วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Colt’s M4 ขนานแท้และดั้งเดิม!(จบ)


เมื่อพิจารณาถึงระบบการทำงานของM4และM4A1 มันคือปืนเล็กสั้นทำงานด้วยแรงดันแก๊ซจากการระเบิดของกระสุน ระบายความร้อนด้วยอากาศ ยิงได้ทั้งจากการประทับไหล่และระดับเอว ป้อนกระสุนด้วยซองกระสุนและเลือกระบบการยิงได้2แบบคือยิงทีละนัดและยิงชุด(อัตโนมัติ) พูดง่ายๆคือเป็นM16A2สั้นด้วยลำกล้องยาวเพียง14.5นิ้ว(368ม.ม.)นั่นเอง ด้วยความกะทัดรัดจากพานท้ายปรับความยาวได้ความคล่องตัวของมันจึงสูง ทหารใช้M4ได้ทั้งระยะประชิด ในเขตสิ่งปลูกสร้างและในที่โล่งด้วยระยะหวังผลสูงสุดคือ400เมตร เมื่อมันใช้ชิ้นส่วนเหมือนปืนเล็กยาวM16A2ถึง80เปอร์เซ็นต์ เรื่องอะไหล่จึงไม่เป็นปัญหาระหว่างปืนสองรุ่น ใช้แทนกันได้ตั้งแต่อะไหล่เป็นชิ้นๆ และถอดทั้งโครงปืนมาใส่เปลี่ยนกันได้เลยในยามคับขันโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ
เมื่อนำปืนเล็กสั้นM4และM4A1มาเปรียบเทียบกับปืนเล็กยาวM16ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ ขนาดกะทัดรัด ลำกล้องสั้นกว่าคือเพียง14.5นิ้ว(368ม.ม.) พานท้ายปรับความยาวได้4ระดับมาตรฐาน ยิงได้เร็วกว่า(ยิงกระสุนได้มากกว่าในหนึ่งนาที) กระนั้นข้อเสียของM4ที่เห็นได้ชัดเมื่อเข้าเครื่องวัดคือความเร็วต้นของกระสุนต่ำกว่าและเสียงปืนดังกว่าเพราะลำกล้องสั้น เกิดความเครียดกับชิ้นส่วนมากกว่าเพราะท่อระบายแรงดันแก๊ซสั้นกว่า จึงมีแนวโน้มว่าจะร้อนเร็วกว่าM16A2เมื่อยิงติดต่อกันนานๆ
แต่กองทัพบกสหรัฐฯไม่ได้เลือกปืนให้ทหารของตนใช้สุ่มสี่สุ่มห้า เพียงเพราะโคลต์เป็นอุตสาหกรรมภายในประเทศ จะใช้ปืนกันทั้งทีก็ต้องทดสอบทั้งสมรรถนะของปืนเองและความพึงพอใจของทหารที่อยู่กับมัน หน่วยงานเพื่อวิจัยและพัฒนายุทธภัณฑ์มีชื่อเฉพาะว่า”เนติค แล็บ”หรือชื่อเต็มว่าU.S. Army Natick Soldier Research, Development and Engineering Center (NSRDEC)รู้จักกันในชื่อสั้นๆว่าThe U.S. Army Natick Soldier Center (NSC)จึงถูกตั้งขึ้นโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สนามทดสอบอาวุธอาเบอร์ดีน(Aberdeen Proving Grround)รัฐแมรี่แลนด์ กับอีกที่หนึ่งคือศูนย์วิจัยอาวุธกองทัพบก(
U.S. Army Soldier Systems Center:(SSC))เมืองเนติค รัฐเมสสาชูเซ็ตต์
หลังจากM4เข้าประจำการ เนติคแล็บได้ติดตามเก็บข้อมูลของมันโดยเน้นที่ยุทธการสำคัญๆซึ่งทหารใช้M4ในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศสุดขั้ว หลังจากยุทธการอานาคอนดาซึ่งเป็นการไล่ล่ากองกำลังทาลีบัน-อัล ไคดาครั้งใหญ่ในหุบเขาชาอี-ค็อตของอาฟกานิสถานระหว่างวันที่2-16มีนาคมปี 2002 รายงานของเนติคที่นำเสนอโดยพันโทชาร์ลี ดีนและจ่าสิบตรีแซม นิวแลนด์เกี่ยวกับM4และทหารสหรัฐฯจำนวน1,700นายที่ใช้มันปรากฏผลดังนี้คือ 34%รายงานว่าประกับรองมือของM4ร้อนจนจับลำบากเมื่อยิงต่อเนื่อง 15%มีปัญหากับการเล็งศูนย์สะท้อนแสงM68 35%ต้องเพิ่มแปรงปัดฝุ่น และ24%ต้องการให้เพิ่มไม้จิ้มฟันเพื่อแคะชิ้นส่วนเข้าในชุดทำความสะอาดปืนเพราะกองทัพไม่ได้ให้มา
เมื่อมาดูเหตุขัดข้องจากการใช้งานก็ปรากฏผลดังนี้ 20%รายงานว่าซองกระสุนป้อนกระสุนซ้อนสอง(ทำให้ยิงไม่ได้รวมถึงคัดปลอกไม่ออก)15%รายงานว่าขัดลำกล้อง 13%รายงานว่าซองกระสุนมีปัญหา(ตั้งแต่ไม่ยอมป้อนกระสุนถึงป้อนไม่เข้ารังเพลิง) แต่ตัวเลขที่น่าสนใจคือทหาร89%ที่ใช้M4บอกว่ายังมั่นใจฝากชีวิตไว้กับมัน ในขณะที่20%ยังบ่นเรื่องต้องทำความสะอาดกันบ่อยๆ ในส่วนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงปรากฏผลดังนี้คือ 55%ต้องการให้สร้างปืนให้เบาลงและ20%อยากได้ซองกระสุนจุกระสุนได้มากกว่ามาตรฐานเดิม
อีกเรื่องที่กล่าวขานกันมากคือการทดสอบระหว่างM4ของโคลต์ เปรียบเทียบกับปืนเล็กสั้นอื่นๆคือXM8ปืนใหม่ที่เพิ่งล้มโครงการไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน ปืนSCARของFNจากเบลเยียม และHK416ของเฮคเลอร์ อุนต์ โค้คจากเยอรมนี ด้วยการหมกทรายไว้ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึงปลายเดือนพฤศจิกายนปี2007 ก่อนจะให้เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทดสอบและประเมินผลของสนามทดสอบอาวุธอาเบอร์ดีน ขุดทุกกระบอกขึ้นมายิงทดสอบด้วยกระสุน6,000นัด ดังที่ทราบกันจากสื่อต่างๆว่าM4ขัดลำกล้องด้วยเหตุขัดข้อง3ระดับ(ระดับ1:แก้ไขได้ภายใน3วินาที ด้วยการดึงสไลด์คัดปลอก ระดับ2: แก้ไขได้ภายในเวลา30วินาทีด้วยการดึงสไลด์/ใช้คีมคีบปลอกที่ถูกสไลด์งับออกทางช่องคัดปลอก/ถอดซองกระสุน ระดับ3: นำส่งช่างอาวุธ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในสนาม)มากที่สุดคือ 882จากทั้งหมด6,000นัด
ผลที่ตามมาคือในความขัดข้องทั้งหมดนี้ ซองกระสุนของM4ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดรองลงมาคือลำกล้อง ซึ่งโคลต์ได้นำข้อมูลไปปรับปรุงโดยกองทัพบกตั้งข้อสังเกตเน้นที่ซองกระสุน เพราะการขัดข้องทั้งหมด882ครั้งนั้นเป็นเหตุจากซองกระสุนเสีย239ครั้ง ดังนั้นส่วนที่ต้องปรับปรุงคือทำซองกระสุนใหม่ให้จุกระสุนได้มากขึ้น ป้อนกระสุนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ทำลำกล้องชุบโครเมียมด้านในให้หนาขึ้นเพื่อยืดอายุการใช้งาน รวมปรับปรุงรายละเอียดปลีกย่อยที่กองทัพบกต้องการให้แล้วเสร็จภายในฤดูใบไม้ผลิปีถัดมา ก่อนส่งของที่ปรับปรุงแล้วเข้าประจำการใหม่เมื่อปีที่แล้วนี้เอง
ถ้าจะพูดกันโดยวัดตามสภาพการใช้งานจริงซึ่งไม่ได้โหดร้ายทารุณเท่าการทดสอบแล้ว การจะด่วนสรุปว่าM4ด้อยที่สุดจะเป็นการไม่ยุติธรรมกับโคลต์เกินไปหรือเปล่า? หลังการทดสอบครั้งนั้นทำไมจึงไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับหน่วยงานด้านสรรพาวุธกองทัพบกสหรัฐฯ? เหตุขัดข้องดังกล่าวจะเกิดขึ้นในจำนวนเท่ากันหรือไม่เมื่อM4ถูกใช้งานในเขตอื่นที่ไม่ใช่ทะเลทราย? เพราะภารกิจของหน่วยรบย่อมต้องแตกต่างกันอยู่แล้วทั้งในวิธีปฏิบัติและภูมิประเทศ ถ้าจะด่วนสรุปว่าM4ด้อยกว่าปืนเล็กสั้นจากค่ายอื่น ก็หมายความว่ากองทัพสหรัฐฯที่รบบ่อยที่สุดและส่งทหารไปทั่วโลกได้ภายใน24ชั่วโมง ให้ทหารใช้อาวุธประจำกาย”ห่วยๆ”มาตลอด40ปีกระนั้นหรือ? ถ้า”ห่วย”จริงทำไมทหารในยุทธการอานาคอนดาซึ่งเป็นปฏิบัติการในทะเลทรายถึงยอดเขาหนาวเหน็บจึงแสดงความพึงพอใจกับM4ถึง89%?
