วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2552

ใช้หุ่นยนต์รบ ปลอดภัยกว่า


ท่ามกลางความขัดแย้งในหมู่มนุษยชาติที่เกิดมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะใช้ยุทโธปกรณ์และยุทธวิธีอย่างไร จุดมุ่งหมายหลักของผู้เข้าสู้รบคือทำลายคู่ต่อสู้ให้ได้ในขณะที่ตัวเองยังคงความอยู่รอด ในยุคหินเราใช้หนังสัตว์หนาๆป้องกันตัว พอมาถึงยุคเหล็กเราสร้างเกราะและโล่เพื่อป้องกันคมหอกดาบ และยังใช้เกราะป้องกันตัวจนถึงปัจจุบันเพียงแต่เปลี่ยนจากเหล็กหนักอึ้ง มาเป็นแผ่นเคฟลาร์บางเบาและเซรามิกเพื่อป้องกันกระสุนปืนเล็กและสะเก็ดระเบิด เทคโนโลยีสงครามที่พัฒนาไปพร้อมวิทยาการสาขาอื่นทำให้เรารบกันด้วยอาวุธร้ายแรง จากระยะไกลและซับซ้อนกว่าเดิม เมื่อมนุษย์อยู่ห่างกันมากกว่าเดิมเพราะอานุภาพของอาวุธมาเป็นอุปสรรค การทำลายล้างและดำเนินกิจกรรมเสี่ยงต่างๆจึงต้องใช้เครื่องมือที่สั่งได้ รู้จักกันทั่วไปในนาม”หุ่นยนต์”(robot)
แนวคิดเรื่องใช้หุ่นยนต์ทำสงครามที่เคยเป็นแต่นิยายในอดีตไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และระบบบอกตำแหน่งภูมิศาสตร์พัฒนามาถึงขั้นไว้ใจได้ โดยเฉพาะกิจการทางทหารซึ่งแยกไม่ออกจากอุปกรณ์ทั้งสองชนิดดังกล่าว แต่ก่อนจะมาเป็นหุ่นยนต์ที่ทหารโปรแกรมคำสั่งได้นี้เรื่องราวของมันได้เริ่มขึ้นมานานแล้วเมื่อ60กว่าปีก่อน เมื่อเยอรมันกำลังเพลี่ยงพล้ำในแนวรบทุกด้านตอนปลายสงครามโลกครั้งที่2 “โกไลแอธ”(Goliath)คือหุ่นยนต์ทหารรุ่นบุกเบิกจากมันสมองของนักวิทยาศาสตร์นาซี ด้วยรูปลักษณ์แตกต่างจากหุ่นยนต์ในนิยายวิทยาศาสตร์ชิ้นเชิง มันเป็นระเบิดติดสายพานต่อสายเคเบิลไปยังทหารหลังบังเกอร์ ซึ่งจะคอยบังคับทิศทางให้”ระเบิดคลาน”เคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายแล้วค่อยกดระเบิดทำลายเมื่อถึง
แต่โกไลแอธไม่เวิร์คเพราะแทรกแซงการควบคุมได้ง่าย เพียงยิงให้ระเบิดก่อนถึงเป้าหรือส่งใครสักคนคลานไปตัดสายเคเบิลบังคับ เจ้าระเบิดคลานก็กลายเป็นระเบิดง่อยไปทันที เยอรมันใช้โกไลแอธรบช่วงปลายสงครามได้ผลแบบลุ่มๆดอนๆ ทั้งตอนปราบปรามชาวยิวลุกฮือในกรุงวอร์ซอว์และขัดขวางการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ผลงานของมันไม่เข้าตากรรมการเพราะถูกทำลายก่อนถึงเป้าหมายเกือบหมด แต่นั่นไม่ใช่ข้อจำกัดที่ทำให้กองทัพยุคต่อมาเลิกคิดถึงหุ่นยนต์รบ
โลกในยุคเสี่ยงต่อการทำสงครามยุคนิวเคลียร์-เคมี-ชีวภาพทำให้มนุษย์คิดถึงการส่ง”ตัวแทน”เข้าสู่สมรภูมิมากยิ่งขึ้น คุณสมบัติคือต้องรบได้ในสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อานุภาพร้ายแรง นำทางตัวเองเข้าหาเป้าหมายและกลับมายังที่ตั้งได้ เมื่อเป็นหุ่นยนต์รบก็ต้องรบและสอดแนมได้ตามคำสั่ง ขัดกันสิ้นเชิงกับแนวความคิดหุ่นยนต์เพื่อรับใช้มนุษย์ของไอแซค อาซิมอฟที่วางกฎเกณฑ์ไว้ว่า 1.ต้องไม่ทำร้ายมนุษย์ 2.ต้องเชื่อฟังคำสั่งเว้นแต่คำสั่งนั้นจะขัดกับกฎข้อแรก และ3.หุ่นยนต์ปกป้องตนเองได้ตราบใดที่การกระทำนั้นไม่ขัดต่อกฎข้อที่1และ2 เพราะนอกจากจะช่วยเหลือมนุษย์ทั้งด้านการหาข่าวและกู้ภัย เมื่อหุ่นยนต์รบต้องทำลายเป้าหมายทั้งที่เป็นสิ่งปลูกสร้างหรือมนุษย์ได้ด้วยเมื่อจำเป็น การใช้งานในปัจจุบันจึงเน้นที่การหาข่าวและทำลายเป็นหลัก
