วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตอบจดหมายเรื่องซูดาน


เนื่องจากผู้อ่านท่านหนึ่งใช้ชื่อแฝงว่า"คนบนดอย"ได้กรุณาเขียนจดหมายมาแสดงความคิดเห็น ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่26กุมภาพันธ์ต่อบทความของผมในตอน"ซูดานกับทหารไทย" ท่านแสดงความคิดเห็นว่าที่ผมเห็นว่าซูดานมีโอกาสเกิดความรุนแรงนั้นผมอาจจะตื่นตระหนกเกินไปหรือเปล่า โดยได้แสดงความคิดเห็นสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้คือ 1.ซูดานสงบสุขมาตั้งแต่ปี2005ด้วยการลงนามในสัญญาสันติภาพกันระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ จนได้รัฐบาลที่มีเอกภาพมาปกครองแล้ว2.ทหารไทยเคยไปร่วมงานกับสหประชาชาติ(ยู.เอ็น.)มาแล้วในประเทศบุรุนดี หนึ่งในทวีปอาฟริกาซึ่งโหดและกันดารพอกัน ได้รับคำชมเชยจากยู.เอ็น.ด้วยจึงไม่น่าเป็นห่วงเพราะเรามีประสบการณ์ และ3.ถ้าทหารไทยไปซูดานจริงสภาพแวดล้อมก็จะเหมือนในภาพยนตร์เรื่องOut of Africaมีแต่ความสงบร่มเย็นรื่นรมณ์สุนทรีย์ การบอกว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์แบบBlackhawk Downนั้นคือการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป ผมจึงขอใช้เนื้อที่ตรงนี้เพื่อตอบข้อข้องใจของท่าน ด้วยเกรงว่าหากตอบในหน้าตอบจดหมายอาจไม่พอเพราะมีรายละเอียดมาก

ในข้อสังเกตแรกนั้นผมขอตอบว่านั่นคือข้อมูลเมื่อปี2005แต่ปีนี้คือ2010 ที่คุณคนบนดอยว่าสงบนั้นจริงๆแล้วมีคลื่นใต้น้ำแน่ เพราะถึงจะมีสัญญาสันติภาพกันแล้วระหว่างกลุ่มJustice and Equality Movement(JEM)กับประธานาธิบดีของซูดาน นั่นก็เป็นการเจรจาหยุดยิงเฉยๆยังไม่มีใครยอมมอบอาวุธ ถ้าเกิดทั้งสองฝ่ายที่มีลูกน้องหนุนหลังอยู่เป็นพรวนเกิดไม่สบอารมณ์ด้วยเงื่อนไขบางประการขึ้นมา อาวุธที่ยังอยู่ในมือกลุ่มกำลังพวกนี้ครบถ้วนก็จะถูกขนออกมาถล่มกันแน่ ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนาในซูดานหยั่งรากลึกครับ การแค่จับมือกันแล้วจรดปากกาทำสัญญาสันติภาพคงหยุดความขัดแย้งแบบยั่งยืนไม่ได้

ผู้สื่อข่าวเจมส์ ค็อปนอลล์จากสำนักข่าวบีบีซีวิเคราะห์ไว้แล้วครับ(http://news.bbc.co.uk/2/hi/africa/8533097.stm) เมื่อวันที่23กุมภาพันธ์ปีนี้เอง ผมขออนุญาตไม่แปลบทความนี้ที่เขาวิเคราะห์ไว้ยาวเหยียดนะครับ แต่สรุปได้ว่าดาร์ฟูร์ไม่ใช่ที่ที่จะไปเดินเล่น ยู.เอ็นขอกำลังทหารราบของเราไปเพื่อคุ้มครองขบวนรถยนต์ลำเลียงปัจจัยเพื่อมนุษยธรรมที่นำไปแจกยังถิ่นกันดาร ซึ่งแต่ละพื้นที่นั้นอยู่ในเขตอิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพวกอาฟริกันยูเนียนเองก็เอาไม่อยู่ คนน้อย เงินน้อย กำลังไม่พอ ได้งบประมาณมาก็รั่วไหล เขาจึงต้องขอกำลังสหประชาชาติซึ่งส่งผ่านคำขอมายังสมาชิกอย่างเรา

ข้อ2ที่ท่านได้กรุณาให้ข้อมูลว่าเราเคยส่งทหารไปทำหน้าที่แล้วในบุรุนดีกับกองกำลังUNUB นั้น ผมขอขอบคุณ แต่ใคร่ชี้แจงว่าที่ไปบุรุนดีนั้นเป็นทหารช่างเพื่อไปซ่อมสร้างระบบสาธารณูปโภค อาคารสถานที่ มีคนคอยคุ้มกันให้ทำงานได้สบายๆอยู่แล้วไม่ได้ให้ไปคุ้มกันขบวนคอนวอยเหมือนในดาร์ฟูร์ครั้งนี้ การไปช่วยเหลือใครๆนั้นได้บุญกุศลแน่แต่เราเองล่ะพร้อมแค่ไหน กองกำลังที่ต้องเตรียมพร้อมในระดับของurban warfareนั้นได้ฝึกฝนและมีสิ่งอุปกรณ์พร้อมหรือเปล่า? ผมต้องแสดงความเป็นห่วงเพราะรู้มาว่ามันไม่พร้อม สิ่งอุปกรณ์ที่จะให้ทหารติดตัวไปนั่นยังเป็นรูปแบบเดียวกับที่ไปติมอร์อยู่ มุ่งเน้นปฏิบัติการจิตวิทยาเต็มที่แต่นี่ไม่ใช่ เราไปคุ้มกันขบวนรถลำเลียงอาหารและปัจจัยเพื่อมนุษยธรรมจากยู.เอ็น. ไม่ต้องป...แล้ว

ที่ว่ากองทัพได้พิจารณาถี่ถ้วนแล้วนั้นผมไม่เถียงครับ ไม่ได้บอกว่าเราบุ่มบ่าม เราคิดดีแล้วจึงส่งคนไปแต่เรื่องความพร้อมล่ะแค่ไหน? ให้ทหารสวมแผ่นเกราะlevel 3หรือที่ป้องกันได้มากกว่านั้นหรือไม่? ยังคิดจะเอาโปงลางไปเล่นเหมือนที่ติมอร์หรือเปล่า? ทหารได้มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในค่ายฝึกเป็นเดือนได้ยิงกระสุนอย่างพอเพียง หรือฝึกกันแค่สองอาทิตย์แล้วยิงปืนเล็กยาวกันไม่เกินวันละห้าสิบนัด? สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงก็จริงในตอนนี้แต่ยังมีเหตุการณ์ยั่วยุประปราย มีรายงานจากกองกำลังUNAMIDที่ทหารเราจะไปสมทบมาเมื่อกลางปีที่แล้วดังนี้ครับ

El Fasher, 8 May 2009 – (UNAMID):At approximately 20:30 hours, unidentified gunmen shot the male military observer as he was opening the gate of his residence in Nyala, the state capital, to park his vehicle. The peacekeeper was rushed to a nearby UNAMID medical centre for treatment but died upon arrival ถอดความได้ว่า"ในเวลาประมาณสองทุ่มครึ่งมีกลุ่มมือปืนบุกยิงผู้สังเกตการณ์ทางทหาร ขณะกำลังเปิดประตูบ้านในเมืองไนอาลาเมืองหลวงของดาร์ฟูร์ เพื่อจอดรถ เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพผู้นี้ถูกนำส่งโรงพยาบาลของUNAMIDใกล้ที่สุดแล้วแต่เสียชีวิตเมื่อถึงโรงพยาบาล" ขนาดแค่ไปสังเกตการณ์มันยังยิง!