ด้วยความเป็นที่นิยมของM4นี่เอง ที่ทำให้ผู้ผลิตอาวุธหลายแบรนด์ต่างผลิตปืนเลียนแบบกันเป็นว่าเล่น ทั้งแบบปืนสงคราม(ยิงแบบอัตโนมัติได้) และใช้ในกิจการพลเรือนตั้งแต่ยิงเป้าตามสนามยิงปืนไปจนถึงใช้เฝ้าเรือกสวนไร่นา(ยิงทีละนัด)ทั้งลำกล้องสั้นและยาว เมื่อรหัสM4และแบบรวมถึง”โนว์ฮาว”ของมันได้ถูกโคลต์จดสิทธิบัตรไว้แล้ว ไม่ว่าใครจะสร้างปืนขึ้นมาได้รูปร่างหน้าตาเหมือนM4อย่างไรก็ไม่สามารถใช้ชื่อว่าM4ได้ ในเดือนเมษายน 2004 โคลต์จึงดำเนินคดีกับเอชแอนด์เค ห้ามใช้รหัสว่าM4กับปืนของตนที่มีลักษณะเดียวกันกับปืนของโคลต์ HK M4ของเอชแอนด์เคจึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็นHK416
หากจะดูกันตามประวัติของโคลต์ คงต้องยอมรับความจริงว่าบริษัทนี้สร้างปืน”อย่างเดียว”มาตลอด150ปีนับแต่นายซามิวเอล โคลต์ก่อตั้งบริษัทจากการสร้างปืนพกกระบอกแรกจากความหลงไหลปืนสั้น ปืนจากโคลต์คือเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ ตั้งแต่สมัยผู้ตั้งถิ่นฐานรบแย่งชิงพื้นที่กับชาวอเมริกันพื้นเมือง(อินเดียน) ปืนพกแบบM1911ขนาด11ม.ม.รุ่นมาตรฐานยังถูกใช้ในกองทัพทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่นับที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตได้รูปร่างหน้าตาเหมือนกันแล้วใช้แบรนด์ของตน
ทั้งปืนเล็กยาวM16A4และปืนเล็กสั้นM4 ได้ถูกผลิตป้อนให้ทุกเหล่าทัพของสหรัฐฯและใช้โดยประเทศในกลุ่มนาโตกับอีก80ประเทศทั่วโลก รวมทั้งกองทัพไทยที่ไม่ได้เพิ่งมาใช้แต่รุ่นA4แต่ใช้M16มาตั้งแต่รุ่นแรก ตลอดเวลา40ปีโคลต์ได้ทดสอบ ประเมินผลและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากการใช้งานจริงจากเหล่าทัพที่ออกสู่แนวหน้าบ่อยที่สุดคือกองทัพบกและนาวิกโยธิน จนผ่านการรับรองมาตรฐานISO 9001ในปี2001เป็นประกาศณียบัตรในความสม่ำเสมอของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ แม้แต่ในปัจจุบันโคลต์ยังเปิดรับความคิดเห็นจากประเทศผู้ใช้งานทั่วโลกอยู่เพื่อนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ทั้งM16A4และM4
โดยส่วนตัวผมยังเชื่อมั่นในคุณภาพของโคลต์อยู่ โดยเฉพาะM4นั้นเป็นปืนที่สนุกเมื่อได้ทดลองยิงเพราะแรงรีคอยล์ต่ำลำกล้องไม่เงย ควบคุมกลุ่มกระสุนได้ง่าย น้ำหนักก็เบาคล่องตัวโดยเฉพาะพานท้ายปรับได้นั้นช่วยได้มากเมื่อประทับยิงขณะแต่งกายด้วยชุดสนามครบทั้งเกราะและอุปกรณ์อื่นๆ จากคำบอกเล่าของเพื่อนที่เป็นทหารและมีประสบการณ์มากกว่าแค่ใช้มันยิง การใช้เรือนเครื่องลั่นไกของM16เดิมกับชุดลูกสูบและโครงท่อนบนของM4ประกอบกันกลับจะทำให้มันยิงได้คล่องกว่าของใหม่แกะกล่องเสียอีก ไม่ซื้อทั้งกระบอกซื้อแค่ครึ่งกระบอกก็ยังคุ้ม
จากสเปคของมันที่เหมาะกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หน่วยรบที่ต้องการความแม่นยำและประสิทธิภาพสูงสุดของอาวุธ/ระบบอาวุธประจำกาย ไม่ว่ากองทัพไทยจะตัดสินใจสั่งซื้อปืนเล็กสั้นทั้งM4และM4A1ไปแล้วหรือกำลังจะตัดสินใจ ผมภาวนาว่าถ้าเป็นM4ก็ขอให้เป็นของโคลต์ ดีเฟนซ์แห่งเมืองฮาร์ทฟอร์ด รัฐคอนเนคติกัตที่เป็นแบรนด์โคลต์แท้ๆและดั้งเดิมเท่านั้น รองลงไปจากนี้แล้วคงหาความมั่นใจได้ยาก ราคาถูกกว่ากันไม่เท่าไรอาจจะกลายเป็น”ได้ไม่คุ้มเสีย”ไปในอนาคตอันใกล้ เมื่อเทียบกับ”โคลต์แท้ๆและดั้งเดิม”

Colt’s M4 ขนานแท้และดั้งเดิม!(1)


ปืนเล็กยาว(assault rifle)เด่นๆที่มีใช้ในกองทัพทั่วโลกปัจจุบันนี้มีไม่กี่ตระกูล ที่ครองตลาดส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นปืนจากสองค่ายคือสหรัฐฯและรัสเซีย เราได้เห็นปืนจากทั้งสองค่ายนี้คู่กายทหารทั้งในภาพยนตร์ข่าวสงครามและระหว่างปฏิบัติหน้าที่จริงบ่อยๆในยามสงบ เช่นการเข้าควบคุมสถานการณ์อันไม่ปกติในกรุงเทพฯที่เพิ่งผ่านไป เราปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทัพไทยคุ้นเคยกับอาวุธจากสหรัฐฯมาตลอด ตั้งแต่M1ถึงM16รุ่นแรกจนถึงรุ่นล่าสุดที่เข้าประจำการคือM16A4 และที่กำลังทยอยเข้าประจำการโดยเฉพาะหน่วยรบพิเศษคือปืนเล็กสั้น(carbine)M4A1จากบริษัทโคลต์ ดีเฟนซ์แห่งสหรัฐฯ ซึ่งผลิตปืนเล็กและปืนพกสนับสนุนกองทัพเมืองลุงแซมมานานปี เมื่อปืนเล็กสั้นM4และM4A1ซึ่งพัฒนามาจากM4เดิมมีข้อดีและเสียให้พิจารณาเมื่อเปรียบเทียบกับปืนเล็กยาวและเล็กสั้นอื่นๆ จึงไม่น่าจะเสียหายหากจะกล่าวถึงความเป็นมารวมทั้งรายละเอียดต่างๆและสถิติเกี่ยวกับปืนแบบนี้
ปืนเล็กสั้น(carbine : คาร์บินตามสำเนียงอเมริกัน)แบบM4 คือปืนเล็กพานท้ายปรับความยาวได้หน้าตาเหมือนM16ตัดลำกล้อง ซึ่งไม่แปลกเพราะM4ก็คือปืนในตระกูลM16นั่นเองซึ่งพัฒนามาจากAR15เดิมของบริษัทอาร์มาไลต์ จะว่าเป็นแบบที่สั้นลงของM16A2ก็ได้เพราะมันใช้ชิ้นส่วนเดียวกับปืนเล็กยาวรุ่นนี้ถึง80เปอร์เซ็นต์ M4เดิมปรับการยิงได้2แบบคือยิงทีละนัดและยิงชุด3นัด(burst) แต่รุ่นถัดมาคือM4A1ถูกปรับปรุงให้ยิงอัตโนมัติแบบ”ฟูลออโต”ได้แทนการยิงทีละ3นัดเดิม มันดูเหมือนเป็นของใหม่สำหรับคนนอกกองทัพ แต่ในระหว่างสงครามเวียตนามกองทัพสหรัฐฯก็เคยมีปืนคาร์บินตระกูลM16ใช้แล้วเหมือนกัน คือXM177ที่เหมือนM16ตัดสั้นเพียงแต่ไม่มีรางติดอุปกรณ์บนโครงปืนและหูหิ้วด้านบนถอดไม่ได้ กลไกภายในยังเป็นของM16เดิมๆ เป็นแค่ปืนเล็กสั้นไม่ใช่ระบบอาวุธเหมือนM4A1
ปืนในตระกูลM16ถูกออกแบบมาด้วยแนวความคิดว่าต้องเบา ใช้กระสุนหน้าตัดเพียง5.56ม.ม.มาตรฐานนาโตเพื่อให้ทหารนำกระสุนติดตัวไปได้มาก M4ที่แตกสาขาออกมาก็ใช้แนวความคิดนี้ มันเบากว่าแต่ยังใช้กระสุนขนาดเท่าปืนเล็กยาวต้นตระกูล แต่ดีกว่าตรงที่พานท้ายปรับความยาวได้ทำให้คล่องตัวสำหรับทหารเคลื่อนที่ด้วยยานยนต์ ปรับพานท้ายหดเข้าร่องไหล่ได้ง่ายเมื่อสวมเกราะ ไม่เกะกะเมื่อเข้าค้นหาเป้าหมายในเขตอาคาร
เพราะเป็นปืนเล็กสั้นมันจึงติดตัวทหารไปได้สะดวกกว่าปืนเล็กยาว เหมาะทั้งกับการเคลื่อนที่ด้วยยานยนต์,เป็นอาวุธประจำกายทหารฝ่ายอำนวยการ และใช้รบระยะประชิดตามรูปแบบของสงครามในเมืองที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทหารต้องการปืนใช้กระสุนขนาดเท่าเดิมแต่ความยาวปืนสั้นลง เหมาะกับการสู้รบจากอาคารถึงอาคาร ห้องถึงห้อง ในระยะปะทะไม่เกิน100-200เมตร ด้วยความเล็กกะทัดรัดแต่หมัดหนักนี้M4จึงเป็นอาวุธยอดฮิตของหน่วยบัญชาการปฏิบัติการพิเศษสหรัฐฯ(USSOCOM : United States Special Operation Command)และหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพบก(กรีนเบเรต์) ไม่เพียงแต่สหรัฐฯเท่านั้นที่ใช้M4 กรมปฏิบัติการพิเศษSAS(Special Air Service)ของออสเตรเลียก็ใช้M4มานานเพราะคล่องตัว เพื่อนบ้านของเราคือมาเลเซียก็นำมันเข้าประจำการแทนปืนเล็กยาวสไตเออร์ เอยูจีแล้วในทุกเหล่าทัพของเขาเมื่อปี2006
M4ถูกพัฒนาและผลิตป้อนกองทัพของสหรัฐฯและพันธมิตรโดยบริษัทโคลต์ ดีเฟนซ์(Colt Defense) ซึ่งได้สัญญาผลิตปืนเล็กสั้นตระกูลM4นี้จนถึงปี2009 ปืนM4เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของโคลต์ไปแล้ว แต่เพราะความยอดนิยมของมันจึงมีผู้ผลิตปืนรูปร่างหน้าตาเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยนแบรนด์อื่นออกป้อนตลาด ใช้อัลลอยด์และวัสดุคอมโพสิตผลิตโครงตามแต่ต้องการจะใช้อะไรเป็นจุดขาย บางรายก็นำเอากลไกเดิมของมันไปปรับปรุงให้ดีขึ้นซ้ำยังใช้กับชิ้นส่วนของM4เดิมได้ด้วย แบรนด์ที่เด่นๆคือบุชมาสเตอร์,สปริงฟีลด์,เอชแอนด์เคและอีกสองสามแบรนด์ทั้งในและนอกสหรัฐฯ ที่ผลิตทั้งปืนสงครามและปืนพลเรือน(ยิงได้ทีละนัด)แต่หน้าตาเหมือนM4
แต่เพราะความเป็นของแท้ และคุณภาพที่โคลต์ควบคุมไว้ได้ตลอดเวลาตามมาตรฐานที่กองทัพกำหนด(MilSpec) M4ของโคลต์จึงยังเป็นปืนคู่ใจของหน่วยรบของสหรัฐฯและพันธมิตร ตั้งแต่เขตป่าฝนของฟิลิปปินส์จนถึงดินแดนทะเลทรายของอิรักและอาฟกานิสถาน