ปัจจุบันกองทัพทั่วโลกใช้หุ่นยนต์มากมายหลายรูปแบบ เพื่อทำหน้าที่แทนทหารในภารกิจที่สิ้นเปลือง น่าเบื่อหน่ายและต้องติดตามเฝ้าดูใกล้ชิดตลอดเวลา หุ่นยนต์รบที่เป็นข่าวบ่อยที่สุดคือหุ่นยนต์ติดปีกในรูปUAV(Unmanned Aerial Vehicle อากาศยานไร้นักบิน) โดยเฉพาะ”พรีเดเตอร์”(Predator drone)เป็นUAVขนาดใหญ่พอๆกับเครื่องบินขับไล่ ทำได้ทั้งสอดแนมหาข่าวและทำลายเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อย สมาชิกชั้นนำของอัล-ไคดาในอาฟกานิสถานหลายคนสิ้นชื่อไปแล้วจากจรวดเฮลไฟร์จากใต้ปีกของมัน ด้วยขีดความสามารถคือบินได้สูงเกินสายตาเห็น ติดกล้องกำลังขยายสูงเห็นภาพเป้าหมายภาคพื้นดินได้ชัด บินได้นานเป็นวันๆโดยไม่เหนื่อยในขณะที่เครื่องบินใช้นักบินใช้เวลาน้อยกว่าแต่เผาผลาญเชื้อเพลิงมหาศาล ติดอาวุธทำลายได้เหมือนเครื่องบินจริงทุกอย่าง ต่างกันตรงที่นักบินไม่ต้องเสี่ยงชีวิตและผลัดเปลี่ยนกันมาบินได้ตลอดเวลาโดยล้อเครื่องไม่แตะพื้น ขณะพรีเดเตอร์กำลังบินค้นหาเป้าหมายในอิรักและอาฟกานิสถาน นักบินของมันกลับนั่งดูจอภาพโยกคันบังคับอยู่ในหน่วยบัญชาการกลาง(Central Command)ที่เมืองแทมปา รัฐฟลอริดา
นอกจากUAVขนาดมาตรฐานอย่างพรีเดเตอร์เพื่อภารกิจทางยุทธศาสตร์ กองทัพสหรัฐยังใช้UAVขนาดเล็ก(Small UAV : SUAV)เช่น”เรฟเวน”(Raven)ด้วยในภารกิจทางยุทธวิธีเช่นการสำรวจเส้นทางก่อนเคลื่อนขบวนยานยนต์ พิสูจน์ทราบพฤติกรรมอันไม่น่าไว้วางใจเช่นการวางระเบิดหรือวางกำลังซุ่มโจมตี
นอกจากหุ่นยนต์บินอย่างUAV หุ่นยนต์คลานรูปร่างคล้ายโกไลแอธของนาซีเยอรมันก็ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานทางบก ปฏิบัติการกิจได้ทั้งพิสูจน์ทราบวัตถุระเบิดและทำลายเป้าหมาย “เทลอน”(Talon)คือหุ่นยนต์ทหารราบจากบริษัทฟอสเตอร์-มิลเลอร์ของสหรัฐ ถูกสร้างมาเพื่อภารกิจสอดแนมไปจนถึงทำลายเป้าหมาย มันเหมือนรถถังย่อส่วนมากกว่าหุ่นยนต์รบในจินตนาการ ด้วยสายพานที่ช่วยให้ตะลุยได้ทุกพื้นที่ ไม่เคยเกี่ยงไม่ว่าภูมิประเทศจะเป็นดิน ทราย โคลน หรือหิมะ(ลึกสุด100ฟุต) ให้ไต่บันไดด้วยก็ยังได้
ด้วยกล้องติดตัวและขนาดไม่ใหญ่เทอะทะ มันสามารถสอดแนมได้ในที่จำกัด ส่งภาพชัดเจนมายังผู้ควบคุมที่อยู่ห่างออกไปได้ไกลสุดถึง1ก.ม. ทั้งภาพขาวดำ อินฟราเรด ภาพจากรังสีความร้อน(เทอร์มอล)และภาพกลางคืน(night vision)ที่ตาเปล่ามองไม่เห็นหากไม่ใช้ไฟส่อง ทำงานด้วยแบตเตอรี่ลิเธียม-อิออนจึงเงียบจนไม่เป็นที่สงสัยและอยู่ในพื้นที่ได้นานถึง7ชั่วโมงก่อนจะรีชาร์จ เจ้าเทลอนนี่แหละที่เข้าไปเก็บกู้ซากและค้นหาผู้รอดชีวิตหลังเหตุการณ์อาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์ถล่มเมื่อ11กันยายน 2001 ที่ตรงนั้นมันทำงานต่อเนื่อง45วันโดยไม่หยุดและระบบอีเลคทรอนิคไม่ขัดข้องแม้แต่ครั้งเดียว
เทลอนมีน้ำหนักไม่ถึง45ก.ก.ด้วยซ้ำ ประมาณ27ก.ก.ในแบบลาดตระเวนสอดแนมและมากขึ้นอีกเล็กน้อยถ้าติดอาวุธเข้าไปด้วยเพื่อภารกิจลาดตระเวนรบ มันแตกรุ่นไปมากมายโดยยังใช้ช่วงล่างเดิม จากรุ่นปกติ(IED/EOD)เพื่อใช้ค้นหาและกู้ระเบิดแสวงเครื่อง ติดตั้งเครื่องตรวจจับและทำลายวัตถุระเบิด แตกออกไปเป็นรุ่นปฏิบัติการพิเศษ(Special Operation : SOTAL) ไม่มีแขนกลเพื่อจัดการกับวัตถุแต่ติดตั้งกล้องวิดีโอภาพสีใช้งานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน/ในที่มืด มีไมโครโฟนความไวสูงเพื่อดักฟัง น้ำหนักค่อนข้างเบาเพราะไม่ติดปืนกลแต่ใช้เพียงเพื่อลาดตระเวนหาข่าว
สำหรับเหล่าราบ เทลอนรุ่น”ซอร์ด”(SWORD)คือตัวแทนของหุ่นยนต์ทหารราบในอนาคต เป็นรุ่นติดอาวุธเพื่อเข้าสู้รบของเทลอนที่บริษัทฟอสเตอร์-มิลเลอร์ผลิตเพื่อกองทัพบกโดยเฉพาะ ด้วยช่วงล่างมาตรฐานของเทลอนเป็นหลักมันถูกใช้ติดตั้งอาวุธร้ายแรงได้หลากหลาย เช่นปืนเล็กยาวตระกูลM16,ปืนกลประจำหมู่M249,M240ไปจนถึงปืนกลหนักยอดนิยมขนาดคาลิเบอร์.50 ติดปืนซุ่มยิงขนาดหนักM82 Barrettก็ได้เพื่อภารกิจซุ่มยิงทำลายยานเกราะเบา,ยุทโธปกรณ์และสังหารบุคคล ในรุ่นใช้ทำลายเป้าหมายขนาดใหญ่หรืออยู่ในที่มั่นดัดแปลง “ซอร์ด”จะถูกติดตั้งด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด6ลำกล้อง หรือเครื่องยิงจรวดระเบิดเพลิง4ลำกล้องM202A1”FLASH”
