั้งอาฟกานิสถานและอิรัก ถึงระยะหวังผลให้เจาะเกราะหรือยานยนต์ไม่เสริมเกราะได้ในระยะ1,000เมตร กระสุนนี้ยังยิงได้ไกลสุด1,750เมตร ความเร็วต้นของกระสุนของลาปัวขึ้นอยู่กับปริมาณดินขับและอุณหภูมิซึ่งจะผันแปรได้ตั้งแต่2,900ฟุตต่อวินาทีถึง3,000ฟุตต่อวินาที หากใช้หัวกระสุนพาณิชย์หนัก250เกรน ให้พลังงาน6,525จูลส์

ส่วนความเหมาะสมทางด้านการใช้งานที่ทำให้ได้ชื่อว่าเอนกประสงค์ ก็คือมันเป็นกระสุนที่เข้ามาเสริมช่องว่างระหว่างกระสุนมาตรฐานขนาด7.62x51มาตรฐานนาโตของปืนเล็กยาว กับกระสุนใหญ่อำนาจทำลายล้างสูงขนาด.50ของปืนกลหนักM2ที่ใช้ได้กับปืนซุ่มยิงขนาดหนักอย่างM82 ของบาเร็ตต์ กระสุนที่แรงขนาดกลางๆซ้ำยังเงียบเชียบได้ขนาดนี้ยังช่วยรักษาลำกล้องปืนไม่ให้สึกหรอเร็วเกินไปอีกด้วย ซึ่งเรื่องแบบนี้นับว่าสำคัญสำหรับพลซุ่มยิงของทหารซึ่งต้องฝึกด้วยการยิงกระสุนปีละหลายๆพันนัดเพื่อฝึกฝนทักษะ ส่วนข้อด้อยของลาปัวก็ไม่แตกต่างจากกระสุนใหญ่ทั่วไปคือมีแรงถีบหนัก แต่ก็ชดเชยได้ด้วยการเลือกใช้พานท้ายกับมัสเซิลเบรกที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยลดแรงถีบนี้ได้มาก ช่วยให้ทหารยิงกระสุนได้มากกว่าเดิมก่อนที่จะรู้สึกอ่อนล้าจนควบคุมปืนให้แม่นไม่ได้

นอกจากกองทัพจะใช้.338ลาปัวแม็กนัมเป็นกระสุนมาตรฐานของพลซุ่มยิง คุณสมบัติอันโดดเด่นของมันทำให้พลเรือนสนใจจนเอาไปยิงสัตว์เป็นเกมกีฬา(ไม่ใช่ที่บ้านเราแน่นอน) มันล้มสัตว์ใหญ่ได้ในนัดเดียวทั้งควายอาฟริกัน,ฮิปโปโปเตมัส,แรดและช้างอาฟริกันถ้ายิงด้วยมุมเหมาะๆ

สำหรับการเสียชีวิตของพลตรีขัตติยะ สวัสดิผลนั้น เมื่อเกิดเหตุใหม่ๆได้ทำให้เกิดเสียงร่ำลือกันมากว่าน่าจะเกิดจากพิษสงของ.338ลาปัว แม็กนัมหรือเปล่า แต่จากบาดแผลที่เห็นนั้นค่อนข้างเชื่อได้ยากว่าจะเกิดจากกระสุนขนาดใหญ่และหนักเช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านปืนเล็กยาวบางท่านให้ทัศนะว่าหากเป็น.338ลาปัวจริงกะโหลกของเสธ.แดงต้องระเบิดไปแล้วแต่ก็ไม่ หรืออย่างน้อยๆสมองก็ต้องกลายเป็นวุ้นไปเพราะแรงหมุนคว้านอันเกิดจากเกลียวลำกล้อง เสียชีวิตคาที่แน่นอน แต่บางท่านก็ให้ทัศนะว่ามีสิทธิ์เป็นไปได้หากยิงมาจากที่ไกล หรืออาจจะไม่ใช่.338ลาปัวแต่เป็นกระสุนที่เล็กกว่าและยิงใกล้กว่าอย่าง.22

กระสุน.338ลาปัว แม็กนัมจะเป็นเหตุหรือไม่นั้นตอนนี้คงไม่ใช่ประเด็นให้พูดคุยกันแล้ว มีแต่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้นที่ต้องสางคดีให้ออกว่า"ใคร"อยากฆ่าเสธ.แดง ไม่ใช่"อะไร"ที่ทำให้เสธ.แดงตายซึ่งอีกไม่นานก็คงได้รู้กัน