กองทัพนาวิกโยธินของสหรัฐฯซึ่งต้องออกไปถึงพื้นที่สู้รบก่อนเหล่าทัพอื่นอยู่บ่อยๆตามภารกิจ ถึงกับมีคำสั่งเป็นทางการว่าทหารตั้งแต่ยศต่ำสุดถึงพันโทต้องมีM4A1เป็นอาวุธประจำกาย แทนที่จะพกแค่เบเรตต้าM9ขนาด9ม.ม.ติดตัว ด้วยสำนึกว่าภารกิจของนาวิกฯปัจจุบันนี้หนักหนาสาหัสกว่าแต่ก่อนโดยเฉพาะในตะวันออกกลาง การมีแค่ปืนพกไว้ป้องกันตัวจึงยังไม่พอ อีกประการหนึ่งคือเพื่อให้เป็นไปตามคำขวัญของนาวิกโยธินด้วย คือ”นาวิกฯทุกนายคือพลปืนเล็ก”(Every Marine a Rifleman) ทหารเสนารักษ์ของท.ร.ที่ออกรบเคียงกันก็ยังต้องมีM4A1ติดตัวแทนปืนพก M9
นอกจากความคล่องตัวและหมัดหนักเท่ากับปืนเล็กยาวแล้ว ความพิเศษของM4คือมันมีรางติดอุปกรณ์M1913”พิคาทินนี่”(Piccatinny rail)ประกอบ ที่ทำให้เป็นอาวุธเอนกประสงค์สมบูรณ์แบบ เปลี่ยนสภาพจากแค่ปืนเล็กสั้นมาเป็นระบบอาวุธหลายหน้าที่(modular weapon system) ทำงานได้มากกว่าแค่ยิงทำลายเป้าหมายเหมือนปืนเล็กธรรมดา มีตำแหน่งติดอุปกรณ์รอบประกับรองมือและบนโครงปืนให้เลือกติดอุปกรณ์เพิ่มสมรรถนะได้หลากหลาย ทั้งกล้องมองภาพกลางคืน(ไนท์วิชั่น) กล้องเล็งขยาย กล้องเล็งจุดแดงสำหรับการรบระยะประชิด ศูนย์เล็งเลเซอร์ เครื่องชี้เป้าด้วยอินฟราเรด เครื่องยิงลูกระเบิดM203ขนาด40ม.ม.และอื่นๆ โดยเฉพาะเครื่องยิงลูกระเบิดนี้สามารถใช้ยิงอาวุธไร้อันตราย(NLW : Non Lethal Weapon)อย่างกระสุนยาง,กระสุนตาข่ายเพื่อปราบจลาจลได้ด้วย
ปืนเล็กสั้นM4A1คือรุ่นที่ถูกปรับปรุงจากM4เดิม จากที่เลือกการยิงได้ครั้งละ3นัดมาเป็นอัตโนมัติเต็มรูปแบบเพื่อเน้นยิงข่มขวัญและตรึงเป้าหมาย โดยมุ่งหมายให้ใช้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษโดยเฉพาะ ถูกใช้งานในหลายหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ เช่นเดลต้า ซีลกองทัพเรือ หน่วยค้นหาและกู้ภัยกองทัพอากาศ(Pararescue) หน่วยลาดตระเวนระยะไกลกองทัพบก(เรนเจอร์) ชุดควบคุมการรบพิเศษ(Combat Controller Special Tactics) เป็นอาวุธที่หน่วยต่อต้านการก่อการร้ายสหรัฐฯและตำรวจหน่วยSWATเลือกใช้ จากภารกิจที่ต้องเข้าตรวจค้นและบางครั้งถึงกับปะทะในที่แคบๆระยะยิงใกล้ M4และM4A1ยิงหวังผลได้ไกลเกือบเท่ากับปืนเล็กยาวตระกูลM16ที่ระยะ300-450เมตรก็จริง แต่สภาพการรบในปัจจุบันที่เน้นการค้นหาและทำลายในเขตเมือง และการปะทะส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นที่100-200เมตร ยิ่งในภาคใต้ของเรานั้นมีรายงานว่ายิงกันใกล้ๆแค่ไม่เกิน50เมตรเท่านั้น! ระยะยิงหวังผลของM4เพียงเท่านี้ก็นับว่าเหลือเฟือแล้ว
เพื่อให้M4A1คาร์บินกลายเป็นปืนประจำกองกำลังปฏิบัติการพิเศษเต็มรูปแบบ USSOCOMจึงนำมันไปพัฒนาให้ใช้งานได้เฉพาะปฏิบัติการพิเศษที่ต้องการมากกว่าแค่ยิงทำลายหมายและป้องกันตัว ด้วยรูปแบบที่เรียกว่า”ปืนเล็กสั้นดัดแปลงปฏิบัติการพิเศษ”(SOPMOD : Special Operation Peculiar Modification) มีออปชั่นเสริมจัดชุดเป็นกลุ่มก้อนให้เลือกใช้ประกอบปืนจัดเป็นบล็อค1(Block1) คือ1.เครื่องยิงลูกระเบิดM203 2.กระบอกเก็บเสียง 3.ศูนย์เล็งหลังสำรอง 4.เครื่องชี้เป้าด้วยเลเซอร์/อินฟราเรด AN/PEQ-2Aของอินไซต์เทคโนโลยี 5.กล้องเล็งขยายACOGของทริจิคอนและศูนย์เล็งสะท้อนแสง 6.ศูนย์เล็งกลางคืน(ไนท์วิชั่น) (ในภารกิจจริงทหารมักจะเลือกเปลี่ยนจากศูนย์สะท้อนแสงของทริจิคอนมาเป็นศูนย์สะท้อนจุดแดงของอีโอเทค เนื่องจากชัดเจนมองเห็นง่ายกว่า)
ใช่ว่าระบบอาวุธแบบโมดูลาร์ของM4A1จะหยุดอยู่แค่SOPMOD1 ระหว่างนี้SOPMOD2ที่จะทำให้ระบบอาวุธของM4A1ใช้งานได้หลากหลายกว่าเดิม ก็กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาและยังมีการแข่งขันกันระหว่างผู้ผลิตอุปกรณ์เสริม เพื่อให้ได้สัญญาผลิตอุปกรณ์ประกอบปืนให้กองทัพ
จากข้อมูลของปืนเล็กสั้นที่ยกมาอ้างนี้ น่าจะทำให้ผู่สนใจด้านปืนเล็กเข้าใจถึงความเป็นM4A1ละเอียดขึ้น เพราะมันได้ถูกพัฒนาจากปืนเล็กสั้นธรรมดามาเป็นระบบอาวุธเอนกประสงค์หรือโมดูลาร์เต็มรูปแบบ เพื่อภารกิจพิเศษสำหรับทหารในหน่วยรบพิเศษที่ต้องการความคล่องตัวและหลากหลาย
ด้วยหน้ากระดาษที่มีอยู่ในฉบับนี้ผมจึงแจกแจงถึงรายละเอียดของมันได้เท่าที่เห็น ในฉบับหน้าซึ่งเป็นตอนจบจะเป็นการกล่าวถึงข้อดีและข้อบกพร่องของระบบอาวุธนี้ กล่าวถึงการทดสอบที่M4A1ถูกนำไปเปรียบเทียบกับปืนเล็กสั้นอื่นๆในสภาพกันดารเต็มไปด้วยฝุ่นและทราย ทำไมมันจึงขัดข้อง? เหตุใดทั้งที่HK416ซึ่งดูเหมือนจะดีในตอนแรกๆและน่าจะมีอนาคตในกองทัพสหรัฐฯมากกว่าM4 ปัจจุบันนี้จึงต้องหยุดการผลิตโดยไม่แจ้งสาเหตุ? คำตอบมีอยู่ในตอนจบฉบับหน้าครับ

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ลูก”Blank” กระสุนซ้อมรบหรือมีไว้สยบจลาจล?


ในกิจการใดๆของมนุษย์ที่ต้องการความถูกต้องแน่นอนย่อมต้องมีการซักซ้อมก่อนกระทำจริง ยิ่งถ้าเป็นการรบด้วยแล้วยิ่งต้องซ้อมให้หนักและรอบคอบ เพราะทหารคือผู้เอาชีวิตไปเสี่ยงกับคมสะเก็ดระเบิดและกระสุนปืน การฝึกซ้อมมีมาแต่โบราณกาลเมื่อมนุษย์ยังใช้ดาบ เพื่อให้ทหารได้คุ้นเคยกับการใช้อาวุธและสภาพภูมิประเทศอันยากลำบาก กระสุนซ้อมรบจะไม่เกิดขึ้นถ้าเรายังใช้หอกดาบกันอยู่ มันจำเป็นต้องมีเพราะเสียงปืนคือสิ่งที่ทหารต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เวลาเข้าสู่สมรภูมิ
กองทัพจะใช้กระสุนซ้อมรบหรือลูก”แบลงค์”(Blank : ว่างเปล่า)เมื่อต้องการให้ทหารคุ้นเคยกับประกายไฟและเสียงดังของปืน เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ต้องการให้หัวกระสุนพุ่งออกจากลำกล้อง เมื่อใดที่กระสุนมีหัวกระสุนโลหะเมื่อนั้นมันคือกระสุนจริงที่ยิงถูกคนแล้วจะเสียชีวิต ลูกแบลงค์ถูกใช้ในกิจการอื่นด้วยนอกจากกิจการทหาร คือเป็นเครื่องประกอบฉากภาพยนตร์ มันให้ทั้งประกายไฟปากกระบอกและเสียงดังลั่นแต่ไร้หัวกระสุนซึ่งช่วยให้ปลอดภัยกว่าลูกจริง
เมื่อไม่มีหัวกระสุน มีแต่กระดาษอัดปลายปลอกหรือทำเป็นหัวจีบเพื่อเก็บดินปืน เวลายิงกระสุนซ้อมจึงมีแรงสะท้อนถอยหลัง(รีคอยล์)น้อย จนต้องใช้อุปกรณ์ประกอบคือปลอกทวีแรงถอย(blank firing adapter) มีลักษณะเป็นจุกเกลียวโลหะสีแดงหมุนปิดปากกระบอก การเอาจุกโลหะไปอุดปากกระบอกที่ยิงลูกซ้อมก็เพื่อให้แรงดันภายในลำกล้องยังคงเดิม แรงดันแก๊ซที่เกิดจากการระเบิดจะพยายามดันปลอกซึ่งติดตรึงด้วยเกลียวออก เมื่อจุกเกลียวนั้นไม่เคลื่อนที่มันก็ดันปลอกกระสุนไปข้างหลัง ช่วยให้คัดปลอกแล้วบรรจุกระสุนนัดใหม่ได้โดยไม่ต้องดึงคันรั้งลูกเลื่อน ผลพลอยได้อีกอย่างของปลอกทวีแรงถอยคือเมื่อมันอุดลำกล้องไว้ก็ไม่ต้องห่วงว่าสะเก็ดโลหะหรือจุกกระดาษหัวกระสุนจะไปทำให้ใครๆบาดเจ็บ เลือกยิงได้ทั้งทีละนัดและออโตเหมือนกระสุนจริงทุกประการ
กระสุนซ้อมมีใช้สำหรับปืนทุกประเภทตั้งแต่ปืนพก ลูกซองไปจนถึงปืนกล ไม่ว่ามันจะถูกผลิตจากที่ใดลูกซ้อมจะเหมือนกันคือทำอันตรายต่อบุคคลมิได้นอกจากมีเสียงดังข่มขวัญ มีประกายไฟวาบเหมือนจริงเท่านั้น ปัจจุบันนี้ลูกซ้อมสำหรับปืนเล็กยาว,เล็กสั้นขนาด5.56ม.ม.ที่ใช้กันแพร่หลาย คือแบบM200และM755 ทีนี้มาดูกันว่าสมควรหรือไม่ที่จะใช้ลูกซ้อมไปปราบจลาจล
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ากองทัพบกประสบความสำเร็จในการปราบจลาจลเสื้อแดงครั้งนี้ ความภาคภูมิใจไม่ได้อยู่ที่การสลายการชุมนุมได้แต่เป็นจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บที่น้อยมากตามถ้อยแถลง ด้วยการใช้กระสุนซ้อมดังกล่าวยิงสร้างความสับสนให้ผู้ชุมนุมเข้าใจผิด เปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่หรือหยุดยั้งพฤติกรรม การแถลงว่าได้ใช้ลูกซ้อมรวมทั้งภาพวิดีโอ ที่ทหารหันช่องคัดปลอกของM16ให้เห็นชัดๆว่ากำลังดึงคันรั้งลูกเลื่อนนั้นเป็นเจตนาแสดงให้ทราบว่าไม่ได้ใช้กระสุนจริงอย่างชัดเจน กระสุนจริงถูกยิงขึ้นฟ้า ทำเครื่องหมายข้างซองกระสุนไว้ด้วยสติกเกอร์สีส่วนกระสุนซ้อมใช้ยิงใส่ฝูงชน ไม่มีหัวกระสุนแต่ต้องการหลอกจึงไม่ใส่ปลอกทวีแรงถอยแต่ให้ทหารดึงคันรั้งลูกเลื่อนให้เห็น ในช่วงเวลาอันสับสนนั้นคงไม่มีใครสังเกต แต่ถ้ามีการจลาจลครั้งต่อไปล่ะมุกนี้จะใช้ได้หรือจะกลายเป็น”มุกแป้ก”?