ถึงจะไม่ได้ทำงานเป็นอิสระ คิดเองไม่ได้แต่ก็ให้ความมั่นใจได้มากต่อผู้บังคับเครื่องซึ่งจะสั่งให้เคลื่อนที่และทำลายเป้าหมายได้จากระยะไกล เมื่อควบคุมด้วยคันโยกแบบเดียวกับเครื่องเล่นเกม”เกมบอย”(Game Boy)ประกอบแว่นแสดงผลเสมือนจริง หุ่นยนต์”ซอร์ด”จำนวน3ตัวเข้าประจำการในอิรักปีที่แล้ว แต่ละตัวติดปืนกลM249เป็นอาวุธมาตรฐาน ยังควบคุมระยะไกลด้วยทหารผ่านทางกล้องและเครื่องส่งสัญญาณติดตัวหุ่นยนต์ มันสร้างประวัตศาสตร์ด้วยการเป็นหุ่นยนต์แบบแรกที่ถืออาวุธเข้าสนามรบ แต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบที่กองทัพบกสหรัฐไม่ให้ทุนสนับสนุนโครงการ”ซอร์ด”ต่อหลังจากการประจำการของมันทั้ง3เครื่อง ทำให้ฟอสเตอร์-มิลเลอร์ต้องหันไปพัฒนาระบบหุ่นยนต์รุ่นต่อมาคือ Modular Advanced Armed Robotic System : MAARSแทน ซึ่งกำลังจะเผยโฉมในอนาคตอันใกล้เพื่อนำไปสู่การใช้หุ่นยนต์ต่อสู้เป็นอิสระเต็มรูปแบบ
เท่าที่ยกตัวอย่างมาทั้งระบบUAVเช่นพรีเดเตอร์ และหุ่นยนต์รบคือเทลอน คือสิ่งที่แสดงให้เห็นแนวโน้มการทำสงครามในอนาคตโดยเฉพาะสงครามในเมือง ซึ่งทหารต้องพร้อมรับสถานการณ์ทั้ง360องศารอบตัว ภัยคุกคามไม่จำกัดทิศทางทำให้ต้องพึ่งพาเครื่องทุ่นแรงมากขึ้น แม้ในปัจจุบันหุ่นยนต์เหล่านี้ยังใช้มนุษย์ควบคุมจากระยะไกลแต่มันก็ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ใช้ซอฟต์แวร์ซับซ้อนที่แยกออกว่าเป้าหมายใดคือมนุษย์หรือสิ่งปลูกสร้าง ในอนาคตอันใกล้เราอาจได้เห็นหุ่นยนต์รบที่เลือกยิงเป้าหมายถือปืนศัตรูเช่นAK47(อาก้า)หรือปืนแบบอื่นตามที่ถูกโปรแกรมไว้
ด้วยพัฒนาการอันรวดเร็วของหุ่นยนต์ตามเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ เราได้เห็นหุ่นยนต์”อาซิโมะ”(Azimo)จากบริษัทฮอนด้าที่เดิน2ขาเหมือนคน มันเตะฟุตบอล ขึ้น/ลงบันไดและหยิบของได้เหมือนคน คงไม่ยากถ้าต่อไปจะสร้างโปรแกรมให้มันคิดเองได้ และส่งเข้าสู่สนามรบพร้อมอาวุธร้ายแรงด้วยความมั่นใจว่าจะไม่สังหารฝ่ายเดียวกัน มันจะไม่หลงทาง ไม่ต้องพักผ่อน เมื่อเสียก็ซ่อมแซมตัวเองได้ ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่โต้แย้ง ไม่ต้องเสียเวลาฝึกเพราะซอฟต์แวร์กำหนดหน้าที่และการปฏิบัติต่างๆไว้พร้อมแล้วในตัว
ไม่ว่าหุ่นยนต์จะแพงแค่ไหนแต่ยังคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตมนุษย์ เมื่อพังเสียหายก็ไม่มีใครเสียใจเพียงแต่หามาเปลี่ยนใหม่หรือซ่อม ต่างกับคนซึ่งต้องรับผิดชอบคนในครอบครัว เมื่อตายหรือพิการก็จะทำให้คนที่เหลือพลอยเดือดร้อนเพราะขาดกำลังสำคัญของหัวหน้าครอบครัว นับว่าน่ายินดีในระดับหนึ่งที่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของตำรวจและทหารไทยได้พยายามนำหุ่นยนต์มาใช้ ทั้งที่นำเข้าและพัฒนาในประเทศโดยร่วมมือกับสถานศึกษาและบริษัทเอกชน ทำให้หุ่นยนต์ที่สร้างเองราคาต่ำกว่านำเข้าและรัฐควรสนับสนุน ถึงปัจจุบันจะเคลื่อนที่ด้วยสายพานมีแค่ปืนยิงน้ำทำลายวัตถุระเบิด และควบคุมจากระยะตาเห็นเพียง100กว่าเมตร แต่ในอนาคตเราคงได้เห็น”หุ่นยนต์ไทยทำ”ติดกล้องวิดีโอและควบคุมจากระยะไกลขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องไปไกลขนาดให้รบแทนทหารเต็มรูปแบบเหมือนของสหรัฐฯ เอาแค่รักษาชีวิตเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเสี่ยงไว้ได้ก็ดีเหลือเกินแล้ว