ข่าวจากUNAMIDเช่นกัน แจ้งว่า เมื่อ29 ..2009 กกล.ติดอาวุธโจมตี ขบวน ของ UNAMID ซึ่ง คุ้มครอง ขบวน รถบรรเทาทุกข์ระหว่างที่เดินทาง อยู่ในเขต เอล เกไนนา(El Geneina) ในดาร์ฟูร์ตะวันตก ผล จนท.UNAMID ตาย2 นายบาดเจ็บ ๒ นาย(ผมขอไม่ยกภาษาอังกฤษมาอ้างล่ะเพราะจะยืดยาวเกินไป) คราวนี้ขบวนคุ้มครองคอนวอยของUNAMIDโดนถล่มเองทั้งที่ติดเครื่องหมายยู.เอ็น!

อีกชิ้นหนึ่งยาวยืดไปนิด แต่อยากให้ดูกันคือรายงานจากUNAMID ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น ตามนี้:23 November 2009 -- Increased threats to international staff in Darfur, including “extremely alarming” kidnappings, ongoing military action by Chad, Sudan and rebels, and Government limits on peacekeepers’ movements continue to hamper efforts to stabilize the Sudanese area torn apart by nearly seven years of war, says a new report by United Nations Secretary-General Ban Ki-moon. อันนี้นายบัน คี มูน เลขาธิการยูเอ็นพูดเองผมไม่ได้นั่งเทียนแต่งขึ้นครับ ดูจากวันที่จะเห็นว่าสดๆเลยคือปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้คือแค่บางส่วน หากจะแสดงรายงานกันทั้งหมดคงได้บทความใหม่ยาวเหยียดอีกหลายตอน

เขตรับผิดชอบของUNAMIDที่เราจะไปสมทบยังตึงเครียดคาดเดาอะไรไม่ได้เอาเลย ยังมีการต่อสู้ด้วยอาวุธเบาและหนักประปรายตลอดตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้วถึงปัจจุบันเป็นสิบครั้ง โดยเฉพาะในเขตใต้(sector south)ของดาร์ฟูร์ที่เมืองชีอาเรียห่างจากไนอาลาไป70..ระหว่างกลุ่มอำนาจที่รัฐบาลหนุนกับฝ่ายกบฏ ผลคือตายไปข้างละสองศพเมื่อเดือนกันยายน ถัดมาคือเมื่อธันวาคมก็มีการปะทะกันอีกในหมู่บ้านเนเกฮาตรงรอยต่อระหว่างคอฮ์ อาเบเชกับชีอาเรียในเขตใต้ ครั้งนี้ตาย7เจ็บ6ทั้งหมู่บ้านวอดไม่เหลือจนชาวเมืองพลัดถิ่นถึง14,000คน ทั้งยู.เอ็น.และเอ็น.จี.โอตอนแรกเข้าไม่ถึงเพราะกลุ่มติดอาวุธที่ยังครองพื้นที่ขู่จะโจมตี แต่ปัจจุบันเข้าไปแจกของได้แล้ว ที่ใกล้เข้ามาหน่อยคือเดือนมกราคมนี้จนถึงปัจจุบัน เกิดการสู้รบขึ้นในเมืองเดริบาตเขตยึดครองของกลุ่มอับเดล วาฮีด คาดว่ามีผู้เสียชีวิต200-400ศพ ประชากรเดือดร้อนจากสงครามมากกว่า40,000คน กลุ่มติดอาวุธไม่ยอมให้ยู.เอ็น.เข้าไปตรวจสอบและขู่ว่าจะฆ่าไม่เหลือหากยังฝ่าฝืน

ไม่ว่าคนนอกดาร์ฟูร์จะมองสถานการณ์่ว่าอย่างไรก็ตามUNAMID สรุปไว้ชัดๆ "ณ ปัจจุบันสำหรับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งหมดในเขต South Darfur สถานการณ์ยังคงอยู่ในลักษณะค่อนข้างเปราะบางและไม่สามารถคาดการณ์ได้ "

ดังนั้นหากจะบอกว่าเราได้บุญกุศลจากการไปซูดานผมก็เห็นด้วย แต่ความพร้อมของทหารในระดับ"หน่วยรบ"ล่ะอยู่ตรงไหน เห็นผอมๆเหมือนกระดูกเดินได้นั่นพวกอาฟริกันไม่โง่หรอกครับ พวกนี้จะจับตาดูทหารเราและยูเอ็น.ตั้งแต่ก้าวลงจากเครื่องบิน อยากรู้ว่าเรา"เจ๋ง"หรือไม่แค่ลองถล่มฐานดูวันแรกก็รู้แล้ว ว่าเราจะสับสนอลหม่านหรือรวมกำลังกันตั้งรับอย่างเป็นระบบ ทหารรีบคว้าอาวุธแล้ววางแนวป้องกันฐานหรือนั่งร้องไห้เรียกหาแม่ก็จะได้เห็นกันตอนนี้ ได้บุญได้กุศลแต่ไม่พร้อมเพราะประมาทก็จะเหมือนเอากองทัพไทยไปขายหน้าเท่านั้น มันอาจจะร้ายยิ่งกว่านั้นถ้าคนของเราตายขึ้นมา ต้องแยกให้ออกนะครับว่าระหว่างคนตัดสินใจส่งคนไปรบกับคนที่ทำงานในระดับยุทธวิธีน่ะมันต่างกัน นายสั่งได้แต่ลูกน้องล่ะมีคนดูแลเขาดีแค่ไหน มีสิ่งอุปกรณ์ไว้รักษาชีวิตแค่ไหน? ลองคิดด้วยตรรกะสักนิดว่าถ้าอะไรๆมันสงบเรียบร้อยอยู่แล้วยู.เอ็นจะเข้าไปทำไม?