เมื่อพูดถึงความเหมาะสมในการปราบจลาจลแล้ว อาวุธที่ใช้ต้องเป็นอาวุธที่ทำให้เข็ดหลาบจนหยุดพฤติกรรมหรือออกจากพื้นที่เป้าหมายไป จะใช้กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้าก็ต้องมีตำแหน่งกระสุนตก ยิงแล้วหัวกระสุนจะพุ่งทะลุชั้นบรรยากาศโลกออกไปลอยอยู่ในอวกาศก็ไม่ใช่ ตอนมันตกลงมานี่แหละที่อันตรายเหมือนกัน โดนเข้าจังๆก็ตายได้ มีใครคิดเรื่องตำบลกระสุนตกบ้างหรือเปล่า? ทางออกเดียวและเป็นสากลคือต้องใช้อาวุธเพื่อหยุดยั้งหรือ Non-Lethal Weapon(NLW) ที่แตกต่างจากอาวุธสังหาร(Lethal Weapon)ตรงที่มันไม่ทำให้ตายแต่เจ็บจนไม่อยากจะอยู่ที่เดิมเพราะกลัวโดนซ้ำ ต้องหนีออกจากพื้นที่ปล่อยให้ผู้ใช้อาวุธชิงบริเวณกลับคืน
ถ้าลูกซ้อมไม่เหมาะแล้วกระสุนแบบไหนล่ะถึงจะเหมาะ? คำตอบสำหรับการปราบจลาจลที่ยั่งยืนก็คือกระสุนหัวยางซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากระสุนจริง มีทั้ง5.56ม.ม.มาตรฐานนาโตใช้ยิงกับM16หรือเครื่องยิงกระสุนปราบจลาจลโดยเฉพาะ กระสุนหัวยางขนาด40ม.ม.ยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิดM203ติดปืนเล็กยาว หรือจากเครื่องยิงลูกระเบิดM79เดี่ยวๆก็ยังได้ กระสุนยางสีฟ้าสำหรับปืนเล็กยาวแบบในภาพนี้ทหารเนปาลคุ้นเคยดีเพราะใช้บ่อย ตอนกองทัพเนปาลส่งทหารไปประจำการเพื่อรักษาสันติภาพ และคุ้มครองเจ้าหน้าที่สหประชาชาติในโซมาเลีย กระสุนชนิดนี้ถูกนำไปใช้ควบคุมฝูงชนชาวโซมาเลียด้วย ยังไม่เคยมีรายงานว่ามีใครเสียชีวิตจากกระสุนยาง
นอกจากเนปาลแล้วอังกฤษเองก็ใช้เพื่อปราบจลาจลช่วงทศวรรษ1970 แทนกระสุนหัวไม้ซึ่งแม้จะยิงแล้วไม่ตายก็ยังทำอันตรายได้เพราะแข็งกว่า มันถูกกองทัพอังกฤษใช้แพร่หลายในไอร์แลนด์เหนือ กระสุนยางครั้งนั้นถูกยิงจากปืนปราบจลาจลโดยเฉพาะ เส้นผ่าศูนย์กลางกระสุน40ม.ม.ยาว100ม.ม.ใช้ยิงใส่กลุ่มผู้ก่อจลาจลโดยตรง ถ้าพลาดไปโดนศีรษะเข้าก็ได้เลือด เป็นแผลฉกรรจ์แบบเดียวกับการถูกตีจนแตกแต่ไม่ตาย
นอกจากอังกฤษก็มีอิสราเอลที่ผลิตกระสุนยางปราบจลาจล เป็นลูกเหล็กกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง2ซ.ม.เคลือบด้วยชั้นยางบางๆทั้งลูกหนัก14กรัม ดูจากเส้นผ่าศูนย์กลางแล้วคงทำให้เข้าใจได้ว่าต้องใช้ปืนปราบจลาจลออกแบบมาเฉพาะยิงอีกแต่ไม่ใช่ เพราะกระสุนชนิดนี้ใช้สวมปากกระบอกปืนเล็กยาวธรรมดาด้วยอแดปเตอร์ ยิงแบบเดียวกับระเบิดยิง(หำน้อย)ของทหารบก ทหารยิวใช้กระสุนแบบนี้ยิงในระยะหวังผล40เมตร เล็งที่ระดับขาแล้วยิงโดนเข้าไปก็พับ รอให้ตำรวจเข้าไปลากตัวมาได้อย่างเดียว
นอกจากกระสุนยางปราบจลาจลของปืนเล็กยาวปืนลูกซองก็มีใช้ โดยธรรมชาติแล้วมันใช้ยิงลูกปรายได้จึงเหมาะจะใช้ปราบจลาจลที่ต้องการอำนาจยิงครอบคลุม ขนาดลูกที่นิยมกันในปัจจุบันคือลูกยาง12เกจเท่าปืนลูกซองจริง ปลอกสีขาวขุ่นมองเห็นกระสุนภายในได้ชัดว่าทำจากยาง บริษัทฟิออคคี(Fiocchi:
http://www.fiocchiusa.com/)จากสหรัฐฯที่โด่งดังจากผลิตภัณฑ์กระสุนจริง คือผู้สร้างกระสุนแบบนี้ออกมาให้หน่วยงานปราบจลาจลทั่วโลกใช้ ยิงได้ทั้งกับปืนลูกซองปราบจลาจลโดยเฉพาะและลูกซองชาวบ้านปกติ จะให้แรงกว่านั้นระเบิดเคลย์มอร์แบบสะเก็ดยางก็มีให้เลือก
นอกจากกระสุนหัวยางแล้วยังมีNLWอื่นให้เลือกอีก เช่นสเปรย์พริกไทย(ขวดเท่าโค้กลิตร ไม่ใช่ขวดเท่านิ้วหัวแม่มืออย่างที่คุณสุภาพสตรีใช้) ที่ผู้ใช้สวมหน้ากากแล้วฉีดมันใส่ฝูงชน ผลที่ได้คือปวดแสบปวดร้อนใบหน้า แสบตา หายใจขัด ต้องรีบหาน้ำล้างด่วนมิฉะนั้นจะแสบอยู่นาน น่าสังเกตว่าของเล่นบางอย่างเช่นปืนเพนท์บอล(paint ball gun)ก็น่าจะนำมาปราบจลาจลได้เหมือนกัน โดยให้กระสุนทำด้วยเจลาทีนเคลือบสารก่อเกิดความระคายเคืองทำนองเดียวกับสเปรย์พริกไทย จะบรรจุด้วยพริกป่นหรือพริกไทยจริงๆก็ได้
ภาพที่ออกไปทางสื่อก็จะดูไม่รุนแรงด้วยเมื่อผู้รับข่าวสารเห็นทหารถือปืนเพนท์บอลแทนที่จะใช้ปืนจริง ปืนเพนท์บอลยิงได้แรง ไกล ดูแลรักษาง่ายเพราะไม่ต้องหยอดน้ำมัน ขอเพียงให้ซีลยางไม่แตกไม่รั่วเก็บแก๊ซได้ก็พอ ใครที่เคยเล่นเพนท์บอลจะเข้าใจดีถึงความรุนแรงของกระสุน เมื่อถูกยิงในจุดไร้การป้องกันจะเจ็บมากและถึงกับเป็นรอยช้ำติดตัวอยู่นานเป็นอาทิตย์
นอกจากNLWที่อ้างมาแล้วยังมีอีกหลายชนิดซึ่งหน่วยงานของรัฐควรจะเสาะหา เพราะเราจะปล่อยให้ทหาร,ตำรวจออกไปปฏิบัติหน้าที่โดยไร้สวัสดิภาพไม่ได้อีกแล้ว เมื่อเมฆหมอกแห่งการจลาจลเสื้อสียังมีเค้าว่าจะก่อตัวขึ้นได้ทุกเมื่อ เมื่อถึงคราวจำเป็นพวกเขาต้องมีอาวุธให้เลือกได้ ว่าตอนไหนจึงจะใช้อาวุธสังหารหรือตอนไหนควรใช้NLW ไม่ใช่ปล่อยให้ออกไปเผชิญภัยโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะใช้อะไร อ้างแต่ว่านายสั่งก็ต้องมายืน ยืนแล้วป้องกันอะไรไม่ได้แม้แต่ตัวเองมันก็เสียเวลาเสียดายกำลังพลเปล่าๆ รัฐน่าจะมีเครื่องมือให้เขาพร้อมประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจทั่วกันว่าการปราบจลาจลด้วยNLWเป็นเรื่องชอบธรรม เป็นทางเลือกสุดท้ายที่รัฐบาลต้องทำเพื่อความสงบเรียบร้อยของปวงชน
ลองนึกดูถึงภาพทหาร/ตำรวจกำลังนั่งล้อมวงกินข้าวใต้ร่มไม้ข้างถนน จู่ๆก็มีใครไม่รู้โยนระเบิดเข้าไปกลางวง เจ้าหน้าที่เจ็บและตายกันอีกแต่พอจะยิงไอ้คนโยนกลับถูกกล่าวหาว่า”ทหารฆ่าประชาชน” ถ้ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้ความสำคัญกับNLWและถือเป็นวาระเร่งด่วนต้องเร่งจัดหา รวมทั้งฝึกซ้อมการใช้งานให้คล่องแคล่วจริงๆ บ้านเมืองจะเรียบร้อยขึ้นอีกมากเมื่อผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ต้องพะวงว่าจะไปฆ่าใครเข้าจนตกเป็นจำเลยสังคม
อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วเห็นหรือยังครับ ว่ากระสุนซ้อมนั้นมีไว้ให้ทหารยิงซ้อมรบเท่านั้น มันถูกออกแบบมาเพื่อกิจกรรมนั้นอย่างเดียวจริงๆ

กองทัพกับปืนเล็กยาว



ทหารกับปืนเล็กยาวคือองค์ประกอบของหน่วยรบที่แยกกันไม่ออก ทั้งทหารและปืนเล็กจะขาดจากกันไม่ได้ในการสู้รบนับแต่มนุษย์คิดค้นปืนและกระสุนสำเร็จ ในอดีตปืนเล็กยาวแทบจะมีรูปพรรณสัณฐานเหมือนกันหมด เริ่มตั้งแต่ปืนคาบศิลาที่เกิดจากส่วนประกอบต่างๆคือลำกล้อง โครงปืน นกสับแก็ป เรือนเครื่องลั่นไกและพานท้าย แม้กาลเวลาจะล่วงเลยจากยุคปืนคาบศิลามาเป็นร้อยปี ถึงมีการนำกล้องเล็งขยายมาประกอบปืนก็ยังประกอบด้วยส่วนประกอบหลักๆดังกล่าว มันยังคงเป็นอาวุธใช้ยิงกระสุนขนาดเล็กจากลำกล้องเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำไปประกอบอาวุธอื่นที่ใหญ่หรือพิสดารกว่าได้ ทหารราบทั่วโลกจึงถูกฝึกให้ใช้ปืนเล็กยาวด้วยท่าทางเหมือนกัน เพราะรูปร่างของปืนไม่ต่างกันการจับถือและเล็งจึงไม่ต่างกันไม่ว่าผู้ใช้ปืนจะเป็นใคร
เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 เพราะกองทัพชาติต่างๆต้องเร่งผลิตอาวุธที่ดีกว่าเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบคู่สงคราม ปืนเล็กยาวจึงถูกพัฒนาตามแนวความคิดของแต่ละชาติให้มีรูปร่างหน้าตาและระบบการทำงานแตกต่างกันแบบคนละเรื่อง กองทัพเยอรมันเคยมีปืนเล็กยาวKAR 98Kของเมาเซอร์เป็นอาวุธประจำกายทหารมาตั้งแต่ปีค.ศ.1935 เรื่อยมาจนถึงปลายสงครามโลกครั้งที่2โดยมีMP40”ชไมเซอร์”เป็นปืนกลมือสำหรับการรบระยะประชิด