จากพัฒนาการอันรวดเร็วของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ทำให้มันถูกใช้งานแทนมนุษย์อย่างแพร่หลายทั้งในอุตสาหกรรม อวกาศ และในสนามรบ ถือว่าเป็นนวัตกรรมสงครามอีกชนิดที่เกิดขึ้นเพื่อสงวนชีวิตมนุษย์ซึ่งจะถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วในอนาคต

มาคารอฟ อาวุธอนุสรณ์สงครามเย็น


ไม่มีครั้งใดในโลกที่การช่วงชิงอำนาจเป็นไปอย่างดุเดือดแบ่งฝ่ายกันชัดเจนเท่าสงครามเย็น ตั้งแต่หลังสงครามโลกในทศวรรษที่1950จนถึงช่วงโซเวียตล่มสลายต้นทศวรรษ1990 ระหว่างนี้มีเรื่องให้จดจำมากมาย มีสิ่งของหลายสิ่งที่เตือนให้นึกถึง”สงครามเย็น”หลังมันจบสิ้นลง หนึ่งในนั้นคือยุทธภัณฑ์แบบหนึ่งที่เคยเป็นปืนพกมาตรฐานของกองทัพโซเวียต มาคารอฟ หรือปิสโตล มาคาโรวาในภาษารัสเซียนตามชื่อผู้ออกแบบคือนิโคไล ฟีโอโดโรวิช มาคารอฟ ตามธรรมเนียมของรัสเซียที่มักตั้งชื่ออาวุธเป็นเกียรติแก่ผู้คิดค้นออกแบบ
ถึงจะเป็นปืนยอดนิยมพอๆกับโคลต์M1911ขนาด11ม.ม.ของสหรัฐและวัลเธอร์ พีพีเคของเยอรมัน แต่มันมาทีหลังสองกระบอกดังกล่าว เป็นผลจากการชนะการออกแบบเพื่อทดแทนปืนพกกึ่งอัตโนมัติเดิมคือโทคาเรฟ TT-33ใช้กระสุนเส้นผ่าศูนย์กลาง7.62X25ม.ม.โทคาเรฟ(หน้าตัดเท่ากระสุนอาก้าแต่สั้นกว่า) นิโคไล มาคารอฟตัดสินใจเปลี่ยนหน้าตัดกระสุนให้เท่าเทียมค่ายตะวันตกช่วงนั้นที่ใช้กระสุน9ม.ม. กระสุนใหม่ของมาคารอฟจึงเป็น9X18มม.มาคารอฟ สำหรับปืนพกรุ่นนี้เท่านั้น
เพื่อให้ง่ายต่อการใช้และบำรุงรักษาจึงออกแบบให้ยิงด้วยระบบโบลว์แบ็ค มีชิ้นส่วนเคลื่อนที่น้อย ถึงจะประกาศว่าใช้กระสุน9ม.ม.แต่พอวัดจริงๆแล้วกลับใหญ่ถึง9.25ม.ม. จึงไม่สามารถยัดลงรังเพลิงของปืนพก9ม.ม.พาราเบลลัมของค่ายตะวันตกได้ และ9ม.ม.พาราฯยังยาวกว่า9มาคารอฟถึง1ม.ม. เผื่อไว้ว่าหากทหารโซเวียตมีอันต้องปะทะกับนาโต ทหารฝ่ายนาโตจะได้ไม่เอาลูกกระสุนไปใช้หากทหารฝ่ายตนเสียชีวิตหรือคลังกระสุนถูกยึด แต่ในรุ่นหลังๆได้ออกแบบให้ใช้กระสุน9ม.ม.พาราฯแบบเดียวของนาโต(คงจะเพิ่งรู้ว่าตัวเองก็มีสิทธิ์ยึดคลังกระสุนของนาโตได้เหมือนกัน!)
จุดเด่นที่ทำให้มาคารอฟถูกเลือกเข้าประจำการในปี1951ก็เช่นเดียวกับอาวุธทั่วไปของค่ายนี้ มันประกอบด้วยชิ้นส่วนน้อยชิ้น ราคาถูก ผลิตได้ทีละมากๆตามหลักนิยมของโซเวียตตั้งแต่ยุคสตาลิน ที่ยึดมั่นกับหลักการ”ปริมาณคือคุณภาพในตัวเอง” เห็นได้จากสุดยอดรถถังT-34สมัยสงครามโลกครั้งที่2และปืนอาก้า(AK-47)หลังจากนั้น แต่จุดเด่นของมาคารอฟมีมากกว่าแค่ราคาถูกและผลิตได้ปริมาณมาก อานุภาพในการหยุดยั้งเป้าหมายของมันยังสมเหตุสมผลอีกด้วย นับว่าใช่เลยสำหรับปืนพกมิติขนาดนี้ ด้วยขนาดที่เล็กพอพกซุกซ่อนได้แต่กระสุนหน้าตัด9ม.ม.เท่ากับวัลเธอร์P-38และบราวนิ่ง มันจึงติดทำเนียบปืนพกของสายลับได้ไม่ยาก ขึ้นชั้นเดียวกับวัลเธอร์-พีพีเคของเยอรมัน(อดีตอาวุธคู่กาย007ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้P99ของวัลเธอร์เช่นกัน)
ดังที่แจงไว้ว่ามาคารอฟทำงานด้วยระบบโบลว์แบ็ค แต่โบลว์แบ็คของมันไม่ซับซ้อนเลยด้วยเข็มแทงชนวนลอยตัว ไม่มีสปริงหรือบล็อกเข็มแทงชนวนเหมือนปืนค่ายตะวันตก ข้อเสียคือเมื่อไม่มีสปริงแล้วตกพื้นแรงไปนิดอาจลั่นได้ ตรงนี้มาคารอฟให้เหตุผลว่าลั่นได้ก็ลั่นไปอยากให้ผลิตง่ายและมากเข้าไว้ก่อน ทหารเองอย่าทำตกพื้นเสียก็สิ้นเรื่อง แต่มาคารอฟเวอร์ชั่นผลิตในบัลกาเรียกลับไม่เป็นเช่นนั้นเพราะต้องส่งไปขายในสหรัฐ(หลังสงครามเย็นจบและโซเวียตล่มสลาย) กฎหมายของบางรัฐโดยเฉพาะแคลิฟอร์เนียระบุไว้ว่าปืนพกต้องผ่านการทดสอบร่วงหล่นด้วยเพื่อความปลอดภัย หมายความว่าปืนต้องหล่นแล้วไม่ลั่นจึงยอมให้นำเข้าได้