ตรงนี้แหละที่ผมตั้งคำถาม เพราะเราใช้ทหารราบซึ่งเป็นหน่วยรบในดาร์ฟูร์ ไปคุ้มครองขบวนรถลำเลียงอาหารและเครื่องเวชภัณฑ์ ต้องอยู่ในส่วนล่อแหลมต่อการถูกโจมตี ไม่ใช่ไปนั่งโต๊ะเคาะคีย์บอร์ดหรือขับแทรคเตอร์สร้างทางในวงล้อมของทหารอาวุธครบมือคอยคุ้มกันให้ โดยเราขนอาวุธไปเองแต่ยู.เอ็นจ่ายค่าเช่าอาวุธ ไม่ได้ไปใช้อาวุธของเขา

ในข้อ3ที่ผมบอกว่าสถานการณ์เปรียบเทียบได้กับBlack Hawk Downนั้น ผมตั้งใจจะหมายความถึง"ถ้า"เกิดเรื่องขึ้นมาเราอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น ตอนนี้ยังสงบแต่"ถ้า"มันถล่มกันตอนเราทำหน้าที่ล่ะจะว่าอย่างไร ฝึกให้หนัก หาของให้ทหารไว้ให้พร้อมก่อนไม่ดีหรือจะได้ไม่ต้องเสียน้ำตา หรือถ้าจะคิดว่าชีวิตทหารของเรามันไม่มีค่าก็ไม่ว่ากันครับ จะได้บอกลูกชายเพื่อนๆว่าโตขึ้นอย่าเป็นทหาร หาทางเป็นนักการเมืองให้ได้ดีกว่าทั้งรวยทั้งสบาย

ขอบคุณคุณคนบนดอยครับที่กรุณาแนะนำให้ดูภาพยนตร์Out of Africa ผมเองก็ได้ดูแล้วหลายครั้งครับ นิยายของบารอนเนสคาเรน บลิกเซน ฟินเน็กซ์คุณหญิงนักเขียนชาวเดนมาร์ค(ใช้นามปากกาว่าไอแซ็ค ไดนีเซน)เรื่องนี้ผมก็อ่าน เธอตามท่านบารอนบรอว์ บลิกเซน ฟินเน็กซ์สามีไปทำไร่กาแฟที่นั่น ทิวทัศน์ของอาฟริกาสวยงามจริง มีน้ำตกมีทะเลสาปมีทุ่งหญ้าเห็นกวางวิ่งนกบินเหมือนภาพฝัน ประโยคเด็ดที่คาเรนพูดตอนนั่งเครื่องบินเป็นครั้งแรกคือ"เดนิส ฟินซ์ ฮัตตันทำให้ฉันได้เห็นโลกด้วยสายตาของพระเจ้า" แต่บังเอิญคุณบารอนเนสเธอไปทำไร่กาแฟไม่ได้ไปถือปืนM4คุ้มกันคอนวอยอาหารและยา ไม่ต้องสวมหมวกเคฟลาร์ใส่เสื้อเกราะหนักอึ้งเพื่อป้องกันกระสุนปืนอาก้าขนาด7.62..

สถานการณ์ของคาเรน บลิกเซนจึงไม่เหมือนที่ทหารของเรากำลังจะเจอ ถ้าอยากจะสุนทรีย์ก็ต้องตีตั๋วนักท่องเที่ยวซึ่งคงได้ไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวอันปลอดภัยที่เขาจัดไว้ให้ อารมณ์ดาร์ฟูร์ในปี2010กับเคนยาในปี1924 มันคนละอารมณ์กันครับ และรู้สึกขอบคุณที่คุณ"คนบนยอดดอย"ได้สละเวลาอันมีค่าแสดงความคิดเห็นมา


ซูดาน ทหารไทย ทำไมต้องทหารราบ


ซูดานคือประเทศหนึ่งในอาฟริกาซึ่งชาวโลกแทบไม่ให้ความสนใจเท่าไรนัก ประเทศนี้เป็นที่รู้จักจากความยุ่งเหยิงทางการเมืองและการทำสงครามระหว่างเผ่าต่างๆมาเนิ่นนานนับร้อยปี ทั้งที่ข้าวปลาอาหารก็แทบจะไม่พอประทังชีวิตพลเมืองทั้ง42ล้านกว่าคนอยู่แล้วแต่ก็ยังมีความแตกแยกเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซูดานโดดเด่นขึ้นเมื่อถูกจับตาจากสหรัฐฯภายหลังและก่อนเหตุการณ์9/11ในฐานะเป็นที่ซ่องสุมของกลุ่มก่อการร้ายอัล กออิดะห์ที่มีโอซามา บิน ลาเดนเป็นหัวโจก แต่ที่แย่กว่านั้นคือความขัดแย้งระหว่างเผ่าในพื้นที่เมืองดาร์ฟูร์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี2003 เมื่อคำนึงถึงที่ตั้งซึ่งรายล้อมไปด้วยประเทศที่มีแต่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเช่นชาด,อีริเทรีย,เอธิโอเปีย,คองโก,อูกานดาและเคนยา จึงไม่น่าแปลกใจที่ซูดานซึ่งอยู่ตรงกลางจะเป็นเหมือนแอ่งให้กลุ่มติดอาวุธต่างๆไหลลงไปรวมตัวกันอยู่ตรงนั้น

ความขัดแย้งในดาร์ฟูร์เริ่มขึ้น เมื่อกองกำลังติดอาวุธชื่อเอสแอลเอ(Sudan Liberation Army:SLA)และกลุ่มเจอีเอ็ม(Justice and Equally Movement:JEM)ในดาร์ฟูร์ กล่าวหารัฐบาลว่ากดขี่ชาวอาฟริกันผิวดำแต่เอื้อประโยชน์ให้แต่ผู้มีเชื้อสายอาหรับ พอเริ่มพยายามล้มอำนาจรัฐด้วยอาวุธ ฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีกองกำลังจันจาวีดที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอาฟริกันเชื้อสายอาหรับทางภาคเหนือเป็นพวก ก็รวมกำลังเข้าปราบปรามฝ่ายกบฎทั้งเอสแอลเอ็มและเจอีเอ็มที่ประกอบกันขึ้นจากชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ไม่ใช่อาหรับ คือเผ่าฟูร์,ซากาวาและมาซาลิต แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลจะปฏิเสธคอเป็นเอ็นว่าไม่ได้หนุนกลุ่มจานจาวีดแต่ก็ยังถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือด้านเงินทองกับกองกำลังนี้รวมถึงร่วมถล่มเป้าหมายพลเรือนไร้อาวุธฝ่ายตรงข้ามอีกหลายครั้ง