ครั้นถึงปีปลายค.ศ.1944ด้วยความรีบเร่งทั้งเพื่อทำสงครามและผลิตอาวุธ รูปแบบของปืนเล็กยาวของเยอรมันจึงเปลี่ยนไป จากปืนเล็กยาว(rifle)ธรรมดาที่สร้างด้วยเหล็กกับไม้คัดปลอกด้วยการดึงคันรั้งลูกเลื่อน กลายมาเป็นปืนเล็กยาวจู่โจม(assault rifle)ที่สร้างจากเหล็กปั๊มขึ้นรูป,พลาสติกเหลือแต่พานท้ายปืนที่ยังเป็นไม้ เลือกระบบการทำงานให้ยิงได้ทั้งทีละนัดและยิงชุดได้เหมือนปืนกล แต่ยังคงคุณสมบัติเหมือนปืนเล็กยาวดั้งเดิมคือเป็นอาวุธประจำกายทหารราบ ต้องประทับบ่าเล็งศูนย์แล้วยิง STG44ของกองทัพเยอรมันคือปืนเล็กยาวแบบใหม่ที่ปฏิวัติทั้งกรรมวิธีการผลิตระบบการทำงานและรูปร่าง
STG44ใช้ซองกระสุนโค้ง(ที่ถูกเรียกกันทั่วไปว่าแม็กฯกล้วย) มีอุปกรณ์จับถือเพิ่มขึ้นมาจากโครงปืนและพานท้ายคือด้ามจับ(grip)แบบเดียวกับปืนพก ทหารที่เคยฝึกการเล็งยิงด้วยปืนเล็กยาวมาตรฐานแบบไม่มีด้ามก็ต้องปรับตัวมาฝึกให้คุ้นเคยกับปืนแบบมีด้ามหลังโกร่งไกอย่างSTG44 ไม่เพียงเท่านั้นกองทัพยังต้องรับมือกับความใหม่ทั้งด้านขนาดของกระสุน การฝึกท่าบุคคลประกอบอาวุธและอุปกรณ์อะไหล่ต่างๆที่ใช้กับปืนใหม่
สหรัฐฯที่กำลังรบกับเยอรมันอยู่ก็ปรับเปลี่ยนเช่นกัน ด้วยการนำปืนกลธอมป์สันเข้าประจำการตั้งแต่ปีค.ศ.1938และใช้ในสงครามโลกครั้งที่2ควบคู่กับปืนเล็กยาวมาตรฐานM1”กาแรนด์” ด้วยกระสุนคนละขนาดกับM1หน่วยทหารที่ใช้ธอมป์สันต้องถูกฝึกด้วยปืนชนิดนี้มาตั้งแต่แรก หรือมิเช่นนั้นก็ต้องมีเวลาได้ทำความคุ้นเคยกับปืนใหม่จนใช้ได้คล่องแคล่วเสียก่อนจึงจะถูกส่งออกแนวรบ เพราะปืนเล็กยาวก็เหมือนกับอุปกรณ์ทุกอย่างที่ต้องอาศัยความชำนาญในการใช้งาน
ยิ่งสำคัญขึ้นไปอีกเมื่อมันตัดสินความเป็นความตายของผู้ใช้งานได้ ไม่ผิดเลยหากจะอ้างคำขวัญของเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯที่ว่า”Without me my rifle is useless,without my rifle I’m useless” เพราะในยามคับขันหากมีแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่งแค่อย่างเดียวสถานการณ์ก็ดูจะย่ำแย่จริงๆ ทหารที่ใช้ปืนไม่คล่องจึงแทบไม่ต่างเลยจากไม่มีปืน
อาวุธประจำกายทหารเริ่มหลากหลายเมื่อกองทัพรับภารกิจมากขึ้น แม้แต่บางหน่วยงานพลเรือนอย่างตำรวจและหน่วยอารักขาก็ต้องใช้อาวุธร้ายแรงขึ้น รูปแบบของปืนจึงเปลี่ยนแปลงตาม แต่เดิมที่ไม่ค่อยคำนึงถึงสรีระของคนใช้งานและภารกิจก็เปลี่ยนมาคำนึงมากขึ้น ส่งผลให้รูปร่างของปืนเปลี่ยนไปนอกจากรูปแบบการทำงาน ปืนกลมือP90ของบริษัทฟาบรีค นาซิอ็องนาเล(FN)จากเบลเยียม มีรูปร่างและกลไกไม่เหมือนปืนกลมือแบบไหนๆที่มนุษย์เคยใช้ ทั้งโครงปืนผลิตจากโพลิเมอร์รวมถึงซองกระสุนพลาสติกใสเพื่อมองเห็นจำนวนกระสุน
ที่แปลกกว่าใครคือมันเรียงกระสุนในซองตั้งฉากกับทิศทางการยิง มีกลไกท้ายปืนเท่านั้นที่บิดตัวกระสุนให้หันหัวออกลำกล้อง ยิ่งกว่านั้นคือวางซองกระสุนไว้บนตัวปืนใต้ศูนย์เล็ง แทนที่ทหารจะดึงซองกระสุนออกทางด้านล่างหน้าโกร่งไกก็ต้องเปลี่ยนวิธีเปลี่ยนซองกระสุนใหม่ การจับปืนชนิดนี้ยิงเลยโดยไม่ฝึกฝนให้คล่องก่อนจึงเป็นอันตรายมากระหว่างคับขันหรือรบติดพัน ที่เวลาทุกวินาทีมีความหมายถึงชีวิต
รูปแบบสงครามที่เปลี่ยนไป จากสงครามเต็มรูปแบบอย่างสงครามโลกครั้งที่2มาเป็นสงครามในเมืองทำให้นักออกแบบปืนเล็กต้องพัฒนาแนวความคิดของตนให้สอดคล้องกัน จากเดิมที่เคยใช้ปืนเล็กยาวลำกล้องยาวมีพานท้ายเต็ม กลายมาเป็นปืนเล็กยาวลำกล้องสั้นลงและพานท้ายปรับระยะได้ เห็นชัดๆคือปืนคาร์บีนในตระกูลM16คือM4ที่มีรูปร่างหน้าตาและกลไกแทบจะเหมือนM16ทุกกระเบียดนิ้ว แต่ปรับปรุงการทำงานภายในให้ดีกว่า ลดข้อบกพร่องที่เคยพบในM16ลงได้มากรวมทั้งมีคุณสมบัติแบบนักรบในเมืองต้องการคือปรับความยาวของพานท้ายได้
แต่ดูเหมือนว่าความคล่องตัวของพานท้ายปรับได้จะยังไม่น่าพอใจ ปืนเล็กแบบบูลพัป(Bullpup)จึงเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ให้เพิ่มความคล่องตัวกับทหารยามเคลื่อนย้ายกำลังด้วยรถยนต์และรบในเมือง ด้วยการคงความยาวลำกล้องขนาดเดียวกับปืนเล็กยาวไว้ แต่เลื่อนตำแหน่งเรือนเครื่องลั่นไกและซองกระสุนมาไว้หลังด้ามปืนและโกร่งไก ด้วยวิธีความยาวลำกล้องปืนจึงเท่าเดิมแต่ความยาวโดยรวมของปืนลดลง ช่วยให้คล่องตัวเมื่อเคลื่อนย้ายด้วยพาหนะ ใช้งานได้ดีในบริเวณจำกัดเช่นการรบในเมือง ซ้ำยังควบคุมทิศทางยิงได้ง่ายเพราะแรงรีคอยล์ต่ำจากการวางตำแหน่งลำกล้อง
ตัวอย่างชัดเจนของบูลพัปคือสไตเออร์AUGของออสเตรีย,ทาวอร์-ทาร์21ของอิสราเอล เอาปืนเล็กยาวจู่โจมสองแบบนี้มาวางเทียบกับM4แล้วจะพบว่ารูปร่างของมันแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งสไตเออร์และทาวอร์ดูเหมือนปืนอวกาศในภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์ส มีส่วนประกอบปืนส่วนใหญ่เป็นโพลิเมอร์(พลาสติกเกรดสูง) โผล่แค่ลำกล้องโลหะให้เห็นเท่านั้น ต่างไปจากM4ที่เป็นปืนจากแนวความคิดแบบดั้งเดิมซึ่งดูจะใช้งานในสนามรบจริงๆได้ดีกว่า
การเปลี่ยนปืนจึงเป็นเรื่องใหญ่ของกองทัพ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแบบหรือเปลี่ยนทั้งแบบและรูปร่าง เนื่องจากการเปลี่ยนอาวุธประจำกายแต่ละครั้งไม่ได้มีปัญหาแค่ที่ตัวทหาร แต่ยังกระทบกระเทือนถึงงบประมาณ การส่งกำลังบำรุง อะไหล่และปัญหาอื่นๆที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง
เมื่อต้นทศวรรษ2000กองทัพสหรัฐฯเคยมีโครงการจัดหาปืนเล็กยาวแบบใหม่คือXM8 เพื่อทดแทนปืนตระกูลM16 ทั้งที่XM8เป็นปืนที่ดี เบาด้วยส่วนประกอบโพลิเมอร์ แม่นยำด้วยแรงรีคอยล์ต่ำจนยิงได้หมดซองกระสุนด้วยมือข้างเดียว ดีกว่าตระกูลM16ของโคลต์ ดีเฟนซ์ทุกอย่าง แต่ในที่สุดโครงการXM8ก็ต้องพับไปในปีค.ศ.2005เพราะใช้ชิ้นส่วนทดแทนไม่ได้กับปืนตระกูลM16ที่มีทั้งM16(A1ถึงA4)และM4 อันเป็นอาวุธประจำกายหลักของกองทัพสหรัฐฯและกองทัพของอีก80ประเทศทั่วโลก
HK416จากค่ายเฮคเลอร์อุนด์โค้ค(H&K) คือปืนอีกแบบที่จะเข้ามาแทนปืนตระกูลM16นั้นค่อนข้างจะไปได้สวย ด้วยคุณสมบัติความทนทานเทียบเคียงได้กับปืนตระกูลอาก้า ใช้กลไกช่วงบนทดแทนได้กับปืนตระกูลM16แต่ปัญหาคือราคามันแพงเกินไปหากจะเปลี่ยนกันทั้งหมด
ใครที่เคยสัมผัสกับM16หรือM4ของโคลต์มาแล้วจะพบว่ามันเป็นปืนของทหาร”ในกองทัพ”จริงๆ ดูแลกันให้”ถึง”เถิดแล้วจะไม่มีปัญหา ในคู่มือยังบอกไว้ด้วยว่าสำหรับ”highly trained doldiers”หรือ”สำหรับทหารที่ถูกฝึกมาอย่างดีเท่านั้น ซึ่งคำว่า”ฝึกมาอย่างดี”ยังกินความหมายรวมถึงการดูแลรักษาอาวุธประจำกาย ให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานตลอดเวลาและทุกสถานการณ์ ต่างจากปืนของค่ายโซเวียตที่เน้นการใช้งานของกองกำลังจรยุทธที่ไม่ต้องดูแลกันมาก ปืนตระกูลอาก้านั้นแทบไม่ต้องหยอดน้ำมันเลยเป็นปีก็ยังยิงได้ดีเฉย
การเปลี่ยนอาวุธประจำกายทหารราบจึงเป็นปัญหาใหญ่ ว่ากันตั้งแต่หน่วยทหารที่ใช้อาวุธซึ่งหากฝึกด้วยปืนแบบหนึ่งมาจนขึ้นใจแล้วอาจขลุกขลักสักระยะหนึ่ง เป็นปัญหาสำหรับทหารประจำการที่คุ้นเคยระบบอาวุธเดิม แต่จะไม่เป็นปัญหาสำหรับทหารเกณฑ์ที่จะใช้อาวุธใหม่มาตั้งแต่ต้น ปัญหายังรวมถึงด้านเทคนิคการดูแลและซ่อม แม้อิสราเอลจะผลิตปืนทาวอร์ส่งออกกองทัพของประเทศนี้ยังคงใช้M4ของโคลต์อยู่ แล้วทยอยปรับเปลี่ยนโดยไม่ยกเลิกการใช้งานทั้งหมดด้วยเหตุผลข้างต้น
ถ้ากองทัพของเรายังต้องใช้ปืนตระกูลM16ของโคลต์เป็นหลัก(เว้นแต่บางส่วนของหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วที่ใช้ทาวอร์) และด้วยงบประมาณอันจำกัด การเปลี่ยนอาวุธใหม่ทั้งหมดคงไม่ใช่ทางออกที่ดี เว้นแต่จะให้ความสำคัญกับเทคนิคการบำรุงรักษาและเน้นให้ทหารฝังใจ ว่าปืนคือชีวิตและต้องดูแลมันเหมือนอวัยวะสำคัญที่พวกเขาจะพึ่งพาได้ยามคับขัน!