ดูจากไกปืนก็น่าจะทราบโดยสังเขปว่ายิงได้สองระบบคือซิงเกิลแอคชั่น(SA : ดึงสไลด์ขึ้นลำแล้วเหนี่ยวไก คัดปลอกแล้วสไลด์ง้างนกให้เองพร้อมวิ่งกลับดันกระสุนเข้ารังเพลิงพร้อมยิงนัดต่อไป)กับดับเบิลแอคชั่น(DA : ดึงสไลด์ขึ้นลำแล้วลดนกเข้าเซฟ ก่อนยิงปลดเซฟแล้วเหนี่ยวไกง้างนก แล้วยิงนัดต่อไปแบบSA ) ในระบบSAนั้นปืนรุ่นนี้ตั้งไกไว้ค่อนข้างตื้น หลังปลดเซฟแล้วจึงยิงได้เร็วเท่าความคิดแล้วคัดปลอกทิ้งทางขวาของสไลด์ ทั้งที่ใช้กระสุน9ม.ม.คล้ายปืนดังๆของค่ายตะวันตกอย่างเบเรตตาและบราวนิ่งซึ่งยัดลูกลงแมกาซีนได้ทีละ10กว่านัด แต่มาคารอฟกลับไม่ลูกดก แม็กของมันจุลูกได้แค่8นัดแถวเดียวเท่านั้น เพื่อไม่ให้ด้ามปืนโป่งเกินไปจนยากแก่การพกซุกซ่อน จุดเด่นอีกประการคือลำกล้องของมันติดตายกับโครงปืน ไม่ลอยเป็นอิสระและถอดออกไม่ได้ต่างจากปืนพกกึ่งอัตโนมัติร่วมสมัยจากค่ายตะวันตก เพื่อให้ง่ายต่อการผลิต เมื่อจะเปลี่ยนลำกล้องก็ไม่ต้องเสียดายเปลี่ยนทั้งกระบอกไปเลยเพราะราคาถูกอยู่แล้ว ยิ่งเรื่องความแม่นยำยิ่งไม่ต้องพูดถึง จะเอามาดัดแปลงติดศูนย์เล็งจุดแดงหรือเรืองแสงยังไงก็คงช่วยเรื่องกลุ่มกระสุนไม่ได้ ในเมื่อมันถูกออกแบบเป็นปืนทหารและเพื่อราชการลับจริงๆ เพื่อยิงต่อสู้ระยะประชิดทั้งในอาคาร หรือในที่แจ้งเมื่อกระสุนอาวุธประจำกาย(ปืนเล็กยาว)หมด
เมื่อพูดถึงขนาดที่กล่าวว่าเป็นหนึ่งในปืนพกซุกซ่อน มาคารอฟเป็นปืนพกขนาดกลาง ใหญ่กว่า.22 เล็กกว่า9ม.ม.ลูกและ11ม.ม. ด้ามแบนกว่าเพราะจุกระสุนแถวเดียวทำให้ใส่ซองแนบลำตัว สะพายไหล่หรือใส่ซองเหน็บหลังก็ได้ เหมาะสำหรับหน่วยสืบราชการลับในค่ายโซเวียตและบริวาร มองผ่านๆคล้ายวัลเธอร์พีพีเคของเยอรมัน ด้วยการออกแบบให้โครงปืนและลำกล้องติดตายเป็นชิ้นเดียวกัน ลำกล้องมาคารอฟจึงไม่เคลื่อนไหวเหมือนปืนพกอัตโนมัติร่วมสมัยอย่างโคลต์11ม.ม.หรือซิกซาวเออร์9ม.ม. เวลาทำความสะอาดก็ถอดเพียงสไลด์และส่วนประกอบอื่นไม่กี่ชิ้น
หลังจากชนะการประกวดแบบและราคา ได้เข้าประจำการเมื่อปี1951 มันก็ได้รับความไว้วางใจจากกองทัพโซเวียตและบริวารตลอดมา ด้วยเหตุที่ผลิตได้ถูกต้องตามหลักนิยมของโซเวียตคือชิ้นส่วนน้อยและปั๊มปืนออกมาได้มากแต่ละเดือน พอที่จะส่งไปใช้ในส่วนต่างๆของโซเวียตและประเทศอื่นๆที่สนับสนุนอยู่ จากอานุภาพกระสุน9ม.ม.อันหนักหน่วงเกินตัวและมิติอันเหมาะแก่การพกพา มาคารอฟจึงเป็นที่นิยมมากทั้งในโซเวียตและโลกตะวันตก จีนก็ได้ลิขสิทธิ์ไปผลิต แม้แต่ตำรวจของสาธารณรัฐเชค บัลกาเรีย โรเมเนียและเยอรมันตะวันออกก่อนรวมประเทศก็ใช้มันจนถึงปี1991จึงปลดประจำการ หลีกทางให้ปืนยารีกิน พียา(Yarygin PYa MP443 Grach)ที่ใช้กระสุน9ม.ม.พาราฯแบบเดียวกับนาโตได้มากกว่าคือ10ถึง18นัดเข้ามาแทน
นักสะสมท่านใดก็ตามที่เพิ่งมีมาคารอฟ ข้อควรระวังของปืนแบบนี้คือเรื่องกระสุน ถึงในรุ่นหลังๆนี้จะใช้กระสุน9ม.ม.พาราฯเหมือนชาวบ้านแล้วก็ตาม แต่ในรุ่นแรกๆยังใช้9ม.ม.เฉพาะมาคารอฟอยู่ จึงอาจทำให้สับสนได้ระหว่าง9X18ม.ม.มาคารอฟกับ.380ACP(Automatic Colt Pistol) หรือที่รู้กันว่าเป็น9X17ม.ม.บราวนิ่งสั้น,9ม.ม.สั้นหรือ9ม.ม.”คูร์ส”(Kurz ภาษาเยอรมันแปลว่า”สั้น”) แม้แต่9X19ม.ม.พาราฯที่ยาวกว่า1ม.ม.ก็ใช้กับมาคารอฟไม่ได้ แล้ว9X18ม.ม.โพลิศหรืออีกชื่อหนึ่งว่า9X18อัลตราที่ดูแต่ตัวหนังสือเหมือนจะเท่ากันทุกอย่างล่ะจะใช้ได้ไหม? ไม่ได้อีกเพราะกระสุน9ม.ม.”เฉพาะ”มาคารอฟ”นั้นเอาเข้าจริงๆก็วัดได้9.25ม.ม.ใหญ่กว่า9ม.ม.ทั่วไปเพียงแต่ไม่บอกว่าใหญ่กว่าเท่านั้น เหตุผลนี้น่าจะเป็นเพื่อหวังประโยชน์ยามสงครามมากกว่าอย่างอื่น
สำหรับปืนมาคารอฟแท้ๆจากโรงงาน กระสุนจึงต้องเป็น9X18ม.ม.มาคารอฟเท่านั้น ถึงปัจจุบันจะมีลำกล้องเปลี่ยนได้เพื่อให้รองรับทั้ง.380ACP