ความฉาวโฉ่ของรัฐบาลซูดานเกิดขึ้นบ่อยราวกับไม่แคร์ชาวโลก โดยเฉพาะเรื่องความพยายามปกปิดหลุมศพรวมของเหยื่อการสังหารหมู่ ตามมาด้วยการจับกุมและคุกคามบรรดาสื่อมวลชนและการจำกัดขอบเขตการเสนอข่าวความเคลื่อนไหวในเมืองดาร์ฟูร์ ต้องปิดบังเพราะการรบราฆ่าฟันในดาฟูร์ไม่ธรรมดาแต่แทบจะเหมือนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพราะคนตายกันเป็นเบือ ประมาณว่าตั้งแต่เกิดความขัดแย้งเมื่อปี2003ถึงปัจจุบันนั้นมีชาวซูดานเสียชีวิตไปแล้วเกือบครึ่งล้าน จนรัฐบาลสหรัฐฯให้คำจำกัดความวิกฤติการณ์ดาร์ฟูร์ว่า"การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ" ถึงจะตายกันขนาดนี้แต่สหประชาชาติ(ยูเอ็น)ในเดือนมกราคมปี2005ยังไม่ยอมรับว่าเป็น ด้วยรายงาน176หน้ามีรายละเอียดว่าแม้จะมีการสังหารหมู่และฆ่าข่มขืนต่อประชาชนชาวดาฟูร์ก็ตาม ก็ยังจัดเข้าประเภทการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ได้เพราะไม่มีเจตนาจะลบชนเผ่าไหนออกจากโลกโดยเฉพาะ แตกต่างจากการกำจัดชาวยิวของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่2ที่มุ่งล้างผลาญแต่ชาวยิวไม่ให้เหลือในเยอรมนี แม้แต่องค์กรนิรโทษกรรมสากลจะเรียกร้องให้องค์กรสากลต่างๆเข้าไปแทรกแซงก็ยังหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดว่าการสังหารล้างเผ่าพันธุ์

ถึงจะไม่มีเจตนาล้างผลาญเผ่าพันธุ์ใดโดยเฉพาะเพราะมุ่งล้มอำนาจรัฐ แต่เมื่อมีคนบริสุทธิ์ล้มตายกันมากขนาดนี้กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อมนุษยธรรมต่างๆจึงต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือ เมื่อเข้าไปพบสภาพที่เป็นจริงทั้งกลุ่มพันธมิตรปกป้องดาร์ฟูร์(Save Darfur Coalition),กลุ่มเอจิส ทรัสต์(Eagis Trust)และเครือข่ายต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์(Genoside Intervention Network)จึงพบว่าไม่ว่าจะล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่เมื่อผู้คนล้มตายขนาดนี้แล้วย่อมไม่ต่างกัน

พอรบถึงเดือนพฤษภาคม2006จนคนตายเกลื่อนและที่รอดอยู่ก็อดอยากไร้ที่อยู่ ฝ่ายกบฏเอสแอลเอซึ่งนำโดยหัวหน้าคือมินนี มินนาวีจึงขอเซ็นสัญญาสงบศึกกับรัฐบาลซูดาน แต่อีกกลุ่มคือเอสแอลเอ็มของอับดุล วาฮิด อัล นูร์กลับไม่ยอมลงนาม จะขอสู้ต่อจนถึงที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจึงมีมติรับรองข้อตกลงที่1706 ในวันที่31สิงหาคม2006ให้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าดาร์ฟูร์26,000นาย เพื่อสนับสนุนกองกำลังรักษาสันติของสหภาพอาฟริกัน(African Union :AU)จำนวน7,000นาย ที่ถือว่าน้อยและใช้ยุทโธปกรณ์ด้อยคุณภาพ แต่มันไม่ง่ายเมื่อรัฐบาลซูดานต่อต้านมติยูเอ็น.ดังกล่าวและถือว่ากองกำลังทั้ง26,000นายนี้จะมีฐานะเป็นผู้รุกรานทันทีที่เท้าเหยียบแผ่นดินซูดาน เพื่อไม่ให้เสียเวลาจึงเปิดฉากโจมตีใหญ่ทันทีหลังยูเอ็น.ประกาศข้อตกลงเพียงวันเดียว ล่วงเลยมาถึงเดือนมีนาคมปีถัดมาคณะผู้แทนของยูเอ็น.ก็ประณามรัฐบาลซูดานที่ก่อความรุนแรงจนคนตายไปอีกเป็นหมื่นดาร์ฟู แล้วร้องขอให้องค์กรสากลเข้าแทรกแซงด่วนเพื่อปกป้องชีวิตพลเรือนไร้อาวุธไม่ให้สูญเสียไปมากกว่านี้

ยูเอ็น.ต้องส่งทหารเข้าไปในดาร์ฟูร์ เพราะลำพังทหารรัฐบาลซูดานแค่7,000นายที่รักษาความสงบนั้นไม่พอจะป้องชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือน อีกทั้งอาวุธยังน้อยและล้าสมัย ส่วนล่ามอีก150คนของกองทัพก็นัดหยุดงานเพราะรัฐบาลไม่จ่ายค่าจ้างให้ แล้วพอเอาจริงๆเข้าพวกทหารทั้งเจ็ดพันนี้ก็ป้องกันตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ เรื่องจะไปดูแลคนอื่นนั้นแทบไม่ต้องพูดถึงเลยเพราะทำไม่ได้ กองกำลังติดอาวุธที่รบพุ่งกันอยู่นั้นได้อาวุธจากรัสเซียเป็นส่วนใหญ่ถึง87เปอร์เซ็นต์ มีประมาณ8เปอร์เซ็นต์ที่มาจากจีนส่วนที่เหลือก็มาจากที่อื่นๆทั้งผ่านชายแดนเข้ามา และด้วยการขนอาวุธของพ่อค้าอาวุธเถื่อนซึ่งหากแฟนคอลัมน์ย้อนกลับไปอ่านเรื่องการค้าอาวุธเถื่อนทั้งสี่ตอนที่เพิ่งจบลงไปจะเข้าใจถึงความเป็นไปได้ในการลำเลียงอาวุธเข้ามาทางอากาศ

ทั้งที่การฆ่าล้างผลาญในดาร์ฟูร์รุนแรงและผู้คนล้มตายราวใบไม้ร่วง แต่องค์กรระหว่างประเทศกลับให้ความช่วยเหลือน้อยมากโดยเฉพาะกับประเทศสมาชิกยูเอ็นรายใหญ่ๆที่ร่ำรวย สหรัฐฯนั้นคงจำกัดความช่วยเหลือไว้แค่สิ่งอุปกรณ์เพราะยังเข็ดเขี้ยวอยู่กับฝันร้ายจากเหตุการณ์Blackhawk Downในโซมาเลียเมื่อปี1993สมัยรัฐบาลคลินตัน จนประกาศเป็นหลักการว่าจะไม่ใช้กองกำลังขนาดใหญ่เข้าแทรกแซงสภาวะสงครามกลางเมืองที่ไหนอีก วิกฤติการณ์ดาร์ฟูร์เริ่มเมื่อปี2003แล้วล่วงเลยมาจนถึง2006โดยมีความพยายามเข้าแทรกแซงจากต่างชาติน้อยมาก ทั้งที่เรื่องน้ีสามารถคาดเดาเหตุการณ์ออกและระงับการล้างผลาญได้ก่อนจะลุกลามจนตายไปเป็นแสน แต่ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจหยิบยื่นความช่วยเหลือ

หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายมีการตั้งข้อหาอาชญากรสงครามต่อโอมาร์ อัล-บาชีร์ประธานาธิบดีซูดาน โดยเฉพาะข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นโดนถึงสามข้อหา ตามด้วยห้าข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและฆาตกรรมอีกสองข้อหา เพราะมีหลักฐานปรากฎชัดว่าเขาอยู่เบื้องหลังและสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมดังกล่าวจริง โดยเฉพาะต่อการล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยสามเผ่าในดาร์ฟูร์ แม้จะตั้งข้อหากันเรียบร้อยและดูเหมือนจะสงบแต่ความจริงก็ไม่ใช่ เมื่อความรุนแรงแพร่ขยายไปยังเมืองอื่นๆและตรงชายแดนที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ ทางด้านองค์กรระหว่างประเทศรวมทั้งสหประชาชาติยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเพื่อสันติแต่ก็มีกองกำลังส่วนหนึ่งเข้าไปปฏิบัติการร่วมกับสหภาพอาฟริกันแล้วคือUNAMID ตามมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่1769

ในฐานะสมาชิกของยูเอ็น. ไทยคือชาติที่ถูกขอความร่วมมือซึ่งมีงบประมาณให้โดยเราทำเพียงส่งทหารไปเข้าร่วมกับUNAMIDหรือกองกำลังปฏิบัติการร่วมของยูเอ็น.เมื่อพร้อม เช่นเดียวกับจีนซึ่งส่งกองร้อยทหารช่างเข้าไปแล้ว จากรายละเอียดที่แสดงให้เห็นตั้งแต่ต้นจะทำให้เข้าใจได้ว่าซูดานแตกต่างจากอิรัก โดยเฉพาะด้วยรายละเอียดที่ว่ายูเอ็น.ต้องการทหารราบจากไทยไม่ใช่ทหารช่างหรือบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ไหน เมื่อมองจากจำนวนชาวดาร์ฟูร์สองล้านครึ่งที่ไร้ที่อยู่อาศัยและที่ตายไปอีกหลายแสน ที่นี่จึงไม่เหมือนอิรักที่สงบได้ระดับหนึ่งก่อนทหารไทยจะเข้าไปตั้งค่าย ครั้งนั้นเราใช้หัวหน้าหน่วยเป็นมุสลิมและปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างได้ผล ชาวอิรักต่อต้านคนไทยน้อยเพราะเบื่อหน่ายสงครามและอีกประการหนึ่งคือยังไม่อดอยากเท่าที่อาฟริกา การครอบครองแหล่งน้ำมันใหญ่และมีกำลังทหารสหรัฐฯที่เข้มแข็งปกป้อง จึงทำให้สถานการณ์ในอิรักไม่รุนแรงเท่าดาร์ฟูร์ ประกอบกับบริเวณตั้งค่ายของเราก็ยังนับว่าเสี่ยงน้อยกว่า

แต่กับดาร์ฟูร์นี้กลุ่มติดอาวุธที่รัฐบาลซูดานให้ท้ายคือจานจาวีดก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเลิกก่อกวน โดยเฉพาะด้วยความเป็นกองโจรซึ่งรัฐบาลปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นนี้เองที่ทำให้กลุ่มนี้น่ากลัว สามารถสร้างความเสียหายได้ย่อยยับโดยทหารฝ่ายรัฐบาลอาจทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสีย ฐานทัพของกองกำลังรักษาสันติภาพก็เคยถูกพวกนี้เผาเสียราบมาแล้วจึงวางใจไม่ได้ว่ามันจะไม่สนใจค่ายทหารไทยหากส่งไปจริง ถึงจะในนามยูเอ็น.ใส่หมวกสีฟ้าก็เถอะ ต้องไม่ลืมว่าซูดานเคยประกาศกร้าวว่ากองกำลังต่างชาติจะถือว่าเป็นผู้รุกรานทันทีที่เท่าเหยียบแผ่นดิน แม้แต่UNAMIDซึ่งคอยปกป้องและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือนเองยังต้องทำงานร่วมกับสหภาพอาฟริกัน หากไทยเราต้องส่งทหารราบไปตามที่ยูเอ็น.ขอมาแบบจำเพาะเจาะจง ข้อสังเกตที่เป็นไปได้ที่สุดคืองานนีี้ต้องมีปะทะและจะสูญเสียหนักแน่ๆถ้าไม่พร้อม เราไม่ได้ไปอยู่ห่างๆแล้วนั่งๆนอนๆอยู่สบายๆในค่าย จะว่าครั้งนี้เขาเอาเราไปไว้กลางรังแตนก็ได้หากจะเปรียบเทียบ! เรื่องปฏิบัติการจิตวิทยาคงไม่สำคัญเท่ากับความแข็งแกร่งของกำลังพลแล้วในวินาทีนี้

เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ทั่วไปของดาร์ฟูร์ที่เริ่มต้นมาตั้งปี2003 แม้จะเบาบางไปบ้างแต่ก็ยังแค่รอดูท่าทีระหว่างกระบวนการเจรจาดำเนินไป ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากกลุ่มต่างๆหันมาถล่มกันอีกโดยมีUNAMIDและทหารไทยอยู่ตรงกลาง? ไม่ใช่แค่กลุ่มจานจาวีดกับกองทัพรัฐบาลเท่านั้นที่มองกองกำลังต่างชาติว่าจะมาเบิกทางเข้าหาผลประโยชน์ กลุ่มกบฎอย่างเอสแอลเอ,เจอีเอ็มพวกนี้ก็พร้อมจะเข้าขย้ำยูเอ็น.เหมือนกันเนื่องจากเข้ามาขัดขวางการล้มอำนาจรัฐของตน นอกจากคนแล้วสิ่งแวดล้อมก็ไม่เป็นมิตร อุณหภูมิร้อนแห้งแล้งแบบทะเลทรายที่สูงสุดเฉลี่ย50องศาเซลเซียสนั้นถึงเหงื่อไม่ออกแต่ก็ทำเอาคลั่งได้ถ้าไม่คุ้นเคย ไหนจะสภาวะขาดน้ำ ไหนจะพายุทรายลูกใหญ่ๆที่พัดมาเป็นระยะๆ และสภาวะอื่นๆที่ไม่เป็นมิตรอีกมากรวมทั้งภาษาและการสื่อสารกับชนพื้นเมือง ซูดานไม่ใช่อิรัก ไม่ใช่อาฟกานิสถานหรือติมอร์ตะวันออก

ผมยกเรื่องดาร์ฟูร์มาให้อ่านเพราะด้วยความเป็นห่วงจริงๆกับวิธีการทำงาน"แบบไทยๆ"ของเรา ที่ชอบมองอะไรเหมือนมันง่ายไปเสียหมดจนไม่เคยคิดเผื่อไว้ว่าจะพบกับเรื่องร้าย ความคิดว่าอะไรมันง่ายทำให้เราประมาทจนในที่สุดก็สูญเสียหนักจากความคิดว่า"ส่งๆไปก่อน ถึงเวลาก็เอาตัวรอดกันได้เอง" ซึ่งไม่ใช่แนวความคิดของคนที่เห็นความสำคัญของชีวิตเพื่อนร่วมชาติ ไม่เห็นความสำคัญของการฝึกหนักเพ่ื่อรบให้รอด สำหรับกองกำลังเฉพาะกิจ980ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ตรงนั้น ลำพังการได้รับความสนับสนุนด้านการเงินจากยูเอ็น.คงไม่พอ เมื่อเขาต้องการ"ทหารราบ"เข้าไปที่นั่นก็ต้องฝึกหนักแบบทหารราบและอยู่รอดให้ได้เมื่อเกิดสถานการณ์ จะพร้อมปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หรือพร้อมได้แค่ไหนกองทัพไทยคงตอบได้ว่า"พร้อม" แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาจำนวนคนเจ็บและตายนั่นแหละที่จะบอกได้ว่าที่ว่าพร้อมนั้นจริงหรือไม่

ใครนึกภาพไม่ออกว่าเราจะเจอกับอะไรเมื่อเข้าไปที่นั่น ก็ลองหาดีวีดีเรื่องBlackhawk Downมาดูเถอะครับ แล้วจะเห็นภาพของซูดานได้ชัดเจน!