EOD. “ท่านวาง(ระเบิด) เราตามเก็บ(กู้)”


ถ้าเสื้อเกราะกันกระสุนเกิดขึ้นตั้งแต่มนุษย์รู้จักคิดค้นกระสุนดินดำ แล้วการเก็บกู้วัตถุระเบิดล่ะจะมีขึ้นตั้งแต่เมื่อไร? ตอบได้ง่ายๆว่า”ตั้งแต่มนุษย์รู้จักทำระเบิด”นั่นแหละ ด้วยหลักเหตุผลง่ายๆว่าเมื่อมีแรงกิริยาก็ต้องมีแรงปฏิกิริยาตอบโต้ มีคนต้องการทำลายก็ต้องมีคนคิดป้องกัน ถ้าคนเราคิดจะสังหารศัตรูด้วยระเบิดถ่วงเวลา,กับระเบิด,ทุ่นระเบิดกันมาตั้งแต่4-5,000ปี การเก็บกู้วัตถุระเบิดก็น่าจะมีมาพร้อมๆกัน แต่ที่เริ่มจัดตั้งเป็นองคาพยพหนึ่งในกองทัพชัดๆและใช้ชื่อว่า”หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด”(EOD : Explosive Ordnance Disposal) ก็เมื่อสงครามโลกครั้งที่1นี่เอง หลังจากชาติต่างๆในยุโรปเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตสินค้าและบริการขนานใหญ่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และการควบคุมคุณภาพยังหละหลวมโดยเฉพาะกับวัตถุระเบิด
เมื่อการผลิตกระสุนและวัตถุระเบิดต่างๆด้วยเครื่องจักรยังเพิ่งเริ่มต้น จึงยังขาดการควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบอันละเอียดเชื่อถือได้ ทำให้กระสุนปืนใหญ่ของแต่ละฝ่ายที่ยิงใส่กันนั้น”ด้าน”อยู่บ่อยๆ เมื่อกระทบที่หมายแล้วไม่ระเบิดแต่ก็ไม่มีใครรู้ว่ามันจะระเบิดเอาเมื่อไร ทิ้งไว้เฉยๆจะน่าหวาดหวั่นกว่าทำลายเสียโดยมีผู้กำกับดูแล ประมาณว่ากระสุนปืนใหญ่ของเยอรมันน่าจะด้านมากกว่าของอังกฤษ กองทัพบกอังกฤษจึงต้องสละงบประมาณและบุคลากรขึ้นตั้งเป็นหน่วยงานเฉพาะ มีชื่อแต่แรกว่า”หน่วยตรวจสอบวัตถุระเบิด”(Ordnance Examiner) ด้วยหน้าที่หลักคือตรวจสอบและทำลายกระสุนปืนใหญ่ของเยอรมันที่ยิงมาแล้วด้าน ส่วนฝ่ายเยอรมันและพันธมิตรก็มีหน่วยงานทำนองเดียวกันเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน สังกัดเหล่าทหารช่างที่เรียกในภาษาตนว่า”พีโอนีร์”(Pionier)
ครั้นถึงปี1918ฝ่ายเยอรมันได้พัฒนาระเบิดไปไกลอีกขั้นด้วยชนวนหน่วงเวลา ไม่ทันได้ใช้เพราะแพ้สงครามโลกครั้งที่1เสียก่อน แต่ยังพัฒนาต่อจนถึงกลางทศวรรษที่1930 ในโครงการพัฒนาอาวุธลับเพื่อจะก่อสงครามขึ้นอีกในไม่กี่ปีข้างหน้า โครงการนี้นำไปสู่ระเบิดที่จงใจให้ด้านหรือUXB(Unexploded Bomb)จากการพัฒนาโดยแฮร์แบร์ต รูฮ์เล่อะมันน์แห่งบริษัทไรน์เมทัลล์ หนูทดลองระเบิดด้านของเยอรมันรายแรกคือชาวสเปนในสงครามกลางเมืองระหว่างปี1936-1939 ที่ฝ่ายนาซีเยอรมันส่งกองทัพไปหนุนฝ่ายนิยมฟาสซิสต์ของพลเอกฟรานซิสโก ฟรังโก และบอลเชวิกของรัสเซียหนุนฝ่ายตรงข้าม
เป็นการซ้อมรบแบบเอาจริงใช้กระสุนจริงและตายจริงๆ ระหว่างเยอรมันกับรัสเซียก่อนสงครามโลกครั้งที่2โดยชาวสเปนอยู่ตรงกลางถูกใช้ทดลองอาวุธต่างๆเพื่อประเมินผล ด้วยอาวุธหลากหลายทั้งเครื่องบิน รถถัง ยุทธวิธีใหม่ๆรวมทั้งระเบิดทั้งแบบทิ้งจากเครื่องบินและยิงจากปืนใหญ่ แถมด้วยทุ่นระเบิดบกเพื่อสังหารทหารราบและทำลายยานยนต์ คนที่ตายเป็นใบไม้ร่วงไม่ใช่ทหารเยอรมันและรัสเซีย กลับกลายเป็นชาวสเปนทั้งพลเรือนและทหารที่สังเวยชีวิตในสงครามโหดนี้ถึง500,000คน
เยอรมันพบว่าระเบิดด้านแบบจงใจนี้ สร้างความโกลาหลให้ข้าศึกได้ดีกว่าแบบยิงไปแล้วระเบิดเลย เพราะทำให้กองกำลังไม่กล้าเคลื่อนที่ ซ้ำยังต้องแบ่งกำลังพลมาตรวจสอบและทำลายกลายเป็นเครื่องหน่วงเวลาชั้นดีที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกลยุทธ์ฝ่ายตนทั้งรุกและรับ ให้ระเบิดเสียเลยยังง่ายเสียกว่า
พอสงครามโลกครั้งที่2ระเบิดขึ้นในปีที่สงครามกลางเมืองสเปนจบ หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของอังกฤษต้องทำงานหนักเมื่อเยอรมันศัตรูเก่าขนระเบิดไปทิ้งแบบปูพรม เกือบทั่วกรุงลอนดอนและเมืองสำคัญอื่นเช่นโคเวนตรี้ ระเบิดเยอรมันรุ่นนี้ซับซ้อนกว่ารุ่นใช้ในสเปนด้วยอุปกรณ์ต่อต้านการกู้ในตัวระเบิด มีชื่อว่าชนวนแบบZUS40ที่ลุฟต์วัฟเฟ่อะคิดค้นสำเร็จและหอบเอาไปถล่มเกาะอังกฤษช่วงกลางปี1940 ด้วยเจตนาว่าจะให้เครื่องมือนี้ฆ่าเจ้าหน้าที่เก็บกู้กันทีเดียวถ้าระเบิดเกิดด้าน ซึ่งฝ่ายอังกฤษเองก็ต้องเร่งพัฒนาอุปกรณ์และวิธีการเก็บกู้ให้ทัน แต่ทหารอังกฤษแท้ๆเองก็ฉลาดที่ไม่ยอมเก็บกู้ด้วยตัวเอง ให้ทหารของชาติในอาณานิคมคืออินเดียและกูรข่าไปกู้ระเบิด มีทหารอินเดียเข้าไปทำงานเฉพาะด้านเก็บกู้นี้แทบจะเป็นกำลังหลักในอาฟริกาเหนือและอิตาลี และในเมืองหลวงของอังกฤษระหว่างนั้นเยอรมันก็ทิ้งระเบิดลงมาเหมือนห่าฝนชนิดไม่ต้องลืมหูลืมตา จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ปัจจุบันนี้หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของอังกฤษยังต้องเก็บกู้ระเบิดใหญ่น้อยที่ทิ้งจากเครื่องบินเยอรมันอยู่เป็นครั้งคราว ทั้งในกรุงลอนดอนและใกล้เคียง แม้สงครามโลกครั้งที่2จะสงบมา60กว่าปีแล้ว!