มาคารอฟแตกรุ่นออกไปอีกมากตามประเทศผู้ผลิตซึ่งเป็นและเคยเป็นบริวารของโซเวียต ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปตะวันออกสมัยสงครามเย็น ที่เด่นๆคือเยอรมนีตะวันออก,บัลกาเรีย,จีนและเยอรมนีหลังรวมชาติ โดยเฉพาะหลังเยอรมันรวมชาติได้มีมาคารอฟเดนสงครามเย็นทะลักออกสู่โลกภายนอกจำนวนมาก รุ่นที่รู้จักมากที่สุดในปัจจุบันและยังใช้งานอยู่บางประเทศแถบยุโรปตะวันออก คือมาคารอฟPMMที่ถูกปรับแบบใหม่ในปี1990 ให้ใช้กระสุนแรงขับดินปืนสูงกว่าเดิม เพิ่มความเร็วต้นกว่าเดิม25เปอร์เซ็นต์และใช้แมกาซีนจุ12นัด ใช้กระสุนของมาคารอฟเดิมได้ทั้งยังดัดแปลงเพิ่มอีกเล็กน้อยเช่นด้ามปืนบานออกให้จับถือง่ายขึ้น ออกแบบรังเพลิงใหม่ให้รับกระสุนง่ายและเร็ว
ปัจจุบันเมื่อไร้สหภาพโซเวียตเหลือแต่ประเทศรัสเซีย และเพื่อนบ้านแทนที่จะเป็นบริวารเหมือนเมื่อก่อน มาคารอฟกลายเป็นของสะสมหายากพอๆกับวัลเธอร์พี38ของเยอรมันและโคลต์M1911แท้ของสหรัฐ เป็นของที่มีไว้เพื่อเท่ประดับตู้สำหรับคนที่อ้างตัวว่าเป็นนักสะสมต้องมีไว้ มาคารอฟแท้ๆต้องมาจากโซเวียตเท่านั้น แต่ถ้าหาไม่ได้จะผลิตในบัลกาเรียหรือจีนก็ไม่มีปัญหาเพราะอย่างไรมันก็คือมาคารอฟ
ด้วยเทคโนโลยีการสร้างปืนที่ก้าวหน้าไปมากในปัจจุบัน ทั้งการใช้อัลลอยไร้สนิมและโพลิเมอร์มาสร้างโครงปืนและสไลด์ ทำให้ปืนพกสมัยใหม่ทรงประสิทธิภาพมากกว่ามาคารอฟ อุปกรณ์ประกอบทางยุทธวิธีอื่นๆเช่นศูนย์เลเซอร์,ไฟฉายติดปืน,ศูนย์เล็งจุดแดงทำให้ปืนพกยุคใหม่มีอานุภาพร้ายแรงขึ้น แม่นขึ้นกว่าเดิมสำหรับการสู้รบและปราบปรามอาชญากรรม แต่ในโลกมืดแห่งการจารกรรมที่ยังดำเนินอยู่นั้น ปืนพกซุกซ่อนที่พรางตัวได้เนียนและกลไกเชื่อถือยามคับขันได้ยังเป็นที่ต้องการ และนั่นคือที่อยู่ของปิสโตล มาคาโรวาหรือมาคารอฟ อีกหนึ่งสิ่งที่ย้ำเตือนให้นึกถึงความตึงเครียดของโลกครั้งสงครามเย็น


วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2552

กองทัพกับปืนเล็กยาว


ทหารกับปืนเล็กยาวคือองค์ประกอบของหน่วยรบที่แยกกันไม่ออก ทั้งทหารและปืนเล็กจะขาดจากกันไม่ได้ในการสู้รบนับแต่มนุษย์คิดค้นปืนและกระสุนสำเร็จ ในอดีตปืนเล็กยาวแทบจะมีรูปพรรณสัณฐานเหมือนกันหมด เริ่มตั้งแต่ปืนคาบศิลาที่เกิดจากส่วนประกอบต่างๆคือลำกล้อง โครงปืน นกสับแก็ป เรือนเครื่องลั่นไกและพานท้าย แม้กาลเวลาจะล่วงเลยจากยุคปืนคาบศิลามาเป็นร้อยปี ถึงมีการนำกล้องเล็งขยายมาประกอบปืนก็ยังประกอบด้วยส่วนประกอบหลักๆดังกล่าว มันยังคงเป็นอาวุธใช้ยิงกระสุนขนาดเล็กจากลำกล้องเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำไปประกอบอาวุธอื่นที่ใหญ่หรือพิสดารกว่าได้ ทหารราบทั่วโลกจึงถูกฝึกให้ใช้ปืนเล็กยาวด้วยท่าทางเหมือนกัน เพราะรูปร่างของปืนไม่ต่างกันการจับถือและเล็งจึงไม่ต่างกันไม่ว่าผู้ใช้ปืนจะเป็นใคร
เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 เพราะกองทัพชาติต่างๆต้องเร่งผลิตอาวุธที่ดีกว่าเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบคู่สงคราม ปืนเล็กยาวจึงถูกพัฒนาตามแนวความคิดของแต่ละชาติให้มีรูปร่างหน้าตาและระบบการทำงานแตกต่างกันแบบคนละเรื่อง กองทัพเยอรมันเคยมีปืนเล็กยาวKAR 98Kของเมาเซอร์เป็นอาวุธประจำกายทหารมาตั้งแต่ปีค.ศ.1935 เรื่อยมาจนถึงปลายสงครามโลกครั้งที่2โดยมีMP40”ชไมเซอร์”เป็นปืนกลมือสำหรับการรบระยะประชิด
ครั้นถึงปีปลายค.ศ.1944ด้วยความรีบเร่งทั้งเพื่อทำสงครามและผลิตอาวุธ รูปแบบของปืนเล็กยาวของเยอรมันจึงเปลี่ยนไป จากปืนเล็กยาว(rifle)ธรรมดาที่สร้างด้วยเหล็กกับไม้คัดปลอกด้วยการดึงคันรั้งลูกเลื่อน กลายมาเป็นปืนเล็กยาวจู่โจม(assault rifle)ที่สร้างจากเหล็กปั๊มขึ้นรูป,พลาสติกเหลือแต่พานท้ายปืนที่ยังเป็นไม้ เลือกระบบการทำงานให้ยิงได้ทั้งทีละนัดและยิงชุดได้เหมือนปืนกล แต่ยังคงคุณสมบัติเหมือนปืนเล็กยาวดั้งเดิมคือเป็นอาวุธประจำกายทหารราบ ต้องประทับบ่าเล็งศูนย์แล้วยิง STG44ของกองทัพเยอรมันคือปืนเล็กยาวแบบใหม่ที่ปฏิวัติทั้งกรรมวิธีการผลิตระบบการทำงานและรูปร่าง