ค้าอาวุธก็รวยอยู่แล้ว แต่ทำไมต้องเถื่อน?(จบ)



ดังที่กล่าวไว้ในสามตอนที่แล้ว ว่าการค้าอาวุธทางลับโดยรัฐบาลนั้นมีจุดประสงค์เพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัฐเป้าหมาย แต่การค้าอาวุธโดยเอกชนนั้นไม่ใช่เพื่อให้ส่งผลทางการเมืองแต่เพื่อความร่ำรวยของคนหรือกลุ่มบุคคลผู้กระทำการเพียงกลุ่มเดียว เป็นได้ทั้งการติดต่อซื้อขายตามความต้องการของรัฐหรือเอกชนอย่างลับๆ และการยอมตัวเป็นช่องทางเพื่อส่งอาวุธเพื่อแลกกับผลประโยชน์ก้อนโต เมื่อพูดถึงการค้าอาวุธเถื่อนโดยเอกชนชื่อหนึ่งที่เด่นขึ้นมาคือวิคตอร์ อนาโตลเยวิช บูท นักธุรกิจชาวรัสเซียผู้ถูกจับกุมในโรงแรมเซ็นทรัลโซฟิเทล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่6มีนาคม 2008 ด้วยความร่วมมือระหว่างตำรวจไทยและตำรวจสากล โดยการวางแผนซ้อนแผนของเจ้าหน้าที่สำนักต่อต้านยาเสพติด(Drug Enforcement Administration:DEA)ของสหรัฐฯ

ข้อหาคือส่งอาวุธเถื่อนให้กับกองกำลังปฏิวัติโคลัมเบีย(FARC) แต่จริงๆแล้วกว่าจะดำเนินการมาถึงขั้นนี้ได้ตำรวจสากลและกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯสืบพบเงื่อนงำอันซับซ้อนมากมายเกี่ยวกับเขา ซึ่งแม้จะดูเหมือนหลักฐานทุกอย่างพากันชี้นิ้วมาที่บูทก็จริง แต่พอสืบลึกลงไปก็กลายเป็นว่าไม่สามารถจับให้มั่นคั้นให้ตายได้เสียทุกที

บูทมีกำเนิดเป็นชาวทาจิกิสถานซึ่งเป็นรัฐหนึ่งในสหภาพโซเวียตก่อนล่มสลาย ด้วยอดีตที่เปิดเผยว่าเคยเป็นทหารยศร้อยโทในกองทัพบกโซเวียตแต่ก็บางแหล่งข่าวอ้างว่าเขามียศเป็นพันตรี ไม่ใช่แค่ยศของเขาเท่านั้นที่สับสน เอาแค่ถิ่นเกิดก็ไม่แน่นอนแล้วในเมื่อเอกสารของสหประชาชาติ(United Nation:UN)อ้างว่าบูทเกิดที่กรุงดูชานเบเมืองหลวงของทาจิกิสถาน แต่เอกสารของรัฐบาลอาฟริกาใต้กลับอ้างไปคนละทางในปี2001ว่าเกิดในยูเครน พื้นฐานด้านการศึกษาก็คลุมเครือไม่แพ้กัน ที่อ้างตรงกันคือจบการศึกษาจากสถาบันภาษาของกองทัพโซเวียตจนเชี่ยวชาญถึงหกภาษา นอกจากภาษาทาจิกิสคือรัสเซีย,ปอร์ตุเกส,อังกฤษ,ฝรั่งเศสและภาษาอาหรับ ข้อมูลจากเว็บไซต์ส่วนตัวของบูทบอกว่าเขาทำงานเป็นล่ามให้กองทัพบกโซเวียตช่วงรุกรานอาฟกานิสถาน แต่แหล่งข้อมูลจากชาติตะวันตกอ้างว่ามียศถึงพันตรีในหน่วยข่าวกรองทหารคือจีอาร์ยู ซึ่งเป็นทั้งหน่วยข่าวกรองและหน่วยรบพิเศษในหน่วยเดียวกัน ยังมีความสับสนอีกในด้านนี้เมื่อบ้างก็อ้างว่าเป็นทหารอากาศหรือไปไกลถึงเป็นสายลับของสำนักประมวลข่าวกลางของโซเวียตหรือเคจีบี

หลังจากโซเวียตล่มสลายแล้วบูทออกจากกองทัพมาดำเนินธุรกิจถูกกฎหมาย คือการเปิดบริษัทการบินรับเช่าบรรทุกสินค้าทุกประเภทตั้งแต่หอมกระเทียมไปจนถึงเครื่องจักร ส่งตามที่ต่างๆซึ่งส่วนใหญ่คืออาฟริกาและตะวันออกกลางช่วงทศวรรษที่1990ถึงต้น2000 ข้อมูลชัดๆตอนนั้นคือเครื่องบินของเขาส่งของให้ชาร์ล เทย์เลอร์ประธานาธิบดีประเทศไลบีเรียจากปี1997ถึง2003 ที่เคยเป็นหัวหน้ากองกำลังติดอาวุธใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามกลางเมืองครั้งแรกของประเทศนี้ช่วงต้นทศวรรษ1990แต่ปัจจุบันถูกจองจำในทัณฑสถานของยูเอ็น เพราะบูทไม่ได้ตั้งบริษัทเพื่อส่งของให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเขาจึงให้บริการด้วยทั้งกับยูเอ็นที่มีภารกิจในซูดานและกับสหรัฐฯเมื่อต้องการลำเลียงสินค้าและสิ่งอุปกรณ์ต่างๆเข้าอิรัก มีข้อสันนิษฐานว่าบูทเคยขนอาวุธให้ฝ่ายที่กำลังทำสงครามกลางเมืองในอาฟริกาหลายประเทศที่เครื่องบินของเขาไปลงด้วยในทศวรรษ1990 แต่ก็เป็นแค่ข้อสันนิษฐาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยจับได้คาหนังคาเขาพอจะยืนยันได้ชัดๆ