หมดยุคระเบิดทิ้งจากเครื่องบินก็มาถึงยุคระเบิดแสวงเครื่อง มันแพร่หลายกว่าเพราะทำง่ายวางง่ายวางที่ไหนก็ได้และใช้ใครไปวางก็ได้ตั้งแต่เด็กวัยประถมไปจนถึงผู้ใหญ่หัวหงอก ความเป็นผู้นำก็ตกอยู่กับอังกฤษแบบจำยอมอีกเมื่อเผชิญกับการวางระเบิดแบบพร่ำเพรื่อของกองกำลังสาธารณรัฐไอริช(ไออาร์เอ IRA Irish Republican Army) ต้องเผชิญกับระเบิดแสวงเครื่องหลากชนิดตั้งแต่ระเบิดยัดท่อเหล็กง่ายๆ ไปจนถึงระเบิดที่รอให้เหยื่อมาจุดชนวนเองโดยไม่ตั้งใจ ระเบิดข้างถนนที่เราเห็นเป็นข่าวในอิรักทุกวันนี้พวกไออาร์เอใช้มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ1970แล้ว เพื่อบีบบังคับให้อังกฤษยอมปล่อยชาติตนเป็นอิสระ
จากแค่หน่วยเฉพาะกิจเล็กๆ กองทัพอังกฤษต้องขยายอัตรากำลังพลมาเป็นระดับกรม(ปัจจุบันคือกรมเก็บกู้วัตถุระเบิดที่11)เพื่อจัดการกับระเบิดวางของไออาร์เอโดยเฉพาะ เมื่อระเบิดแสวงเครื่องถูกวางไม่เลือกเป้าทั้งทหารและพลเรือน กรมพิเศษนี้ทำงานหนักมากทั้งที่อยู่ในยามสงบจนได้รับการเชิดชูเกียรติจากกองทัพบก
ด้วยรูปแบบของสงครามที่เปลี่ยนไป จากสงครามเต็มรูปแบบมาเป็นสงครามเครือข่ายและการก่อการร้าย ระเบิดแสวงเครื่องดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดหวั่นต่อเป้าหมายได้คุ้มค่าที่สุด แม้ไม่มีตัวระเบิดจริงๆแค่โทรขู่ว่าจะวางระเบิดก็อาจทำให้สถานที่ราชการต้องหยุดงาน โรงเรียนหยุดสอน ภาคอุตสาหกรรมหยุดการผลิต แม้จะมีระเบิดจริงแต่ไม่ระเบิดก็สร้างผลทางจิตใจได้เท่าเทียมกัน ยิ่งถ้าระเบิดนั้นเกิดเป็นของจริงและคร่าชีวิตผู้คน,ทำลายสิ่งก่อสร้างได้ ยิ่งเกิดผลร้ายซ้ำซ้อนทั้งชีวิตมนุษย์และทรัพย์สิน
ระเบิดแสวงเครื่องเป็นได้ทั้งเครื่องมือก่อการร้ายประสิทธิภาพสูง เพราะความหลากหลายของรูปแบบที่ทำให้ยากต่อการเก็บกู้ และความง่ายในการซ่อนพรางที่ไม่จำกัดขนาด จะยัดหรือฝังไว้ในซอกมุมไหนของภูมิประเทศก็ได้ จะเอามาพันไว้รอบตัวเพื่อเปลี่ยนเป็นระเบิดพลีชีพก็ได้และเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่เก็บกู้ยากที่สุด เมื่อตัวระเบิดเองสามารถทำงานได้ทั้งด้วยผู้ถือระเบิดและจากการสั่งงานระยะไกล
การกู้ระเบิดแสวงเครื่องจึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังสูงสุด ต้องถูกฝึกมาอย่างดีและต้องมีจิตสำนึกในด้านความปลอดภัยสูง เจ้าหน้าที่ทั้งพลเรือนและทหารในประเทศที่เผชิญภัยคุกคามแบบนี้บ่อยๆเช่นสหรัฐฯ จะได้รับการจัดสรรงบประมาณมาให้พอเพียงทั้งด้านการฝึกและอุปกรณ์ มีพร้อมทั้งหุ่นยนต์เก็บกู้กับระเบิดในกรณีที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเข้าใกล้ และชุดเก็บกู้(bomb suit)เมื่อต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปพิสูจน์ทราบและหยุดการทำงานของระเบิด
ก่อนเกิดสงครามอิรักนั้นอังกฤษเชี่ยวชาญเป็นอันดับ1ด้านการเก็บกู้วัตถุระเบิด จากประสบการณ์ต่อต้านการก่อการร้ายของไออาร์เอที่ช่วงหลังๆใช้ระเบิดแสวงเครื่องเป็นอาวุธหลัก แต่หลังจากเกิดสงครามในอิรักและทหารอเมริกันเผชิญภัยจากระเบิดแสวงเครื่องไม่หยุดหย่อนทุกวัน อเมริกาก็พัฒนาความสามารถของตนขึ้นมาได้เท่าเทียมกัน แต่สหรัฐฯก็ยังส่งทหารมาศึกษารายละเอียดในภาคใต้ของไทยบ่อยๆเมื่อพบว่ารูปแบบการวางระเบิดที่เราพบอยู่นั้นสลับซับซ้อนกว่า ดัดแปลงเอาวัสดุในครัวเรือนมาทำระเบิดได้ร้ายแรงกว่า
เมื่อพูดถึงการวางระเบิดในภาคใต้และอีกหลายๆแห่งที่เคยมีมา จากภาพข่าวที่เห็นในโทรทัศน์และที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องถ่ายเก็บไว้ พบว่าการทำงานด้านเก็บกู้วัตถุระเบิดของเรายังคำนึงถึงความปลอดภัยและขั้นตอนที่ถูกต้องน้อยมาก ที่เคยเป็นข่าวดังชิ้นหนึ่งในภาคใต้เมื่อปีก่อนว่ามีการวางระเบิดมอเตอร์ไซค์แล้วเจ้าหน้าที่ผู้เก็บกู้เสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาลนั้น ที่เห็นคือเจ้าหน้าที่ทั้งสองท่านมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนอันถูกต้อง คือไม่ได้กั้นบริเวณให้ไกลพอและเข้าไปตรวจสอบที่วางระเบิดมากกว่าหนึ่งนาย แรกเริ่มคือเดินรอบมอเตอร์ไซค์ระเบิดถึง3-5คนแล้วเหลือเพียง2คนที่ตรวจสอบซึ่งก็ยังผิด ผิดด้วยจำนวนและวิธีการที่หากไม่แน่ใจควรจะโยนเชือกเกี่ยวแล้วลาก หรือตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบริเวณก่อนแล้วเข้าไปตรวจสอบเพียงคนเดียว เรื่องบอมบ์สูทนั้นไม่ว่ากันถ้าอ้างเหตุผลว่าของแพง แต่ขั้นตอนที่หละหลวมจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตนั้นแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์เท่าที่ควร
แนวคิดแบบหนึ่งที่ฟังแล้วน่าตกใจ สลดใจ คือความคิดว่าจะไปซื้อหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดทำไมตัวละเป็นสิบล้าน ทั้งที่งบประมาณเพื่อผลิตเจ้าหน้าที่เก็บกู้ฯถึงสามคนคนยังใช้ถูกกว่าตั้งเยอะ ถ้าความคิดว่าชีวิตคนถูกกว่าเครื่องจักรแบบนี้ยังมีอยู่ เราก็จะเห็นภาพเจ้าหน้าที่บาดเจ็บแขนขาขาดหรือเสียชีวิตอีกหลายรายในอนาคต รัฐบาลของเราหลายยุคหลายสมัยมาแล้วครับที่ถนัดกับการเอาเงินไปหว่านทิ้งเฉยๆโดยไม่เกิดประโยชน์ แต่กับสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงานเพื่อความร่มเย็นและประโยชน์ของคนไทยส่วนใหญ่กลับละเลย!


“Silencer” เงียบสนิทหรือแค่ลดเสียง?


ในการรบราฆ่าฟันกันแต่นานมานั้น”ความได้เปรียบ”คือสิ่งที่คู่สงครามต่างแสวงหา การซ่อนพรางจึงถูกพัฒนาไม่หยุดหย่อนนับแต่เราเริ่มแบ่งฝ่ายแล้วหันหน้าเข้าสู้กัน และการ”พรางเสียง”ก็เป็นหนึ่งในความคิดที่เกิดขึ้นพร้อมกับปืนใช้กระสุนดินดำ ประสิทธิภาพของปืนนั้นก็โอเคอยู่แต่ทำยังไงจึงจะฆ่าได้เงียบ เพื่อฝ่ายตรงข้ามจะได้จับไม่ได้และจะได้ฆ่าต่อไปเรื่อยๆ แม้จะมีผู้คิคค้นอุปกรณ์สวมปากกระบอกปืนเพื่อลดเสียงหลายคนในช่วงต้นศตวรรษที่20 แต่คนที่ทำสำเร็จและเปิดตลาดยุทโธปกรณ์นี้ด้วยคือไฮแรม เพอร์ซี่ แม็กซิม บุตรชายของเซอร์ไฮแรม สตีเฟนส์ แม็กซิมบิดาแห่งปืนกลแม็กซิมอันลือลั่น และยังเป็นหลานของฮัดสัน แม็กซิมนักประดิษฐ์ผู้คิดค้นระเบิดอานุภาพสูงและกระสุนแบบต่างๆที่ใช้ในกองทัพ
เมื่อทั้งพ่อและปู่ทำมาหากินอยู่ในแวดวงอาวุธ จึงไม่แปลกที่แม็กซิมจะต้องคิดค้นสิ่งอำนวยความสะดวกทำนองเดียวกัน เขาคือคนแรกที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าสร้างกระบอกเก็บเสียงสำเร็จและผลิตจำหน่ายด้วยในประมาณปีค.ศ.1902 ก่อนที่มันจะกลายเป็นอุปกรณ์ขาดไม่ได้ของทหารในหน่วยรบพิเศษยุคปัจจุบันในอีกร้อยปีต่อมา เพื่อให้รู้ว่าใครสร้างมันจึงถูกตั้งชื่อตามคนสร้างว่า”แม็กซิม ไซเลนเซอร์” ด้วยหลักการที่ไม่มากไปกว่าปลายท่อไอเสียเก็บเสียงของเครื่องยนต์สันดาปภายใน ในยุโรปสมัยเดียวกับเมื่อแม็กซิมยังมีชีวิตนั้นเรียกปลายท่อไอเสียแบบนี้ว่า”silencer”อยู่แล้วทั้งที่ไม่เกี่ยวกับปืนผาหน้าไม้ใดๆเลย และเพื่อไม่ให้มันไปซ้ำกับท่อไอเสียรถยนต์นี้เองกระบอกเก็บเสียงของปืนจึงถูกเรียกชื่อใหม่ว่า”suppressor” แต่พอนานไปก็เรียกปะปนกันไปหมดทั้ง”muffler,silencer,suppressor”ซึ่งมีความหมายเดียวกันในภาษาไทยว่า”กระบอกเก็บเสียง”
กระบอกเก็บเสียงคือท่อทรงกระบอกผิวเรียบสร้างจากเหล็กกล้าหรืออลูมินัม มีช่องว่างภายในและเชื่อมต่อกับลำกล้องปืนเล็กยาว,ปืนพก,ปืนกลมือ ถอดสับเปลี่ยนใช้กับปืนได้หลายกระบอกที่มีขนาดลำกล้องเท่ากัน(แต่ให้ประสิทธิภาพต่างกันตามความยาวลำกล้อง) อีกชนิดเป็นแบบเฉพาะที่ต่อปลายลำกล้องให้มีช่องว่างเพิ่มขึ้น ตัวลำกล้องถูกเจาะรูให้แก๊ซท้ายกระสุนไหลเข้าในช่องว่างนั้น เป็นส่วนของลำกล้องที่แยกกันไม่ออก หากจะทำความสะอาดกระบอกเก็บเสียงชนิดนี้ก็ต้องถอดชิ้นส่วนของปืน