STG44ใช้ซองกระสุนโค้ง(ที่ถูกเรียกกันทั่วไปว่าแม็กฯกล้วย) มีอุปกรณ์จับถือเพิ่มขึ้นมาจากโครงปืนและพานท้ายคือด้ามจับ(grip)แบบเดียวกับปืนพก ทหารที่เคยฝึกการเล็งยิงด้วยปืนเล็กยาวมาตรฐานแบบไม่มีด้ามก็ต้องปรับตัวมาฝึกให้คุ้นเคยกับปืนแบบมีด้ามหลังโกร่งไกอย่างSTG44 ไม่เพียงเท่านั้นกองทัพยังต้องรับมือกับความใหม่ทั้งด้านขนาดของกระสุน การฝึกท่าบุคคลประกอบอาวุธและอุปกรณ์อะไหล่ต่างๆที่ใช้กับปืนใหม่
สหรัฐฯที่กำลังรบกับเยอรมันอยู่ก็ปรับเปลี่ยนเช่นกัน ด้วยการนำปืนกลธอมป์สันเข้าประจำการตั้งแต่ปีค.ศ.1938และใช้ในสงครามโลกครั้งที่2ควบคู่กับปืนเล็กยาวมาตรฐานM1”กาแรนด์” ด้วยกระสุนคนละขนาดกับM1หน่วยทหารที่ใช้ธอมป์สันต้องถูกฝึกด้วยปืนชนิดนี้มาตั้งแต่แรก หรือมิเช่นนั้นก็ต้องมีเวลาได้ทำความคุ้นเคยกับปืนใหม่จนใช้ได้คล่องแคล่วเสียก่อนจึงจะถูกส่งออกแนวรบ เพราะปืนเล็กยาวก็เหมือนกับอุปกรณ์ทุกอย่างที่ต้องอาศัยความชำนาญในการใช้งาน
ยิ่งสำคัญขึ้นไปอีกเมื่อมันตัดสินความเป็นความตายของผู้ใช้งานได้ ไม่ผิดเลยหากจะอ้างคำขวัญของเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯที่ว่า”Without me my rifle is useless,without my rifle I’m useless” เพราะในยามคับขันหากมีแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่งแค่อย่างเดียวสถานการณ์ก็ดูจะย่ำแย่จริงๆ ทหารที่ใช้ปืนไม่คล่องจึงแทบไม่ต่างเลยจากไม่มีปืน
อาวุธประจำกายทหารเริ่มหลากหลายเมื่อกองทัพรับภารกิจมากขึ้น แม้แต่บางหน่วยงานพลเรือนอย่างตำรวจและหน่วยอารักขาก็ต้องใช้อาวุธร้ายแรงขึ้น รูปแบบของปืนจึงเปลี่ยนแปลงตาม แต่เดิมที่ไม่ค่อยคำนึงถึงสรีระของคนใช้งานและภารกิจก็เปลี่ยนมาคำนึงมากขึ้น ส่งผลให้รูปร่างของปืนเปลี่ยนไปนอกจากรูปแบบการทำงาน ปืนกลมือP90ของบริษัทฟาบรีค นาซิอ็องนาเล(FN)จากเบลเยียม มีรูปร่างและกลไกไม่เหมือนปืนกลมือแบบไหนๆที่มนุษย์เคยใช้ ทั้งโครงปืนผลิตจากโพลิเมอร์รวมถึงซองกระสุนพลาสติกใสเพื่อมองเห็นจำนวนกระสุน
ที่แปลกกว่าใครคือมันเรียงกระสุนในซองตั้งฉากกับทิศทางการยิง มีกลไกท้ายปืนเท่านั้นที่บิดตัวกระสุนให้หันหัวออกลำกล้อง ยิ่งกว่านั้นคือวางซองกระสุนไว้บนตัวปืนใต้ศูนย์เล็ง แทนที่ทหารจะดึงซองกระสุนออกทางด้านล่างหน้าโกร่งไกก็ต้องเปลี่ยนวิธีเปลี่ยนซองกระสุนใหม่ การจับปืนชนิดนี้ยิงเลยโดยไม่ฝึกฝนให้คล่องก่อนจึงเป็นอันตรายมากระหว่างคับขันหรือรบติดพัน ที่เวลาทุกวินาทีมีความหมายถึงชีวิต
รูปแบบสงครามที่เปลี่ยนไป จากสงครามเต็มรูปแบบอย่างสงครามโลกครั้งที่2มาเป็นสงครามในเมืองทำให้นักออกแบบปืนเล็กต้องพัฒนาแนวความคิดของตนให้สอดคล้องกัน จากเดิมที่เคยใช้ปืนเล็กยาวลำกล้องยาวมีพานท้ายเต็ม กลายมาเป็นปืนเล็กยาวลำกล้องสั้นลงและพานท้ายปรับระยะได้ เห็นชัดๆคือปืนคาร์บีนในตระกูลM16คือM4ที่มีรูปร่างหน้าตาและกลไกแทบจะเหมือนM16ทุกกระเบียดนิ้ว แต่ปรับปรุงการทำงานภายในให้ดีกว่า ลดข้อบกพร่องที่เคยพบในM16ลงได้มากรวมทั้งมีคุณสมบัติแบบนักรบในเมืองต้องการคือปรับความยาวของพานท้ายได้