ขณะที่ตัวเองอ้างว่าทำแค่มีเครื่องบินลำเลียงไว้ให้เช่าส่งสินค้าตามปกติ นายปีเตอร์ เฮนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษยังตั้งสมญานามให้บูทว่า"นักแหกแซงชั่น"(sanction buster)และอีกชื่อหนึ่งที่ทำให้ภาพของบูทง่ายขึ้นต่อการจดจำคือ"นักค้าความตาย"(merchant of death) เฮนระบุว่าบูทใช้เครื่องบินเพื่อลำเลียงอาวุธจากยุโรปตะวันออกโดยเฉพาะจากบัลแกเรีย,โมลโดวาและยูเครน เข้าสู่ไลบีเรียและแองโกลา โดยเฉพาะยูเครนนั้นผมเคยได้เสนอรายละเอียดไปในตอนก่อนว่าเป็นแหล่งอาวุธเถื่อนใหญ่อันดับต้นๆของโลก จากการมีอาวุธตกค้างของกองทัพโซเวียตทิ้งไว้มหาศาลตั้งแต่ปืนเล็กยาวถึงขีปนาวุธต่อสู้อากาศยาน

แม้จะมีข้อกล่าวหาจากคนเป็นถึงรัฐมนตรีต่างประเทศว่าค้าความตาย เพราะขนอาวุธเข้าเขตสงครามกลางเมืองก็ตาม บูทกลับไม่เคยถูกดำเนินคดีในข้อหาขนอาวุธเถื่อนเลย ซึ่งน่าสันนิษฐานได้ว่าหากไม่มีแบ็คดีก็คงต้องดำเนินการทุกอย่างได้แนบเนียน เขาขนส่งทั้งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของยูเอ็น ทหารฝรั่งเศสและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอาฟริกา ดอกไม้กับไก่แช่แข็งบูทก็ขน ไม่เคยปรากฎเลยสักครั้งที่ถูกตรวจค้นว่าเขาขนของผิดกฎหมาย แม้แต่เหล้าเถื่อนสักขวดก็ไม่มี

เขาจึงอ้างได้เต็มปากตลอดเวลาที่ประกอบธุรกิจว่าบริสุทธิ์ บูทขนของให้ทุกคนที่มีเงินจ่ายตั้งแต่ชาร์ล เทย์เลอร์ของไลบีเรียไปจนถึงยูเอ็น,รัฐบาลฝรั่งเศส แม้แต่รัฐบาลสหรัฐฯเองก็ยังใช้บริการของบูท แต่ชื่อเล่นที่ได้มาว่า"นักแหกแซงชั่น"ของบูทคงจะไม่ได้มาลอยๆแน่ถ้าไม่ไปขนของให้ประเทศซึ่งยูเอ็นประกาศห้ามขนอาวุธเข้า เช่นแองโกลา,ไลบีเรีย,เซียรา ลีโอนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แสดงว่าหน่วยข่าวกรองของอังกฤษน่าจะได้กลิ่นตุๆจากกิจกรรมของบูทมาบ้าง เมื่อบริษัทของเขามีเที่ยวบินจากประเทศที่ขึ้นชื่อด้านการค้าอาวุธเถื่อนเข้าไปยังประเทศปิด ที่คนจากองค์กรโลกเข้าตรวจสอบไม่ได้และยังมีการสู้รบกันอยู่ในประเทศเหล่านั้น ถึงจะบอกว่าไม่ได้ขนอาวุธแต่ฝ่ายต่างๆที่ทำสงครามกลางเมืองกันอยู่จะเอาปืนผาหน้าไม้จากไหนมาใช้กันเป็นปีๆ?

รายงานของยูเอ็นชิ้นหนึ่งในปี2000ระบุว่า"...กลุ่มบริษัทผลิตอาวุธของบัลแกเรีย ได้ส่งออกอาวุธหลายชนิดและจำนวนมากตั้งแต่ปี1996ถึง1998ด้วยใบสั่งซื้อปลอมจากประเทศโทโก"และ"...ให้ใช้บริษัทแอร์ เซสส์ซึ่งวิคตอร์ บูทเป็นเจ้าของเป็นหลักเพื่อขนอาวุธดังกล่าวจากท่าอากาศยานบูร์กาซในบัลแกเรีย" ใบสั่งซื้อปลอมเป็นของโทโกก็จริงแต่อาวุธจำนวนนี้อาจถูกส่งต่อให้กบฎยูนิตาในแองโกลาได้ ระหว่างสงครามกลางเมืองที่เกิดตั้งแต่ปี1975ถึง2002 ผู้ต้องสงสัยว่าจะค้าอาวุธเถื่อนชาวเลบานอนอีกคนคืออิมัด คาบีร์ก็เคยใช้บริการทางอากาศของบูทในช่วงกลางทศวรรษ1990 เพื่อส่งอาวุธจากยุโรปตะวันออกเข้าอาฟริกา ด้วยใบสั่งปรากฎชื่ออื่นแต่ท้ายที่สุดอาวุธก็ไปอยู่ในมือกบฎยูนิตาเช่นเคย ทั้งที่จากปี1993เป็นต้นมานั้นแองโกลาถูกยูเอ็นห้ามนำเข้าอาวุธสงครามทุกประเภทเนื่องจากประชาชนอดอยากแทบไม่มีกินอยู่แล้ว แต่กลุ่มอำนาจต่างๆยังรบราฆ่าฟันแย่งชิงอำนาจกันเองอุตลุต เมื่อยูเอ็นส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบไม่ได้หนทางเดียวคือต้องปิดกั้นห้ามส่งยุทธปัจจัยเข้าไป แต่หนทางใดเล่าที่จะง่ายเท่าการส่งทางอากาศซึ่งไม่ได้ตรวจสอบจากต้นทาง และปลายทางก็ห้ามตรวจสอบเมื่อสนามบินอยู่ในมือกลุ่มอำนาจที่ต้องการอาวุธ

ทำงานอย่างหมิ่นเหม่มานานในที่สุดชื่อของบูทก็เข้าตาซีไอเอ เมื่อกลุ่มอัล ไคดาเคลื่อนย้ายทั้งทองและเงินสดออกจากอาฟกานิสฐานหลังจากสหรัฐฯส่งทหารเข้าไปตามเหตุการณ์9/11 แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้อ้างว่าเครื่องบินที่ใช้เพื่อช่วยสมุนบิน ลาเด็นขนของนั้นเมื่อสืบให้ลึกแล้วพบว่าพัวพันกับคนชื่อวิคตอร์ บูท ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าเขาเคยเข้าไปในอาฟกานิสถานบ่อยๆเริ่มแต่ปี1994 เคยขนของให้รัฐบาลก่อนยุคของพวกทาลีบันที่ภายหลังได้กลายมาเป็นพันธมิตรฝ่าย เหนือช่วยสหรัฐฯไล่บี้พวกทาลีบันในปัจจุบัน อ้างว่ารู้จักกับอาห์เม็ด ชาห์ มาซูดหัวหน้ากลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือจริง แต่ปฏิเสธแข็งขันว่าไม่เคยข้องแวะเลยกับอัล ไคดาหรือพวกทาลีบันที่สหรัฐฯต้องการปราบ การย้ายที่ทำงานอยู่เรื่อย มีชื่อเป็นเจ้าของอยู่หลายบริษัทและจดทะเบียนเครื่องบินบ่อย ทำให้หน่วยงานทางการที่เฝ้าดูอยู่ตั้งข้อหากับเขาได้ยาก บูทจึงไม่เคยถูกตั้งข้อหาค้าอาวุธเถื่อนเลยทั้งที่ชื่อกระฉ่อนขนาดนั้น