ทั้งสองชนิดของกระบอกเก็บเสียงทำงานด้วยหลักการง่ายๆ คือยอมให้แก๊ซที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากท้ายกระสุนถูกกักอยู่ในกระบอกปลายลำกล้องและเย็นลง ผลคือแรงดันและความเร็วของกระสุนจะลดลงเช่นกันเมื่อพ้นปลายกระบอกเก็บเสียง โครงสร้างคือกระบอกเก็บเสียงจะถูกแบ่งเป็นช่องย่อยๆ4ถึง15ช่องให้กระสุนวิ่งผ่านตามยาว ช่องใหญ่ที่สุดคือช่องแรกติดปลายลำกล้องปืน ที่ให้ช่องใหญ่ที่สุดวางตัวใกล้ปากกระบอกก็เพื่อให้แก๊ซได้ขยายตัวในส่วนนี้มากที่สุด บริเวณนี้อาจขยายเนื้อที่หุ้มลำกล้องย้อนลงไปทางรังเพลิงก็ได้เพื่อให้ความยาวของปืนรวมกับตัวกระบอกไม่มากเกินไปจนเกะกะ
กระบอกเก็บเสียงถูกสร้างออกมาหลายรุ่นและแบบตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำกล้อง แบบใช้แล้วทิ้งที่ถูกคิดค้นขึ้นในทศวรรษ1980โดยกองทัพเรือสหรัฐฯสำหรับกระสุนปืนพกขนาด9ม.ม. ยาว150ม.ม.และเส้นผ่าศูนย์กลางด้านนอก45ม.ม. ยิงได้6นัดสำหรับกระสุนธรรมดาและ30นัดสำหรับกระสุนซับโซนิก(ความเร็วต่ำกว่าเสียง) ถ้ายิงมากกว่านี้แล้วคุณสมบัติด้านเก็บเสียงของมันจะด้อยลง ส่วนกระบอกเก็บเสียงของปืนเล็กยาวส่วนจะทำไว้สำหรับกระสุนขนาด.50 ความยาว509ม.ม.และเส้นผ่าศูนย์กลางด้านนอก76ม.ม. สำหรับหน่วยปฏิบัติการพิเศษเองที่ใช้อาวุธมาตรฐานยิงกระสุนขนาด5.56ม.ม. รวมทั้งหน่วยSWATที่ใช้ปืนกลมือส่วนใหญ่เป็นแบบMP5ของเฮคเลอร์อุนต์โค้ค(H&K : Heckler Und Koch)ขนาดกระสุน9ม.ม. ก็มีอุปกรณ์ดังกล่าวให้ปืนประเภทนี้ด้วย บริษัทSureFireที่ขึ้นชื่อด้านไฟฉายทางยุทธวิธีคือหนึ่งในผู้นำด้านกระบอกเก็บเสียงสำหรับปืนเล็กยาวมาตรฐาน
กระบอกเก็บเสียงทำงานด้วยหลักการดังกล่าวไปแล้ว คือกักแก๊ซไว้ในช่องที่ถูกแบ่งไว้เป็นช่วงๆตังแต่4ช่วงหรือมากกว่านั้นตามยาว ช่องว่างในช่วงต่างๆถูกกั้นไว้ด้วยผนังเป็นวงแหวนใหญ่กว่าหัวกระสุนประมาณ0.04ม.ม.พอให้มันพุ่งผ่านได้ ตามปกติวงแหวนแบ่งช่วง(baffle)ภายในจะเป็นโลหะชนิดเดียวกับตัวกระบอกเอง แต่ก็มีบางแบบจากผู้ผลิตเช่นVaimeที่สร้างวงแหวนด้วยพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นวัสดุชนิดใดวงแหวนนี้จะถูกคั่นไว้ด้วยแหวนกั้น(spacer)คั่นช่วงตั้งฉากกับตัวมันเพื่อแบ่งช่วงในกระบอกให้เท่ากัน
วงแหวนแบ่งช่วงในปัจจุบันนี้ถูกออกแบบให้แตกต่างกันไปตามความคิดของผู้ผลิต ที่พยายามคิดค้นรูปแบบที่จะเก็บเสียงได้เงียบที่สุด ใช้งานทนทานที่สุด ถ้าใครคิดว่ากระบอกเก็บเสียงจะมีอายุยืนคู่กับปืนนั่นคือความคิดที่ผิด เพราะอุปกรณ์ชนิดนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้ได้ระยะหนึ่งแล้วทิ้ง เนื่องจากความร้อนและแรงอัดระหว่างกระสุนพุ่งผ่านจะทำลายคุณสมบัติของวัสดุลงไปเรื่อยๆ ยิ่งถ้าใช้ยิงบ่อยๆหรือยิงเร็วๆเช่นกับปืนเล็กยาวจู่โจมอัตโนมัติคุณภาพของมันจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่พัฒนาไม่หยุดยั้งและรวดเร็ว กระบอกเก็บเสียงบางแบรนด์ก็ถูกสร้างให้มีอายุยืนยาวน่าทึ่ง ทนทานต่อกระสุนปืนเล็กยาวได้30,000นัดก่อนหมดสภาพ
นอกจากกระบอกเก็บเสียงแบบ”แห้ง”ยังมีแบบ”เปียก”ด้วย ซึ่งหลักการคือสร้างตัวกระบอกเก็บเสียงด้วยโลหะแล้วภายในแล้วใช้ของเหลวอย่างน้ำเปล่า น้ำมัน,จาระบีหรือเจลเป็นตัวดูดซึมแก๊ซ ยิงได้ไม่กี่นัดก็ต้องเติมของเหลวใหม่ซึ่งทำได้ทั้งการเอากระบอกเก็บเสียงจุ่มน้ำหรือถอดมาปัสสาวะผ่าน ด้วยคุณสมบัติของของเหลวอันทึบและหนาแน่นกว่าอากาศมากนี้เองที่ช่วยให้เก็บเสียงได้เงียบกว่าแบบแห้ง น้ำคือตัวเก็บเสียงดีที่สุดเพราะสามารถดูดซับความร้อนได้สูงแต่ข้อเสียคือระเหยได้เร็วมาก จาระบีนั้นแม้จะเปื้อนได้ง่ายกว่าและด้อยประสิทธิภาพกว่าน้ำเปล่า ก็ยังคงตัวอยู่ในกระบอกได้นานกว่าแบบแทบไม่ต้องดูแลกันเลย
น้ำมันคือตัวดูดซึมเสียงคุณภาพต่ำที่สุดและไม่นิยมใช้บรรจุในกระบอก นอกจากจะเปื้อนมือไม้ได้ง่ายเหมือนจาระบีแล้วยังฟุ้งกระจายเป็นฝอยเข้าหูเข้าตาได้ง่ายกว่า ทิ้งหลักฐานไว้เพียบหลังยิงไปแต่ละนัด ระหว่างจาระบีกับน้ำมันคือเจลน้ำ(ประมาณเค-วายเจลลี่ที่พบตามร้านขายยาทั่วไป) ที่ให้สมรรถนะในการเก็บเสียงอยู่ตรงกลาง มันเก็บเสียงได้ดีเท่าจาระบีแต่ไม่ฟุ้งกระจายเหมือนน้ำมัน ข้อเสียคือบรรจุลงกระบอกยากต้องใช้เวลานานและต้องระวังเสมอไม่ให้ไหลย้อนเข้าลำกล้องปืนเพราะเหลวกว่าจาระบี
ตามปกติแล้วปืนพกเท่านั้นที่ใช้กระบอกเก็บเสียงแบบเปียก มันเหมาะเพราะแรงดันกระสุนและความร้อนไม่มากเท่าปืนเล็กยาว ด้วยคุณสมบัติที่ดีของของเหลวในการเก็บเสียงจึงทนกระสุนได้มากนัดกว่า ในขณะที่ไม่เหมาะกับปืนเล็กยาวเพราะด้วยแรงดันมหาศาลและความร้อน ของเหลวจะระเหยหรือเสื่อมสภาพได้ง่ายและเร็วหลังจากยิงไป2-3นัดเท่านั้น
กระบอกเก็บเสียงถูกพัฒนาไปไกลขึ้นในปัจจุบัน นอกจากการชลอการปล่อยความดันหรือลดความดันจากปากกระบอกแล้ว หลักการที่ถูกนำมาใช้คือการเปลี่ยนแปลงคลื่นเสียงอันเกิดขึ้นปลายลำกล้อง หลักการเปลี่ยนแปลงความถี่(phase cancellation)ช่วยให้กระบอกทำงานได้เงียบเชียบกว่าเดิม ด้วยการแยกช่องทางไหลเวียนของแก๊ซแล้วบังคับทิศทางให้มันปะทะกันเอง ผลคือได้เสียงในระดับอัลตราซาวนด์(ความถี่มากกว่า20กิโลเฮิร์ทส์)ที่หูมนุษย์ไม่ได้ยิน การเปลี่ยนแปลงความถี่เกิดขึ้นเมื่อคลื่นเสียงปริมาณเท่ากันมาปะทะกันเองด้วยมุม180องศา คลื่นเสียงที่ปะทะกันเองจะลดความกว้างของคลื่นรวมทั้งกำจัดความดันอันเกิดจากเสียงนั้นด้วย
ไม่ว่ากระบอกเก็บเสียงจะใช้หลักการอย่างใดในการสร้าง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือแรงดันปากลำกล้องที่ความเร็วของคลื่นเสียงคือตัวแปรสำคัญ แรงดันนี้เปลี่ยนแปลงได้แตกต่างกันมากตามชนิดของกระสุนและความยาวของลำกล้อง จะให้เก็บเสียงได้เงียบที่สุดตัวกระบอกต้องออกแบบให้เข้ากับทั้งตัวกระสุนและลำกล้องปืน ใช่ว่ากระบอกเดียวจะใช้ได้ทั้งกับปืนพกและปืนเล็กยาวโดยไม่เลือกขนาดกระสุน
ประสิทธิภาพของกระบอกเก็บเสียงถูกเน้นให้ดีเกินจริงในภาพยนตร์หลายๆเรื่อง ตัวละครใช้ปืนเก็บเสียงยิงดังแค่”ฟึ้บๆๆ”และเบาแทบไม่ได้ยิน แต่ในความเป็นจริงจากการทดสอบวัดระดับความดังเป็นเดซิเบล พบว่ามันไม่ได้เงียบอย่างที่เข้าใจ กระบอกส่วนใหญ่ลดเสียงได้ไม่มาก เหลือแค่130ถึง145เดซิเบลเท่านั้นโดยเฉลี่ยซึ่งยังดังกว่าเสียงไซเรนรถพยาบาลหรือเสียงจากร็อคคอนเสิร์ตซึ่งดังอยู่ระหว่าง100-140เดซิเบล ต้องใช้ในสภาพที่เป็นใจด้วยจึงจะกลบเกลื่อนได้สนิทเช่นย่านที่มีเสียงดังอยู่แล้ว ต้องมีระยะยิงไกลพอสมควรที่จะไม่เปิดเผยที่ตั้งและอื่นๆอันต้องเกิดจากการฝึกฝนเพื่อใช้ปืนติดอุปกรณ์นี้โดยเฉพาะ
แม้กระบอกเก็บเสียงจะดูเหมือนสร้างกันง่ายๆ แต่การจะสร้างให้ทนและปลอดภัยกับผู้ใช้งานนั้นไม่ง่ายเลย ต้องใช้โลหะทนทั้งความร้อนและความดันมหาศาล จะทำเองด้วยการใช้ขวดโค้กพลาสติกติดปากลำกล้องแล้วยิงด้วยกระสุนมาตรฐานเหมือนในภาพยนตร์ยิ่งเป็นไปไม่ได้ แรงดันปากลำกล้องจะระเบิดขวดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยในพริบตาและไม่ได้เก็บเสียงเลยแม้แต่น้อย
ยุทธภัณฑ์ชนิดนี้คือเทคโนโลยีที่มีต้นกำเนิดจากกิจการกรรมของพลเรือนแท้ๆ ที่ต้องการลดเสียงดังหนวกหูของเครื่องยนต์ให้ค่อยลงในระดับที่พอ(ทน)ฟังได้ กระนั้นพลเรือนอย่างคุณหรือใครๆก็ไม่สามารถครอบครองได้เพราะผิดกฎหมาย และไม่ควรทำเล่นเองที่บ้านเด็ดขาด