แต่ดูเหมือนว่าความคล่องตัวของพานท้ายปรับได้จะยังไม่น่าพอใจ ปืนเล็กแบบบูลพัป(Bullpup)จึงเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ให้เพิ่มความคล่องตัวกับทหารยามเคลื่อนย้ายกำลังด้วยรถยนต์และรบในเมือง ด้วยการคงความยาวลำกล้องขนาดเดียวกับปืนเล็กยาวไว้ แต่เลื่อนตำแหน่งเรือนเครื่องลั่นไกและซองกระสุนมาไว้หลังด้ามปืนและโกร่งไก ด้วยวิธีความยาวลำกล้องปืนจึงเท่าเดิมแต่ความยาวโดยรวมของปืนลดลง ช่วยให้คล่องตัวเมื่อเคลื่อนย้ายด้วยพาหนะ ใช้งานได้ดีในบริเวณจำกัดเช่นการรบในเมือง ซ้ำยังควบคุมทิศทางยิงได้ง่ายเพราะแรงรีคอยล์ต่ำจากการวางตำแหน่งลำกล้อง
ตัวอย่างชัดเจนของบูลพัปคือสไตเออร์AUGของออสเตรีย,ทาวอร์-ทาร์21ของอิสราเอล เอาปืนเล็กยาวจู่โจมสองแบบนี้มาวางเทียบกับM4แล้วจะพบว่ารูปร่างของมันแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งสไตเออร์และทาวอร์ดูเหมือนปืนอวกาศในภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์ส มีส่วนประกอบปืนส่วนใหญ่เป็นโพลิเมอร์(พลาสติกเกรดสูง) โผล่แค่ลำกล้องโลหะให้เห็นเท่านั้น ต่างไปจากM4ที่เป็นปืนจากแนวความคิดแบบดั้งเดิมซึ่งดูจะใช้งานในสนามรบจริงๆได้ดีกว่า
การเปลี่ยนปืนจึงเป็นเรื่องใหญ่ของกองทัพ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแบบหรือเปลี่ยนทั้งแบบและรูปร่าง เนื่องจากการเปลี่ยนอาวุธประจำกายแต่ละครั้งไม่ได้มีปัญหาแค่ที่ตัวทหาร แต่ยังกระทบกระเทือนถึงงบประมาณ การส่งกำลังบำรุง อะไหล่และปัญหาอื่นๆที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง
เมื่อต้นทศวรรษ2000กองทัพสหรัฐฯเคยมีโครงการจัดหาปืนเล็กยาวแบบใหม่คือXM8 เพื่อทดแทนปืนตระกูลM16 ทั้งที่XM8เป็นปืนที่ดี เบาด้วยส่วนประกอบโพลิเมอร์ แม่นยำด้วยแรงรีคอยล์ต่ำจนยิงได้หมดซองกระสุนด้วยมือข้างเดียว ดีกว่าตระกูลM16ของโคลต์ ดีเฟนซ์ทุกอย่าง แต่ในที่สุดโครงการXM8ก็ต้องพับไปในปีค.ศ.2005เพราะใช้ชิ้นส่วนทดแทนไม่ได้กับปืนตระกูลM16ที่มีทั้งM16(A1ถึงA4)และM4 อันเป็นอาวุธประจำกายหลักของกองทัพสหรัฐฯและกองทัพของอีก80ประเทศทั่วโลก
HK416จากค่ายเฮคเลอร์อุนด์โค้ค(H&K) คือปืนอีกแบบที่จะเข้ามาแทนปืนตระกูลM16นั้นค่อนข้างจะไปได้สวย ด้วยคุณสมบัติความทนทานเทียบเคียงได้กับปืนตระกูลอาก้า ใช้กลไกช่วงบนทดแทนได้กับปืนตระกูลM16แต่ปัญหาคือราคามันแพงเกินไปหากจะเปลี่ยนกันทั้งหมด
ใครที่เคยสัมผัสกับM16หรือM4ของโคลต์มาแล้วจะพบว่ามันเป็นปืนของทหาร”ในกองทัพ”จริงๆ ดูแลกันให้”ถึง”เถิดแล้วจะไม่มีปัญหา ในคู่มือยังบอกไว้ด้วยว่าสำหรับ”highly trained doldiers”หรือ”สำหรับทหารที่ถูกฝึกมาอย่างดีเท่านั้น ซึ่งคำว่า”ฝึกมาอย่างดี”ยังกินความหมายรวมถึงการดูแลรักษาอาวุธประจำกาย ให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานตลอดเวลาและทุกสถานการณ์ ต่างจากปืนของค่ายโซเวียตที่เน้นการใช้งานของกองกำลังจรยุทธที่ไม่ต้องดูแลกันมาก ปืนตระกูลอาก้านั้นแทบไม่ต้องหยอดน้ำมันเลยเป็นปีก็ยังยิงได้ดีเฉย
การเปลี่ยนอาวุธประจำกายทหารราบจึงเป็นปัญหาใหญ่ ว่ากันตั้งแต่หน่วยทหารที่ใช้อาวุธซึ่งหากฝึกด้วยปืนแบบหนึ่งมาจนขึ้นใจแล้วอาจขลุกขลักสักระยะหนึ่ง เป็นปัญหาสำหรับทหารประจำการที่คุ้นเคยระบบอาวุธเดิม แต่จะไม่เป็นปัญหาสำหรับทหารเกณฑ์ที่จะใช้อาวุธใหม่มาตั้งแต่ต้น ปัญหายังรวมถึงด้านเทคนิคการดูแลและซ่อม แม้อิสราเอลจะผลิตปืนทาวอร์ส่งออกกองทัพของประเทศนี้ยังคงใช้M4ของโคลต์อยู่ แล้วทยอยปรับเปลี่ยนโดยไม่ยกเลิกการใช้งานทั้งหมดด้วยเหตุผลข้างต้น
ถ้ากองทัพของเรายังต้องใช้ปืนตระกูลM16ของโคลต์เป็นหลัก(เว้นแต่บางส่วนของหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วที่ใช้ทาวอร์) และด้วยงบประมาณอันจำกัด การเปลี่ยนอาวุธใหม่ทั้งหมดคงไม่ใช่ทางออกที่ดี เว้นแต่จะให้ความสำคัญกับเทคนิคการบำรุงรักษาและเน้นให้ทหารฝังใจ ว่าปืนคือชีวิตและต้องดูแลมันเหมือนอวัยวะสำคัญที่พวกเขาจะพึ่งพาได้ยามคับขัน!