พอเล่นงานตรงๆเรื่องค้าอาวุธเถ่ื่อนไม่ได้ก็ต้องหาข้อหาอื่นมาจัดการ รัฐบาลเบลเยียมร้องต่อองค์การตำรวจสากล(INTERPOL)ด้วยข้อหาว่าฟอกเงินในปี2002 ทางอินเทอร์โพลจึงออกหมายจับและพิจารณาส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามออกมา เว็บไซต์ของบูทอ้างเช่นกันว่าเบลเยียมต่างหากที่มีหมายจับเขาเพราะไม่ไปให้การต่อศาลตามหมายเรียก ไม่ใช่อินเทอร์โพล แต่ภายหลังไม่นานหมายนั้นก็ถูกยกเลิก และเว็บไซต์ดังกล่าวยังอ้างเอกสารในภาษาดัทช์เพื่อสนับสนุนคำอ้างด้วยว่าคดีของเบลเยียมนั้นศาลไม่รับฟ้อง ถ้าเบลเยียมกับอินเทอร์โพลยังเอาวิคตอร์ บูทไม่อยู่ก็ต้องใช้อะไรที่ใหญ่กว่านั้นเข้ามาจัดการ

เพียงแค่พบแน่ชัดว่าบูทมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาร์ล เทย์เลอร์แห่งไลบีเรีย ก็เพียงพอแล้วที่รัฐบาลสหรัฐจะยึดทรัพย์สินของเขาทั้งหมดรวมถึงคนอื่นๆที่เกี่ยวข้องในอเมริกาเมื่อเดือนกรกฎาคม2004 ตามคำสั่งประธานาธิบดีหมายเลข13348 ซึ่งระบุตัวบูทว่าเป็น"ผู้ประกอบการ,ผู้ติดต่อจัดหาและขนส่งอาวุธและแร่ธาตุใดๆ"อันขัดต่อกฎหมาย นำมาซึ่งการจับกุมตัวเขาในเมืองไทยและปัจจุบันนี้ยังถูกจองจำในเรือนจำคลองเปรม ยังส่งตัวผู้้ร้ายข้ามแดนไม่ได้เพราะสหรัฐฯยังไม่ได้ตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการต่อบูท แต่ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้วศาลไทยก็ตัดสินว่าไม่ต้องส่งตัวบูทให้สหรัฐฯ ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียแถลงว่า"พึงพอใจต่อการตัดสินนี้และหวังว่าวิคตอร์ บูทจะได้กลับสู่บ้านเกิดในอนาคตอันใกล้"

กรณีการค้าอาวุธเถื่อนของวิคตอร์ บูททำให้เข้าใจได้ว่าเขาคงไม่ได้ดำเนินการแต่ลำพัง ต้องมีคนที่ใหญ่กว่านั้นอยู่เบื้องหลังเพื่อใช้เขาเป็นหมากตัวหนึ่งในการหาประโยชน์จากอาวุธเถื่อนมูลค่ามหาศาล บูทต้องรู้อะไรมากแต่ต้องยังมีประโยชน์อยู่จึงยังรอดชีวิตอยู่ได้ทั้งที่เป็นที่ต้องการตัวในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯที่อ้างว่าเขาพัวพันกับบิน ลาเด็น

ส่วนกรณีการค้าอาวุธเถื่อนที่เพิ่งเป็นข่าวไปในปีที่แล้ว หลังจากจับกุมได้ที่สนามบินดอนเมืองนั้นต้องถือว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะต่อการขนอาวุธ เนื่องจากเครื่องบินนั้นถ้าไม่ขัดข้องจนต้องร่อนลงจอดในประเทศที่ไม่เป็นมิตรก็จะไม่ถูกตรวจสอบ ต่างจากเรือที่เจ้าหน้าที่สามารถนำเรือเทียบแล้วนำกำลังขึ้นตรวจค้นได้ ตราบใดที่มันไม่ติดอาวุธและไม่ได้มีทีท่าเป็นภัยคุกคามกับใคร เครื่องบินรบย่อมไม่สามารถยิงเครื่องบินลำนั้นให้ตกได้ นอกจากนำเครื่องเข้าเทียบ ยิงขู่ แต่ถ้ายังไม่ยอมลงจอดก็คงทำได้แค่จดหมายเลขหางและลำตัวเครื่องบินเพื่อรายงานตามลำดับขั้นเท่านั้น การยิงเครื่องบินพลเรือนให้ตกถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวพันกับกิจการของวิคตอร์ บูท แต่เครื่องบินอิลยูชิน อิล-76ลำนี้ก็บินขึ้นลงเป็นประจำอยู่แล้วในไทยด้วยรูปแบบเดียวกันคือขนส่งสินค้าตามปกติ เช่นเครื่องจักรกล ชิ้นส่วนเครื่องบิน อาหารสดและแห้ง,ดอกไม้และพืชเศรษฐกิจตามแต่ใครจะเช่าเหมาลำ ที่ไม่ไปลงพม่าทั้งที่น่าจะสนิทกับรัสเซียมากกว่าก็เพราะใช้สนามบินของเราอยู่แล้วตามแผนการบินปกติ และสิ่งอำนวยความสะดวกของไทยก็ดีกว่า ไม่รวมถึงชีวิตกลางคืนที่สุดแสนเร้าใจสำหรับนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย เพราะมีข่าวมาจากภายนอกว่าอาจมีของผิดกฎหมายซุกซ่อนรัฐบาลจึงต้องตรวจค้น เมื่อค้นแล้วพบถ้าไม่ดำเนินการก็ผิดอีกฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนจะดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้นทางยูเอ็นจะเป็นผู้ดูแล โดยเราต้องเก็บของกลางไว้ก่อนเพื่อรอคำสั่งจากเขาอีกที แต่เรื่องจะเอาอาวุธนั้นมาใช้คงยากเพราะทางยูเอ็นระบุไว้ว่าต้องทำลายเท่านั้น

การค้าอาวุธเถื่อนจะต้องมีอยู่ต่อไป ตราบใดที่ในหลายส่วนของโลกยังมีสงครามกลางเมืองที่ต้องใช้อาวุธถูกกฎหมายไม่ได้ ตราบนั้นก็ต้องมีตัวกลางหรือผู้แทนสักคนที่คอยสนองตอบความต้องการด้วยราคาสูงลิ่ว เพราะผลประโยชน์มหาศาลแท้ๆที่ทำให้กิจกรรมเช่นนี้ซึ่งแม้จะขัดต่อศีลธรรมก็ยังดำรงอยู่ได้ และยังไม่มีโอกาสที่จะหมดไปในอนาคต